In News
เปิดไทม์ไลน์นายกฯร่วมถกผู้นำอาเซียน ชง3ประเด็นความยั่งยืน/พอใจหารือลาว
นครเวียงจันทน์-สปป.ลาว นายกฯ เสนอวิสัยทัศน์บนเวทีแรกเช้านี้ 3 ประเด็น สำคัญ เน้นความยั่งยืนของสมาชิก - ความมั่นคงของมนุษย์ - และการบูรณาการร่วมกันระดับภูมิภาคเพื่อเชื่อมโยงประเทศ อาเซียนที่แข็งแรงระหว่างกันนำไปสู่การ”กินดีอยู่ดี“ของประชากร กว่า 700 ล้านคนในภูมิภาค สำหรับเปิดกำหนดการประชุมอาเซียนวันแรก นายกฯ แพทองธาร ร่วมประชุมสุดยอด และหารือกับผู้นำอาเซียนหลายชาติ และช่วงเย็นในงานเลี้ยงอาหารค่ำนายกกล่าวคำสำคัญผูกพันไทยลาว ที่พิเศษมุ่งมั่นสานต่อการทำงาน กระชับความร่วมมือไทย-ลาวในทุกด้านเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เผยพอใจ ผลการเจรจาวันแรก กับ สปป.ลาว เป็นผลสำเร็จในการเดินทางเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกหลัง ไทย-ลาวจับมือเดินหน้า 5 เรื่องหลัก มอบกระทรวงการต่างประเทศ ต้องติดตามผลความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้นายกฯ ได้เข้าหารือประธานสภาแห่งชาติ สปป.ลาว ทั้งสองฝ่ายต่างห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม พร้อมหาทางร่วมแก้ไข และในการประชุมร่วม2ฝ่าย นายกฯถกปัญหาสำคัญไทย-ลาวร่วมกัน จับมือแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติพร้อมปัญหาหมอกควัน และยาเสพติดระหว่างชาติรวมทั้งการแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขงเพื่อป้องกันอุทกภัยระหว่างกันในอนาคต
นายกฯ เสนอวิสัยทัศน์บนเวทีแรกเช้านี้ 3 ประเด็น สำคัญ
วันนี้ (พุธที่ 9 ตุลาคม 2567) เวลา 09.30 น. นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ได้เข้าร่วมการกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 (แบบเต็มคณะ) เพื่อย้ำถึงความจำเป็นที่อาเซียนต้องมี “Collective Leadership” หรือการ ทำงานร่วมกันระหว่างชาติสมาชิก ในการแก้ไขปัญหาของประชาชน และส่งเสริมการกินดีอยู่ดีของประชาชนกว่า700 ล้านคนในภูมิภาค
ในการประชุมครึ่งเช้า วันนี้ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้ นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ขอบคุณสำหรับการต้อนรับในครอบครัวอาเซียนอย่างอบอุ่นซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของนโยบายต่างประเทศของไทยในการมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าพัฒนาประชาคมอาเซียน ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญนี้ที่ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องเผชิญกับความท้าทายที่ยากและซับซ้อน ทั้งจากการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ จนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสียหายจากพายุไต้ฝุ่น“ยางิ”ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายประเทศของสมาชิกอาเซียน จึงเป็นสิ่งย้ำเตือนให้ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนา โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง นอกจากนี้จำเป็นที่จะต้องสร้างประชาคมอาเซียนที่เชื่อมโยงและยืดหยุ่นในแต่ละปัญหาให้มากยิ่งขึ้น
นายกรัฐมนตรีเชื่อว่าความเป็นผู้นำร่วมกัน (collective leadership) ที่พร้อมจะสร้างความแตกต่างและนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และความเจริญร่วมกันได้ โดยประเทศไทยได้เสนอประเด็นสำคัญ ดังนี้
1.ประเด็นด้าน“ความยั่งยืน”นั้นประเทศไทยในฐานะผู้ประสานงานอาเซียนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เห็นว่าอาเซียนต้องร่วมกันดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ และความเป็นกลางทางคาร์บอน การเปลี่ยนผ่านไปสู่ พลังงานสะอาด การเงินสีเขียว และเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงนวัตกรรมดิจิทัลเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในยุคสมัยใหม่นี้จะไม่กระทบสิ่งแวดล้อม หรือเกิดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ในภูมิภาค
2. ประเด็นด้าน“ความมั่นคงของมนุษย์ ”นั้นประเทศไทยได้เสนอ ว่าอาเซียนต้องทำงานร่วมกัน ในการต่อสู้กับทุกวิกฤต เพื่อให้ประชาชนมี อาหาร พลังงาน และสิ่งจำเป็นพื้นฐาน และควรส่งเสริมการเกษตรอัจฉริยะไปพร้อมๆ กับเกษตรยั่งยืน เพื่อวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับผลผลิตและความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว ของภูมิภาค นอกจากนี้จะต้องเร่งเสริมสร้างกรอบการทำงานของอาเซียน ในด้านพลังงานเช่น การเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าของอาเซียน เพื่อการยืดหยุ่นด้านพลังงานในภูมิภาค
