In News

ภารกิจนายกฯประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน พอใจภาพร่วม/ทวิญี่ปุ่น-นิวซีแลนด์-ออสซี



นครหลวงเวียงจันทน์-นายกรัฐมนตรีพอใจภาพรวมการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนตลอด 3 วันที่ผ่านมา ได้ประชุมและหารือกว่า 20 วาระ ก่อนหน้านี้ในการประชุม นายกฯ แพทองธาร กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 19 ย้ำจุดยืนไทยต่อสถานการณ์โลกเรียกร้องสันติภาพในเมียนมา-ทะเลจีนใต้-คาบสมุทรเกาหลี-ตะวันออกกลาง พร้อมเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับพันธมิตรภายนอก และเน้นย้ำการปล่อยตัวประกันชาวไทย 6 คนในฉนวนกาซา และยังได้หารือทวิภาคีกับหลายประเทศ นายกฯถกนายกนิวซีแลนด์ มั่นใจสองประเทศร่วมลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูงและธุรกิจพลังงาน นอกจากนั้นยังได้หารือนายกฯญี่ปุ่น โดยได้ให้คำมั่นนายกฯยืนยันจะลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ต่อไป และขอบคุณออสเตรเลียดูแลคนไทยกว่า 100,000 คน โดยนายกรัฐมนตรีเครือรัฐออสเตรเลีย ปลื้ม "หมูเด้ง" ช่วยสร้างความโดดเด่นให้กับการท่องเที่ยว ชื่นชม พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมของไทย

วันนี้ 11 ตุลาคม 2567 เวลา 14.30 น นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยถึงภาพรวมและผลสำเร็จในการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่าได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากผู้นำอาเซียน ซึ่งไทยและสิงคโปร์ถือเป็นผู้นำใหม่ที่ได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้  ที่ประชุมได้คุยหารือถึงภาพรวมของความร่วมมือ มุ่งเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ แสวงหายุทธศาสตร์ความร่วมมือเพื่อการลงทุน  โดยในการประชุม 3 วันที่ผ่านมา ได้เข้าร่วมกว่า 20 การประชุม  

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึง ประเด็นสำคัญที่ได้มีการพูดถึงในเวทีอาเซียนอาทิ ความเชื่อมโยง การท่องเที่ยว โดยได้มีการหารือเพื่อให้เพิ่มเที่ยวบินตรงระหว่างกันมากขึ้น  ฟรีวีซ่า การบริหารจัดการน้ำ ซอฟพาวเวอร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน-ประชาชน  รวมถึงความมั่นคงของมนุษย์  เช่น  ความมั่นคงทางอาหาร พลังงานสีเขียว

นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า ทุกประเทศยังเห็นพ้องถึงการรักษาอาเซียนให้เป็นภูมิภาคที่สงบสุข  สำหรับสถานการณ์ในเมียนมานั้น ไทยพร้อมเป็นพื้นที่ให้ทุกฝ่ายพูดคุยกัน เพื่อความสุขสงบและสันติภาพ ในภูมิภาคอาเซียนรวมกัน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี

ในการหารือทวิภาคี 12 ประเทศ ทุกประเทศให้การสนับสนุนการท่องเที่ยว ในโครงการ 6 countries 1 destination  รวมไปถึงการแก้ปัญหา ข้ามพรมแดน  การบริหารจัดการน้ำ  การเปลี่ยนแปลงสภาพพูมิอากาศ โดยได้มีโอกาสหารือกับนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้พูดคุยการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ไทยอยากเรียนรู้ประสบการณ์ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติ โดยให้จัดตั้งคณะทำงานต่อไป สำหรับ ในปี 2568 นั้น ไทย-จีนจะครบรอบ 50 ปี โดยประกาศให้เป็น “ปีทอง” และจัดกิจกรรมตลอเทั้งปีเพื่อเฉลิมฉลองร่วมกันต่อไป

