In News
ภารกิจวันที่2 นายกฯประชุมผู้นำอาเซียน ร่วม5ประชุม6การหารือ'จีน-เกาหลี-ญี่ปุ่น'
นครหลวงเวียงจันทน์-เปิดกำหนดการวันที่สองของการประชุมสุดยอดอาเซียนของ นายกฯ แพทองธาร ร่วม 5 ประชุม และ 6 การหารือ เริ่มจากภารกิจล่าสุด เริ่มที่เวทีประชุมอาเซียน-ญี่ปุ่น ไทยเสนอ 3 แนวทางเพิ่มความร่วมมือระหว่างกันเน้นด้าน“ดิจิทัล” ”พลังงานสีเขียว “และ”นวัตกรรม “ด้านนายกฯอิ้งค์เชื่อหากพัฒนา3แนวทางนี้อย่างจริงจังส่งประเทศไทยพัฒนาในทุกมิติแน่ และนายกฯ แพทองธารกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน - เกาหลีใต้ ครั้งที่ 25 ในนามอาเซียนและ ในนามประเทศไทย ชูวิสัยทัศน์ 'ABC' พัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง – การพัฒนาที่สมดุล -และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เชื่อแนวทางนี้ทำ ประเทศไทยพัฒนามากขึ้นในทุกด้าน นอกจากนี้นายกฯ แพทองธาร กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน - จีน ครั้งที่ 27 มุ่งเน้นการบูรณาการเศรษฐกิจ สานสัมพันธ์ประชาชน และความร่วมมือด้านความมั่นคง ย้ำความสัมพันธ์อาเซียน-จีนเป็นรากฐานสันติภาพและความเจริญในภูมิภาคนี้
เปิดกำหนดการวันที่สองของการประชุมสุดยอดอาเซียนของ นายกฯ แพทองธาร ร่วม 5 ประชุม และ 6 การหารือ
วันนี้ (10 ตุลาคม 2567) เวลา 0800 น. ณ ศูนย์ประชุม NCC เวียงจันทน์ สปป.ลาว นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44-45 ภารกิจในวันนี้ ดังนี้ เวลา 08.30 น. นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 27 และเวลา 09.45 น. การประชุมสุดยอดอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 25 เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 35 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน กับสาธารณรัฐเกาหลี ต่อด้วยเวลา 11.00 น. นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - ญี่ปุ่น ครั้งที่ 27
ช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการหารือทวิภาคีกับผู้นำประเทศ และผู้แทนจากเวที World Economic Forum (WEF) โดยในเวลา 12.30 น. นายกรัฐมนตรีมีกำหนดพบหารือแบบทวิภาคกับนายยุน ซอกยอล (Mr. Yoon Suk Yeol) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ต่อมาเวลา 13.00 น. เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 27 จากนั้น เวลา 14.30 น. พบหารือ ( pull-aside) กับนาย Klaus Schwab ผู้ก่อตั้งและประธานสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) เวลา 15.00 น. พบหารือ (pull-aside) กับนายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา และเวลา 15.40 น. พบหารือแบบทวิภาคีกับดาโตะ เซอรี อันวาร์ บิน อิบราฮิม (Dato’ Seri Anwar Bin Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย จากนั้น เวลา 16.00 น. ร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - อินเดีย ครั้งที่ 21
หลังจากนั้น เวลา 17.00 น. พบหารือแบบทวิภาคีกับนายแอนโทนี บลิงเกน (Mr. Antony Blinken) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐ ฯ และเวลา 18.30 น. พบหารือทวิภาคีกับนายหลี่ เฉียง (Mr. Li Qiang) นายกรัฐมนตรีจีน ซึ่งช่วงค่ำ ในวันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ประมุข/หัวหน้ารัฐบาล ที่เข้าร่วมการประชุมและคู่สมรส และเลขาธิการสหประชาชาติและคู่สมรส โดยนายสอนไซ สีพันดอน (Mr. Sonexay Siphandone) นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว และนางวันดาลา สีพันดอน (Madame Vandara Siphandone) ภริยา เป็นเจ้าภาพด้วย
เวทีประชุมอาเซียน-ญี่ปุ่น ไทยเสนอ 3 แนวทางเพิ่มความร่วมมือระหว่างกันเน้นด้าน“ดิจิทัล” ”พลังงานสีเขียว “และ”นวัตกรรม
ภารกิจในวันนี้ขอลำดับเวลาจากล่าสุดก่อน คือเวลา 11.30 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมผู้นำและผู้แทนสมาขิก อาเซียน ร่วมประชุมกับนายอิชิบะ ชิเกรุ(H.E. Mr. Ishiba Shigaru) เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - ญี่ปุ่น ครั้งที่ 27 สรุปสาระสำคัญดังนี้
