In News
ภารกิจนายกฯร่วมประชุมผู้นำอาเซียน หนุนAIFAและหารือทวิ4ผู้นำอาเซียน
นายกฯ แพทองธาร ยืนยันสนับสนุน AIPA ทำงานร่วมกับอาเซียน แนะ 3 ประเด็นเสริมบทบาท AIPA บูรณาการการทำงาน - กรอบกฎหมายที่มีประสิทธิภาพและส่งเสริมอัตลักษณ์อาเซียน เพื่อต่อสู้กับความท้าทาย ช่วงการประชุมผู้นำอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ นายกฯ แพทองธารร่วมเวทีการประชุม ย้ำการส่งเสริมความเป็นแกนกลางและหนึ่งเดียวกันของอาเซียน “ASEAN unity and centrality” ท่ามกลางภูมิรัฐศาสตร์ที่ซับซ้อนและการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ นอกจากนั้นนายกฯยังได้เข้าหารือกับบรรดาผู้นำประเทศต่างๆ อาทิ สิงคโปร์ บรูไน กัมพูชา และเวียดนาม
วันที่ (9 ตุลาคม 2567) เวลา 13.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น สปป. ลาว นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter - Parliamentary Assembly : AIPA) ณ ห้องประชุม 4 ชั้น 1 NCC สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความท้าทายที่กำลังเผชิญอยู่ว่า ความพยายามของรัฐบาลเพียงอย่างเดียวไม่สามารถบรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นชุมชนที่เจริญรุ่งเรืองและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง AIPA ซึ่งเป็นตัวแทนของเสียงของประชาชนอาเซียนจึงมีบทบาทสำคัญ ซึ่ง AIPA จะเสริมความเข้มแข็งในประชาคมอาเซียนใน 3 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. การบูรณาการอย่างกลมกลืน (harmonization for integration) สมาชิกรัฐสภามีบทบาทด้านกฎหมาย เสริมสร้างความสอดคล้องกันของกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าภายในและระหว่างภูมิภาค รวมทั้งการเคลื่อนย้ายของประชาชน เพื่อการบูรณาการผ่านความเชื่อมโยงเพื่อสร้างอาเซียนที่ไร้รอยต่อ
2. กรอบกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ (effective legal frameworks) เพื่อความยั่งยืนและความมั่นคงของมนุษย์ โดยข้อตกลงอาเซียนและการนำไปบังคับใช้ ส่งผลถึงความท้าทายข้ามพรมแดน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษทางอากาศ การค้ายาเสพติด และการหลอกลวงออนไลน์ จึงต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่ากฎหมายและข้อบังคับต้องเท่าทันแนวโน้มและความท้าทายที่เปลี่ยนแปลง
3. การส่งเสริมอัตลักษณ์ของอาเซียน รัฐสภามีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ของอาเซียนและอัตลักษณ์ของอาเซียน ซึ่งในปี 2025 อาเซียนจะเปิดตัววิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนปี 2045 (ASEAN Community Vision 2045)
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรียืนยันสนับสนุน AIPA รวมทั้งการมีส่วนร่วมระหว่าง ASEAN และ AIPA ผ่านสำนักงานเลขาธิการอาเซียนเพื่อการทำงานร่วมกันในช่วงเวลาที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้
นายกฯ แพทองธารร่วมเวทีการประชุมแบบไม่เป็นทางการ
เวลา 11.50 น. ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติ (National Convention Centre: NCC) เวียงจันทน์ สปป.ลาว นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 45 (แบบไม่เป็นทางการ) สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีเห็นพ้องและมีความกังวลที่โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อนมากขึ้น และความมั่นคงของภูมิภาคอาเซียนกำลังถูกหล่อหลอมโดยปัจจัยภายนอกมากขึ้น การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจและความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกทำให้ขาดความไว้วางใจ ควบคู่ไปกับความเป็นพหุภาคีนิยมและภูมิภาคนิยมอ่อนแอลง
โดยอาเซียนต้องมุ่งมั่นในการเสริมสร้างประชาคมอาเซียน รักษาและคงความเป็นอาเซียนที่แข็งแกร่งและเป็นหนึ่งเดียว ความเป็นผู้นำร่วมกันของอาเซียนในการส่งเสริมผลประโยชน์ในภูมิภาคจะมีความสำคัญยิ่งในการเสริมสร้างความเป็นแกนกลางของอาเซียน และทำให้กรอบการทำงานที่อาเซียนเป็นผู้นำมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับพันธมิตรภายนอก ผ่านการหารือและความร่วมมือแบบครอบคลุมภายใต้มุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก
ทั้งนี้ ไทยในฐานะผู้ส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับสมาชิกอาเซียน เพื่อรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค เสริมสร้างอาเซียนในฐานะผู้เล่นระดับโลกที่มีความรับผิดชอบในภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาเซียนจะต้องมีจุดยืนที่เป็นหลักการแต่ไม่เลือกข้างในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคและประชาชน ขณะที่การแข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจ ทะเลจีนใต้ถือเป็นจุดความขัดแย้ง ไทยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจ หลีกเลี่ยงการกระทำที่ยั่วยุ และร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์เพื่อแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติ ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะสรุปการเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct: COC) ที่มีประสิทธิผลและเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุดตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในระหว่างนี้จะต้องรับรองเสรีภาพในการเดินเรือและการบินเหนือทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าสำคัญที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยมีความกังวลเช่นเดียวกันกับทั่วโลกเกี่ยวกับสถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงวิกฤตด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซา ไทยสนับสนุนความพยายามทั้งหมดในการบรรลุข้อตกลงการหยุดยิง การปล่อยตัวพลเรือนทุกคนอย่างไม่มีเงื่อนไข รวมถึงพลเมืองอาเซียน ตลอดจนการเข้าถึงบริการด้านมนุษยธรรมอย่างไม่มีข้อจำกัด ประเทศไทยสนับสนุนการแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติ เพื่อบรรลุแนวทางสองรัฐ (two-State solution)