ขณะเดียวกัน สมาชิกอาเซียน ควรร่วมกันส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่มีพรมแดนระหว่างกัน รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการหลอกลวงออนไลน์ แกงค์คอลเซ็นเตอร์ และการปราบปรามการ ค้ายาเสพติด โดยเพิ่มความเข้มข้นในการควบคุม พื้นที่บริเวณชายแดนระหว่างกัน
3.สำหรับประเด็นเรื่อง“การบูรณาการระดับภูมิภาคที่ลึกซึ้ง “นั้น นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ได้กล่าวถึงการสนับสนุนในความพยายามของอาเซียน ในการปรับปรุงและยกระดับ FTA กับคู่เจรจา และในฐานะที่ไทยเป็นประธานคณะกรรมการเจรจา ASEAN Digital Economy Framework Agreement (DEFA) จะผลักดันการเจรจาให้แล้วเสร็จภายในปีหน้านี้ ( พ.ศ.2568) เพื่อสร้างเครื่องยนต์กลไก เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ ๆในอาเซียนนอกจากนี้ยังส่งเสริมการพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับ ธุรกิจขนาดกลางขนาด ย่อม และ ขนาดย่อย หรือ MSMEs เพื่อเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อช่วยสร้างการเติบโตในเศรษฐกิจของโลกที่ผันผวนอยู่ในขณะนี้
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการสร้างความเชื่อมโยงในทุกๆด้านที่จะเป็นกุญแจสำคัญ อาทิ ขอให้อาเซียนส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนต่อกันเป็นพิเศษ เช่นการเพิ่มเที่ยวบินและขยายระยะเวลาการยกเว้นวีซ่า (visa-free) ระหว่างประเทศอาเซียน การส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยว รวมทั้งความร่วมมือกับประเทศพันธมิตรอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างความเป็นแกนกลางและความสามัคคี ที่จะทำให้การมีส่วนร่วมของอาเซียนกับประเทศพันธมิตรภายนอก มียุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น
ทั้งนี้ สมาชิกอาเซียน ควรหลีกเลี่ยงการเป็นตัวแทนของอำนาจใดๆ หรือปล่อยให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นเวทีแห่งการแข่งขัน ทั้งนี้เพื่อสร้างสมดุลเชิงยุทธศาสตร์ และไทยจะทำหน้าที่ส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันอย่างแข็งขันเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาในภูมิภาค
นายกรัฐมนตรีกล่าวเสริมว่า ประเทศไทยจะรอ การสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านระหว่างอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี และอาเซียน-นิวซีแลนด์ และประเทศไทยพร้อมสนับสนุนข้อริเริ่มของประเทศมาเลเซียในการจัดการประชุม ASEAN-GCC-China Summit ในปีหน้า
นายจิรายุ กล่าวต่อไป ว่า "ทั้งนี้ ในช่วงท้ายการประชุมช่วงเช้า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความยินดีกับ สปป.ลาว สำหรับความสำเร็จของการเป็นประธานอาเซียนครั้งนี้ และพร้อมสนับสนุนมาเลเซียในการเป็นประธานอาเซียนวาระถัดไปซึ่งมั่นใจว่าจะพาประเทศสมาชิกอาเซียนให้พัฒนามในมุกๆด้านต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้"
เปิดกำหนดการประชุมอาเซียนวันแรก นายกฯร่วมประชุมสุดยอด
วันนี้ 9 ตุลาคม 2567 เวลา 8.00 น.นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่านางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีออกเดินทางไป หอประชุมแห่งชาติ สปป.ลาว เพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจะเข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 44 แบบเต็มคณะ (Plenary) และเช้านี้ นายกรัฐมนตรีจะพบหารือทวิภาคีกับนาย ลอว์เรน หว่อง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสิงคโปร์ ก่อน เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 45 อย่างไม่เป็นทางการ (Retreat) ใน เวลา 11:00 น. นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ในฐานะประธานอาเซียน จะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่ประมุข/หัวหน้ารัฐบาลอาเซียนด้วย
โดยในช่วงเย็น นายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม และในเวลา 18.30 น. นายกรัฐมนตรีหารือกับนายฮุน มาแนด นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา และนายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และจะเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ จัดโดยเอกอัครราชทูต ณเวียงจันทน์ เป็นเจ้าภาพ เพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี
นายกฯกล่าวคำสำคัญผูกพันไทยลาวกระชับความร่วมมือไทย-ลาวในทุกด้าน
เย็นวันที่8 ตุลาคม 2567)ช่วง19.00 น. ณ โรงแรมลาวพลาซ่า เวียงจันทน์ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ ร่วมงานเลี้ยงต้อนรับเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี โดยมีนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว เป็นเจ้าภาพเลี้ยง โดยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย เนื้อหาจากการกล่าวขอบคุณของนายกรัฐมนตรี ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีสอนไซฯ และรัฐบาล สปป. ลาว ที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นในการเยือนอย่างเป็นทางการครั้งนี้ ถือเป็นประเทศแรกที่เยือนอย่างเป็นทางการภายหลังเข้ารับตำแหน่ง สะท้อนความสำคัญของความสัมพันธ์ในฐานะเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดและผูกพัน
นายกรัฐมนตรีมุ่งมั่นที่จะสานต่อการทำงาน และกระชับความร่วมมือไทย-ลาวในทุกด้าน เพื่อประโยชน์ และเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและประชาชนระหว่างทั้งสองประเทศให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น นายกรัฐมนตรีรู้สึกประทับใจในความใกล้ชิดสนิทสนม จากที่ได้มีโอกาสไปร่วมงานบุญปีใหม่ลาว ที่สถานเอกอัครราชทูต สปป. ลาว ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
นายกรัฐมนตรียินดีความสัมพันธ์พิเศษ ที่ผูกพันใกล้ชิดทางภาษาและวัฒนธรรม สามารถพูดคุยกันโดยไม่ต้องใช้ล่าม นอกจากนี้ ไทยและ สปป.ลาวยังมีความร่วมมือที่ครอบคลุม เป็นประเทศที่ไทยมีกลไกความร่วมมือด้วยมากที่สุด และมีความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านความเชื่อมโยงและการคมนาคมขนส่งที่มากที่สุดด้วย โดยปัจจุบันมีเส้นการทางเดินรถไฟกรุงเทพฯ - เวียงจันทน์ ถือเป็นเส้นทางรถไฟแรกในอาเซียนที่เชื่อมโยงเมืองหลวงของสองประเทศ โดยได้รับความนิยมอย่างมากจากประชาชนของสองประเทศ ซึ่งไม่ได้แค่เชื่อมโยงการค้า การลงทุน การขนส่ง และการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่เชื่อมประชาชนให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ตลอดปี 2568 ทั้งไทยและ สปป.ลาว จะจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 75 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต เพื่อส่งเสริมมิตรภาพระหว่างกันให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ก่อนที่ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีจะเชิญร่วมดื่มอวยพร
นายกแพทองธาร พอใจ ผลการเจรจาวันแรกกับสปป.ลาว
ก่อนหน้านี้นางสาวแพทองธาร ให้สัมภาษณ์โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ถึงความประทับใจและผลสำเร็จการเดินทางเยือนสปป.ลาว ซึ่งเป็นการเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ (Official Visit) หลังการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ของไทย ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติและได้ร่วมหารือกับบุคคลสำคัญ สปป.ลาว ได้แก่ นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว นายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศ สปป. ลาว และ นายไซสมพอน พมวิหาน ประธานสภาแห่งชาติสปป.ลาว
ทั้งนี้ การหารือไทย - สปป.ลาว ได้เห็นพ้อง เดินหน้าทำงานเชิงรุก 5 เรื่องหลัก ได้แก่
(1) ยาเสพติด (2) คอลเซ็นเตอร์และ online scams (3) ปัญหาการค้ามนุษย์ (4) หมอกควันข้ามแดน และ (5) การบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง
ทั้งนี้ ได้กระจายภารกิจ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละด้านตั้งคณะทำงาน และให้มีการประชุมต่อเนื่อง และขอให้กระทรวงการต่างประเทศ ช่วยติดตามความคืบหน้าในแต่ละด้านด้วย โดยครั้งนี้ถือเป็นการเดินทางเยือน สปป.ลาว อย่างเป็นทางการในฐานะนายกรัฐมนตรีครั้งแรก และเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 ติดต่อกันไป
นายกฯหารือประธานสภาแห่งชาติ สปป.ลาวห่วงใยสถานการณ์น้ำท่วม