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีต่อนายอิชิบะ ชิเกรุ ในโอกาสที่เข้าดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีโดยญี่ปุ่นนับเป็นพันธมิตรที่อาเซียนเชื่อถือไว้วางใจ มีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ และมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ดังนั้น อาเซียนและญี่ปุ่น จะเร่งเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันให้เข้มแข็ง ผ่านการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม 3 ประการ ดังนี้
ประการที่หนึ่ง “การเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่โลกแห่งดิจิทัล ”ทั้งนี้ประเทศไทยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของญี่ปุ่นในด้านดิจิทัลที่กำลังเกิดขึ้นใหม่เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล นอกจากนี้ อาเซียนและญี่ปุ่นควรเพิ่มความร่วมมือในการพัฒนาทักษะและเพิ่มทักษะใหม่ให้แก่ MSMEs รวมถึงเปิดโอกาสให้MSMEs เข้าถึงตลาดใหม่ ๆ อย่างไรก็ตามการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ได้นำมาซึ่งประโยชน์มากมายต่อพลเมือง แต่ก็เปิดโอกาสให้เกิดการใช้งานในทางที่ผิดได้เช่นกัน ดังนั้น อาเซียนและญี่ปุ่น ควรร่วมมือกันส่งเสริมความปลอดภัยทางไซเบอร์และต่อสู้กับอาชญากรรมทางไซเบอร์ให้มากขึ้น ผ่านศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรทางด้าน ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
ประการที่สอง “การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว ”นั้นนายกรัฐมนตรีแพทองธาร เน้นย้ำว่าความมุ่งหวังของรัฐบาลในการส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาด และยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค พร้อมแสดงความยินดีต่อการดำเนินการของโครงการความร่วมมือระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่นสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต (ASEAN-Japan Co-Creation Initiative for the Next-Generation Automotive Industry) และไทยหวังว่าจะได้ร่วมมือกันมากขึ้นในการประชุม Asia Zero Emission Community เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านรูปแบบพลังงานใหม่ๆ ของภูมิภาคนี้
สำหรับประการที่สามคือ “การขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ”โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่า นวัตกรรมเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ประเทศไทยขอบคุณญี่ปุ่นที่สนับสนุนการเพิ่มความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งการแลกเปลี่ยนงานวิจัย พร้อมหวังว่าจะได้ร่วมมือกันเพิ่มเติมในด้านเทคโนโลยีเกษตร อาหาร และการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าท้องถิ่น ผ่านการขับเคลื่อนนวัตกรรมต่อไป ซึ่งเชื่อมั่นว่าหาก มีการพัฒนาตามกรอบ 3 ประการ นี้ จะทำให้ประเทศไทยพัฒนาได้อย่างรวดเร็วขึ้น
นายกฯ แพทองธารกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน - เกาหลีใต้ ครั้งที่ 25
เวลา 10.15 น.นางสาวแพทองธาร ร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ระหว่างผู้นำอาเซียนกับเกาหลีใต้ ครั้งที่ 25 โดยในการประชุมครั้งนี้ ( Yoon Suk Yeol )นาย ยุน ซ็อก ย็อล ประธานาธิบดี สาธารณรัฐเกาหลีร่วมการประชุม โดยนายกรัฐมนตรี นางสาว แพทองธาร ได้กล่าวถ้อยแถลงในนามอาเซียน (ASEAN Common Statement)เนื่องจากประเทศไทย เป็นประเทศผู้ประสาน Coordinator และกล่าวในนามประเทศไทย สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นางสาวแพทองธาร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปีนี้ถือเป็นปีสําคัญในการเฉลิมฉลองครบรอบ 35 ปีของความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลีใต้ ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา อาเซียนกับเกาหลีใต้มีความร่วมมือ ที่ลึกซึ้งและขยายขอบเขตไปได้ทั้ง 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียน และวันนี้ถือเป็นการเริ่มต้น บทบาทใหม่ของความสัมพันธ์ด้วยการจัดตั้งหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership : CSP) ซึ่งหวังว่าจะได้ดําเนินการ CPS บนพื้นฐานของความไว้วางใจ เคารพซึ่งกันและกัน และเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน และการพัฒนาแผนปฏิบัติการอาเซียน-เกาหลีใต้ฉบับใหม่ (พ.