สำหรับประเด็นเมียนมา ไทยให้ความสำคัญสูงสุด ในฐานะเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนยาวกว่า 2,400 กิโลเมตร ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง ตั้งแต่ผู้พลัดถิ่น การอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย การหยุดชะงักทางการค้าและการดำรงชีวิต ปัญหาสุขภาพของประชาชน ไปจนถึงอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะยาเสพติดและการหลอกลวงออนไลน์ โดยนายกรัฐมนตรีได้หยิบยก 4 ประเด็นสำคัญต่อเรื่องนี้
1. ไทยจะทำงานร่วมกับมิตรประเทศในอาเซียน และภายนอกเพื่อเมียนมาที่สงบสุข มั่นคง และเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศในภูมิภาคนี้
2. ไทยจะมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในการนำสันติภาพในเมียนมากลับคืนมา โดยจะเพิ่มความร่วมมือทวิภาคีกับเมียนมา และสนับสนุนกระบวนการอาเซียนต่อไป ไทยชื่นชมการทำงานของสปป. ลาว ในฐานะประธานอาเซียน โดยเฉพาะผู้แทนพิเศษเรื่องเมียนมาของประธานอาเซียน (special envoy) อาลุนแก้ว และไทยจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับมาเลเซียประธานอาเซียนในวาระต่อไป
3. อาเซียนควรเป็นหนึ่งเดียวในการส่งสารถึงทุกฝ่ายในเมียนมาว่า การใช้กำลังทางทหารไม่ใช่ทางออก เป็นเวลาที่ต้องเริ่มพูดคุยกัน ประเทศไทยพร้อมที่จะช่วยเหลือ สิ่งสำคัญคือให้ทุกฝ่ายกลับเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองและหาทางออกทางการเมือง
และ 4. อาเซียนควรเร่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในระยะสั้นและเร่งการพัฒนาเมียนมาในระยะยาว โดยประเทศไทยได้บริจาคเงิน 290,000 เหรียญสหรัฐฯ ให้กับศูนย์ AHA เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมา และประเทศไทยพร้อมที่จะช่วยเหลือชาวเมียนมามากขึ้น
นายกหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ครั้งแรก
วันนี้ (9 ตุลาคม 2567) เวลา 11.20 น. ณ ศูนย์การประชุม NCC ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหารือทวิภาคี (pull-aside) กับ นายลอว์เรนซ์ หว่อง (H.E. Mr. Lawrence Wong) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44-45 เพื่อสานต่อความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนสำคัญในทุกมิติของทั้งสองประเทศ
ผู้นำทั้งสองได้เห็นพ้องความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ช่วงครึ่งปีหลังนี้ (2567) โดยประเทศสิงคโปร์เป็นอันดับหนึ่งที่ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในไทย ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัล AI รวมถึง Digital transportation และต้องการให้สิงคโปร์ช่วยสนับสนุน นอกจากนี้ ไทยกับสิงคโปร์ยังมีความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยไทยอยากให้สิงคโปร์สนับสนุนสำหรับการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรและอาหารของไทย เช่น ไข่ออร์แกนิค เนื้อหมู ส่วนในด้านการท่องเที่ยว จำเป็นต้องสนับสนุนและเพิ่มการท่องเที่ยวระหว่างกันให้มากขึ้น ส่วนความร่วมมือทางการทหาร ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะขยายความตกลงในการฝึกซ้อมของเหล่าทัพร่วมกัน พร้อมทั้งสานต่อความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และปัญหาภัยธรรมชาติ และ พร้อมให้การต้อนรับประธานาธิบดีสิงคโปร์ ในห้วงการเยือนประเทศไทย อย่างเป็นทางการ ในโอกาสครบรอบ 60 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต ในปีหน้าด้วย
นายกฯหารือกับบรูไนฯพร้อมผลักดันMOUความร่วมมือทางด้านฮาลาล
เวลา 17.30 น.นางสาวแพทองธาร เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม (H.M. Sultan Haji Hassanal Bolkiah, Sultan and Yang Di-Pertuan of Brunei Darussalam) ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง (44th and 45th ASEAN Summits) ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ Thailand’s Government Pension Fund (GPF) and Brunei Investment Agency (BIA) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนร่วมกันของทั้งสองประเทศโดยเร็ว รวมถึงการผลักดันความร่วมมือ the elimination of Double Taxation and the Prevention of Tax Evasion and Avoidance (DTA) เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี
ทั้งนี้ บรูไนดารุสซาลามพร้อมผลักดันการจัดทำบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือทางด้าน ฮาลาล เช่น ความมั่นคงทางอาหารและการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในอนาคต โดยทั้งสองฝ่ายจะอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าเกษตรและด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรที่ยั่งยืนและการจัดการน้ำ ทั้งนี้ บูรไนดารุสซาลามขอบคุณคนไทย ที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจ บรูไนดารุสซาลาม”