เมื่อวานช่วงเวลา 16.30 น.นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือกับนายไซสมพอน พมวิหาน ประธานสภาแห่งชาติสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในห้วงการเยือนสปป. ลาว อย่างเป็นทางการในลักษณะต่อเนื่อง (back-to-back) กับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง โดยภายหลังเสร็จสิ้น นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่ได้เยือน สปป.ลาว ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น และเป็นประเทศแรกที่เดินทางเยือนอย่างเป็นทางการภายหลังเข้ารับตำแหน่ง สะท้อนความสำคัญของความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่ใกล้ชิด และพร้อมที่จะผลักดันความร่วมมือไทย-สปป.ลาว ในด้านต่าง ๆ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีแสดงความเสียใจและห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนลาวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายแขวง โดยได้แจ้งต่อประธานสภาแห่งชาติฯ ให้ทราบว่า รัฐบาลไทยได้บริจาคเงินจำนวน 2.9 ล้านบาท และภาคส่วนของไทยยังได้ให้ความช่วยเหลือ สปป. ลาว อีก 3.9 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูของ สปป. ลาว รวมถึงการให้การสนับสนุนงบประมาณจำนวน 2.1 ล้านบาท แก่สภาแห่งชาติ สปป. ลาว ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียนครั้งที่ 45 ที่เวียงจันทน์ ในสัปดาห์หน้า
ประธานสภาแห่งชาติฯ กล่าวยินดีกับนายกรัฐมนตรีในการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 เป็นนักการเมืองชั้นนำรุ่นใหม่ และเชื่อมั่นว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ลาวจะมีความแนบแน่นใกล้ชิดยิ่งขึ้น ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติลาวมีความสนใจด้านการเกษตรและการศึกษา และได้รับความสนับสนุนเป็นอย่างดีจากไทย ในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ตลอดมา
นายกรัฐมนตรีย้ำในตอนท้าย ยืนยันการสนับสนุนอย่างเต็มที่ของไทยต่อการเป็นประธานอาเซียนของ สปป. ลาว เชื่อมั่นว่าการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งนี้จะประสบความสำเร็จด้วยดี พร้อมหวังว่าความร่วมมือระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติไทย-ลาว จะใกล้ชิดและแน่นแฟ้นขึ้นไปด้วย
นายกฯถกปัญหาสำคัญไทย-ลาวร่วมกัน
ช่วงเวลา 14.00 น.ของวันที่8ตุลาคม 2567 ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเท่ากับเวลากรุงเทพฯ ณ สำนักงานนายกรัฐมนตรี สปป. ลาว นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการและร่วมการหารือเต็มคณะกับนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว โดยมีนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมด้วย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีขอบคุณสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ไทยและ สปป.ลาว เป็นเพื่อนบ้านที่มีความเชื่อมโยงผูกพันและร่วมมือใกล้ชิด ทั้งนี้ ขอขอบคุณรัฐบาล สปป.ลาว ที่ถวายการต้อนรับสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ฯ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี อย่างสมพระเกียรติ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และยินดีที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริใน สปป. ลาว มีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น พร้อมขอเชิญนายกรัฐมนตรี สปป. ลาวและภริยา เยือนไทยอย่างเป็นทางการอีกครั้งหลังจากที่ต้องเลื่อนออกไป ซึ่งในปีหน้า ทั้งสองประเทศจะมีการจัดกิจกรรมครบรอบ 75 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต โดยเน้นการมีส่วนร่วมในระดับประชาชนและท้องถิ่นให้มากที่สุด
นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว กล่าวว่า ไทยและ สปป. ลาวเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด และมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์และความร่วมมือครอบคลุมทุกมิติ มีการหารือและแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันในหลากหลายโอกาสอย่างสม่ำเสมอ การเดินทางเยือน สปป.ลาวอย่างเป็นทางการของยังจะได้ติดตามประเด็นความร่วมมือระหว่างกันให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ผู้นำทั้งสองได้หารือในประเด็นที่สนใจร่วมกัน ดังนี้ การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติและปัญหาข้ามแดนที่สำคัญ โดยทั้งสองประเทศจัดลำดับความสำคัญ (top priorities) 5 ด้าน ได้แก่ (1) ยาเสพติด (2) Online Scams (3) การค้ามนุษย์ (4) หมอกควันข้ามแดน และ (5) การบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง
(1) ยาเสพติด หน่วยงานไทยและ สปป.ลาว ได้ร่วมกันจัดทำกรอบแนวทางเชิงรุกในการแก้ไขปัญหาตามชายแดน ซึ่งเป็นผลจากการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างอดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน กับนายกรัฐมนตรีนายสอนไซฯ ซึ่งนายกรัฐมนตรีไทย เสนอจัดการประชุมระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดกับเจ้าแขวงชายแดน และหน่วยงานในพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศในต้นปีหน้า เพื่อติดตามและขับเคลื่อนการดำเนินการตามกรอบแนวทางดังกล่าว
(2) Online Scams ไทยและลาวจริงจังและให้ความสำคัญในการปราบปรามเครือข่ายอาชญากรรม online scams ขอให้ไทย-สปป.ลาว เร่งรัดการจัดตั้งคณะทำงานปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์และ online scams ตามแนวชายแดนไทย-สปป. ลาว และให้มีการประชุมอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาให้คืบหน้าเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
(3) ปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งเชื่อมโยงกับปัญหา Online Scams เห็นควรให้ขยายผลเพื่อจับกุมและดำเนินคดีกับกลุ่มอาชญากรรมที่อยู่เบื้องหลัง ช่วยเหลือและส่งกลับผู้ที่ถูกหลอกลวงไปทำงานแล้ว และให้ผู้แทนตำรวจระดับสูงของไทยและลาวมีการหารือเพื่อนำไปสู่การปราบปรามเครือข่ายอาชญากรรมเหล่านี้อย่างเด็ดขาดโดยเร็ว
(4) ประเด็นหมอกควันข้ามแดน ยินดีที่ในเดือนตุลาคม นี้จะมีการเปิดตัวแผนปฏิบัติการภายใต้ CLEAR Sky Strategy ระหว่างไทย สปป. ลาว และเมียนมา ซึ่งในระยะต่อไปขอให้มีการเชื่อมโยง Database และ Early Warning System เกี่ยวกับคุณภาพและสภาพภูมิอากาศของไทย สปป. ลาว และประเทศในภูมิภาคเข้าด้วยกัน
(5) การบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง ขอบคุณนายกรัฐมนตรีนายสอนไซฯ ส่งสารแสดงความเสียใจเหตุการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ของไทย พร้อมแสดงความเสียใจ และเป็นกำลังใจ สปป.ลาว ที่มีอุทกภัยในหลายแขวงด้วยผู้นำทั้งสองยินดีที่จะมีการลงนาม MOU ด้านการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการระหว่างกันในวันนี้ และจะใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ
นอกจากนี้ ไทยและ สปป. ลาว จะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยเฉพาะการค้าการลงทุน เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะสองฝั่งแม่น้ำโขง รวมทั้งความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวระหว่างกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไทยพร้อมพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และระบบสาธารณสุขในลาว ภายใต้แผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไทย-ลาว ระยะ 3 ปี (ค.ศ. 2022-2025) สำหรับความร่วมมือด้านแรงงานนั้น นายกรัฐมนตรียืนยัน ไทยต้องการให้แรงงานต่างชาติทุกคนได้เข้าถึงสิทธิและบริการต่าง ๆ ในระหว่างที่ทำงานในไทย ขอให้ไทยและ สปป.ลาว ร่วมกันส่งเสริมให้แรงงานลาวเข้ามาทำงานในไทยโดยผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง พร้อมฝากสปป.ลาว ดูแลคนไทย และการลงทุนของไทย ในสปป.ลาว ด้วย
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีชื่นชม สปป. ลาว ในฐานะประธานอาเซียน สำหรับบทบาทที่แข็งขันเกี่ยวกับเมียนมา ไทยในฐานะเพื่อนบ้านของเมียนมา จะร่วมมือกับอาเซียนและประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา โดยเฉพาะลาว จีน และอินเดีย เพื่อหาทางออกให้กับสถานการณ์ในเมียนมาโดยเร็ว พร้อมทั้งแสดงความยินดีต่อความสำเร็จในการทำหน้าที่ประธานอาเซียนในปีนี้
จากนั้น ผู้นำทั้งสองร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม ความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและสปป. ลาว จำนวน 6 ฉบับ และการส่งมอบผลการศึกษาและรายละเอียดการออกแบบโครงการก่อสร้างสะพานข้ามน้ำโขงเชียงแมน- หลวงพระบาง ดังนี้ 1. บันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือ ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ 2. บันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองมิตรภาพ จังหวัดขอนแก่นกับนครหลวงเวียงจันทน์ 3. บันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือในการบริหารทรัพยากรบุคคล 4. บันทึกความเข้าใจ ระหว่างกรมการค้าภายใน กับ กรมมาตรฐานและวัดแทก 5. บันทึกการดำเนินการด้านเทคนิคสำหรับการขนส่งสินค้าทางรถไฟ และ 6. หนังสือแสดงเจตจำนง ระหว่างกรมทางหลวง และ กรมขัวทาง