ศ. 2569-2573) จะเป็นแนวทางความร่วมมือในอนาคต ทั้งนี้ อาเซียนชื่นชมการสนับสนุนของเกาหลีใต้ต่อความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และมุมมองของอาเซียนเกี่ยวกับอินโดแปซิฟิก ผ่านกลไกที่นําโดยอาเซียน รวมถึงชื่นชมการมีส่วนร่วมของเกาหลีใต้ในความร่วมมือภายใต้ AOIP ซึ่งสอดคล้องกับความร่วมมือเพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน(Korea ASEAN Solidarity Initiative : KASI)
ด้านการเมือง อาเซียนสนับสนุนความร่วมมือเพิ่มเติมในการจัดการกับปัญหาความมั่นคงที่ไม่ใช่แบบดั้งเดิม (non-traditional security issues) รวมถึงความมั่นคงทางไซเบอร์ อาชญากรรมข้ามชาติ และความมั่นคงทางทะเล ทางด้านเศรษฐกิจอาเซียนสนับสนุน RCEP และหวังว่าจะเริ่มการเจรจายกระดับ FTA อาเซียน-เกาหลีในปี พ.ศ. 2569 พร้อมกันนี้ อาเซียนสนับสนุน MSMEs สตาร์ทอัพ ให้กับเยาวชน คนรุ่นใหม่ และสุภาพสตรี รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และอุตสาหกรรมในอนาคต รวมถึงสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดน
ส่วนทางด้านสังคมและวัฒนธรรม ควรส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนและวัฒนธรรม หวังว่าเกาหลีใต้จะสนับสนุนการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาอาชีพ ( TVET ) เพื่อแรงงานอนาคต รวมทั้ง สนับสนุนให้เกาหลีใต้ร่วมมือกับศูนย์อาเซียนด้านสาธารณสุข
ในส่วนของคาบสมุทรเกาหลี อาเซียนเรียกร้องให้เกาหลีเหนือปฏิบัติตามมติ UNSC พร้อมย้ำบทบาทที่สร้างสรรค์ และใช้กลไกของอาเซียน อาทิ ARF ส่งเสริมบรรยากาศการเจรจาอย่างสันติ ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ อาเซียนสนับสนุนความพยายามของเกาหลีใต้ในการเจรจาอย่างสันติและต่อเนื่องเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพที่ยั่งยืน เพื่อคาบสมุทรเกาหลีที่ปราศจากนิวเคลียร์ สงบสุข และเจริญรุ่งเรือง ในขณะที่ยอมรับการให้ความสำคัญกับ "August 15 Unification Doctrine" (วิสัยทัศน์ใหม่ด้านการรวมชาติ 15 สิงหาคม)
ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแถลงการณ์ของประเทศไทย โดยได้หยิบยกวิสัยทัศน์ 'ABC' ในการพัฒนาหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้าน (CSP) กับเกาหลีใต้ นั้นก็คือ ด้าน'A' Advanced Technology การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เกาหลีใต้ในฐานะผู้นํานวัตกรรมหลายประเภท สามารถมีส่วนสําคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ที่จะเพิ่มความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค และบูรณาการเศรษฐกิจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นผ่านการยกระดับ ASEAN-ROK FTA และ 'B' Balanced development คือการพัฒนาที่สมดุล สร้างอนาคตที่เท่าเทียมยั่งยืน และยืดหยุ่นมากขึ้น โดยประเทศไทยขอให้เกาหลีใต้สนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง MSMEs
ส่วนวิสัยทัศน์ 'C' Creative economy หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้น หลายเรื่องที่ไทยได้รับแรงบันดาลใจจากความสําเร็จของเกาหลีใต้ โดยขอชื่นชมการมีส่วนร่วมของเกาหลีใต้ใน “Seminar on Thailand and Creative ASEAN” ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนที่แล้ว และประเทศไทยและเกาหลีใต้สามารถร่วมมือกันในประเด็นด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นจุดสนใจหลักของงานวันอาเซียน-เกาหลีใต้ในเดือนพฤศจิกายน2567 นี้