นายกฯหารือนายกฯกัมพูชาเร่งแก้ปัญหาข้ามแดน
เวลา 18.30 น. นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับ สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต (H.E. Samdech Moha Borvor Thipadei Hun Manet) นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง (44th and 45th ASEAN Summits)สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันถึงมิตรภาพที่ใกล้ชิดและเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-กัมพูชา และขอให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ พร้อมกล่าวเชิญนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเยือนไทยอย่างเป็นทางการด้วย
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำประเด็นสำคัญ คือ 1) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ ควรดำเนินงานต่อเนื่องตามแผนปฏิบัติการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน 2) ไทยเสนอโครงการ “หกประเทศ หนึ่งจุดหมายปลายทาง” (Six Countries, One Destination) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และ 3) ไทยส่งเสริมบริการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างทั้งสองประเทศเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ข้ามพรมแดน โดยพร้อมที่ปรับปรุงการเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ระหว่างไทย กัมพูชา และเวียดนามตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการร่วมสำหรับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-กัมพูชา
ในการพัฒนาพื้นที่ชายแดนนั้น ไทยพร้อม จัดการการแก้ไขปัญหาข้ามพรมแดนในประเด็นสำคัญที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ได้แก่ การหลอกลวงทางออนไลน์ ไทยยินดีกับคณะทำงานเฉพาะกิจร่วมระหว่างหน่วยงานตำรวจไทยและกัมพูชา ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การค้ามนุษย์ ซึ่งเชื่อมโยงกับการหลอกลวงทางออนไลน์ ทั้งการช่วยเหลือเหยื่อ และทำลายเครือข่ายอาชญากรรมทั้งหมดด้วย การลักลอบค้ายาเสพติด ไทยและกัมพูชาจะแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองเพิ่มขึ้น และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนหารือเพิ่มความร่วมมือต่อต้านยาเสพติดตามแนวชายแดน
ในช่วงท้ายนายกรัฐมนตรีทั้งสอง แสดงความยินดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน พร้อมร่วมฉลองวาระครบรอบ 75 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตของไทยและกัมพูชาในปีหน้า โดยกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายจะประสานงานจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างมิตรภาพระหว่างกันให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เยาวชน
นายกฯหารือทวิภาคีเวียดนามมั่นใจการค้าระหว่างกันกว่า 850,000 ล้านบาท
เวลา 19.00 น. นางสาวแพทองธารรี หารือทวิภาคีกับ นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ (H.E. Mr. Pham Minh Chinh) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยย้ำว่า เวียดนามเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของไทย พร้อมทั้งแสดงความเสียใจต่อเวียดนามที่ได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่น“ยางิ ” โดยไทยได้มอบเงินจำนวน 2 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนรัฐบาลเวียดนามในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องจะเร่งอำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายมูลค่าการค้า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 850,000 ล้านบาท โดยขอให้เวียดนามสนับสนุนการลงทุนของไทยในเวียดนาม โดยเฉพาะด้านปิโตรเคมี พลังงานและธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งไทยและเวียดนามจะส่งเสริมความร่วมมือตามยุทธศาสตร์ Three Connects เพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจท้องถิ่น และยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนการเพิ่มเที่ยวบินระหว่างกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างจังหวัดของไทยกับเมืองต่าง ๆ ในเวียดนาม โดยการท่องเที่ยว ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวชาวเวียดนาม ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเที่ยวเวียดนามเป็นอันดับ 6 ทั้งนี้เวียดนามสนับสนุนแนวคิด6 สถานที่ท่องเที่ยว ร่วมกันหรือ Six Countries, One Destination ของไทยเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค
ในโอกาสนี้ ไทยและเวียดนาม เร่งผลักดันให้มีการพบหารือและแลกเปลี่ยน การเยือนระดับสูงระหว่างไทยกับเวียดนามอย่างสม่ำเสมอ ไทยรับคำเชิญการเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการพร้อมเป็นประธานการประชุม Joint Cabinet Retreat ครั้งที่ 4 ร่วมกับเวียดนาม เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนามเป็น Comprehensive Strategic Partnership โดยฝ่ายไทยได้เชิญเวียดนามมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในโอกาศต่อไป