นายกฯ แพทองธาร กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน - จีน ครั้งที่ 27
เวลา 09.10 น. ณ ห้องประชุม 4 ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติ (NCC) นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน - จีน ครั้งที่ 27 ซึ่งมีนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนเข้าร่วมด้วย สรุปสาระสำคัญดังนี้ การประชุมวันที่ 2 นี้ ในช่วงเช้า เป็นการประชุมผู้นำอาเซียน กับ นายกรัฐมนตรีของจีน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ความสัมพันธ์อาเซียน – จีน เป็นรากฐานสำคัญของสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค ซึ่งยังมีศักยภาพอีกมากที่จะพัฒนาร่วมกันในการสร้างประโยชน์ร่วมกันระหว่างสมาชิกอาเซียนกับจีน ผ่านการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน เพื่อความสันติภาพ ความมั่นคง ความเจริญรุ่งเรือง การพัฒนาที่ยั่งยืน และมิตรภาพ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด "บ้าน 5 หลัง" (Five-Homes) ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำความร่วมมือที่ให้ความสำคัญ 3 ประการ ดังนี้
1. การบูรณาการทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยง (Economic integration and connectivity) นั้นประเทศไทย ยินดีต่อความสำเร็จของการเจรจายกระดับ FTA อาเซียน-จีน 3.0 ซึ่งอาเซียนและจีนควรใช้ประโยชน์จาก RCEP ซึ่งประเทศไทยสนับสนุนการรวบรวมสมาชิกใหม่ที่รวมไปถึงเขตบริหารพิเศษฮ่องกงด้วย
ทั้งนี้ การจะบรรลุการเติบโตอย่างยั่งยืนได้นั้น ต้องมุ่งเน้นการบูรณาการห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว โดยจะต้องส่งเสริมความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงทางดิจิทัล เทคโนโลยี AI และเกษตรอัจฉริยะ
2. ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน (People-to-people relations) ประเทศไทยยินดีต่อความสำเร็จในปีนี้ซึ่งเป็นปีแห่งความร่วมมืออาเซียน - จีนว่าด้วยการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน (ASEAN-China Year of People-to-People Exchanges) ซึ่งต้องเสริมสร้างความเข้าใจ ความรักความสามัคคีของประชาชนในประชาคม อาเซียน กว่า 700 ล้านคนโดยจะดำเนินมาตรการยกเว้นวีซ่า อย่างต่อเนื่อง เพิ่มจำนวนเที่ยวบิน และขยายโอกาสในการรับทุนการศึกษา
3. ด้านความร่วมมือด้านความมั่นคง (Security cooperation) ควรเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าในการจัดการกับประเด็นความมั่นคงรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นอาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์และยาเสพติด และการหลอกลวงออนไลน์ ซึ่งประเทศไทยยินดีต่อการมีส่วนร่วมของจีนในความพยายามของอาเซียนที่จะจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาหมอกควันข้ามแดนและภัยพิบัติทางธรรมชาติ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “ความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาของเราขึ้นอยู่กับสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค สถานการณ์ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้เป็นสาเหตุของความกังวลร่วมกันซึ่งจุดยืนตามหลักการของประเทศไทยคือ การยุติข้อพิพาทอย่างสันติผ่านการทูต การเจรจา และตามกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (UNCLOS) โดยต้องดำเนินความร่วมมือแบบ win-win อย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่น”
สำหรับสถานการณ์ในเมียนมานั้น ประเทศไทยยืนยันความมุ่งมั่นต่อฉันทามติ 5 ข้อ (Five-Point Consensus) เพื่อช่วยเมียนมาหาทางออกอย่างสันติที่นำโดยเมียนมาและเป็นของเมียนมาเอง ซึ่งไทยชื่นชมบทบาทที่แข็งขันของประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา รวมถึงจีนในการมุ่งสู่เป้าหมายนี้