นายกฯ แพทองธาร กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 19 

เวลา 11.10 น. นางสาวแพทองธาร ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 19 (19th East Asia Summit: EAS) โดยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้  นายกรัฐมนตรีได้ กล่าวชื่นชมบทบาทและความเป็นผู้นำของ สปป. ลาว ในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ พร้อมเน้นย้ำประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกนี้ ยังเป็นเวทีสำคัญ โดยประเทศไทย ยืนยันความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับทุกพันธมิตร เพื่อให้แผนปฏิบัติการ EAS (EAS Plan of Action) ที่ได้รับการรับรองเมื่อปีที่ผ่านมา รวมทั้งมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP) เป็นแนวทางในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับพันธมิตรภายนอกทั้งหมด เพื่อสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน โดยประเทศไทยจะสนับสนุนการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและการบูรณาการอย่างเต็มที่

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้แบ่งปันมุมมองในประเด็นที่มีข้อห่วงกังวลร่วมกัน  อาทิ ประเด็นของประเทศเมียนมา ซึ่งไทยยังคงมุ่งมั่นต่อฉันทามติ 5 ข้อ (Five-Point Consensus) และสนับสนุนการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการมีเมียนมาที่สงบสุข มีเสถียรภาพ และเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งในขณะที่มีการเรียกร้องให้ลดความรุนแรง ประเทศไทยให้ความสำคัญกับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยมอบเงินเพิ่มเติมจำนวน 290,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ศูนย์ประสานงานอาเซียน เพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (AHA Centre) สนับสนุนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมา สะท้อนถึงแนวทางการดำเนินงานที่สร้างสรรค์และเป็นรูปธรรมของไทยในฐานะส่วนหนึ่งของความพยายามร่วมกันของประชาคมอาเซียน  

ส่วนประเด็นต่างๆ ในทะเลจีนใต้นั้น ควรเป็นทะเลแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไทยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจทำให้สถานการณ์ซับซ้อนขึ้น โดยประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือ ที่เป็นรูปธรรมภายใต้ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration of the Conduct of Parties in the South China Sea - DOC) ขณะเดียวกัน ต้องพยายามผลักดันให้สรุปแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in the South China Sea: COC) โดยเร็ว ซึ่งจะต้องมีเนื้อหาสาระและมีประสิทธิผลสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ปี ค.ศ. 1982 (UNCLOS)

สำหรับประเด็น ปัญหาในคาบสมุทรเกาหลี  ประเทศไทยมีความกังวลกับความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น โดยขอเรียกร้องให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (DPRK) ปฏิบัติตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยประเทศไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อบรรลุสันติภาพและเสถียรภาพอย่างยั่งยืนในคาบสมุทรเกาหลีที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์ต่อไป 

ส่วนประเด็นสถานการณ์ในตะวันออกกลาง  ประเทศไทยมีความกังวลอย่างยิ่งต่อความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นและสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายลงในฉนวนกาซา โดยขอเรียกร้องให้ยุติการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ทั้งหมด และเรียกร้องให้มีการคุ้มครองพลเรือนตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งไทยยังสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างไม่มีข้อจำกัด และการบรรลุแนวทางแก้ไขปัญหาสองรัฐให้เป็นจริง (Two-State solution)

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงการเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวตัวประกันทั้งหมดโดยทันที ซึ่งขณะนี้ยังมีคนไทยจำนวน 6 คน ที่ถูกจับกุมตัวอยู่ในฉนวนกาซา 

นายกฯถกนายกนิวซีแลนด์ มั่นใจสองประเทศร่วมลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูงและธุรกิจพลังงาน

เวลา 09.25 น. นายกรัฐมนตรี หารือกับนายคริสโตเฟอร์ ลักซอน (The Right Honourable Christopher Luxon) นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์โดยทั้ง 2 ประเทศมั่นใจในการบรรลุเป้าหมายการค้า 3 เท่าภายในปี 2569 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ไทย-นิวซีแลนด์ 

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการหารือว่า นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่าย ได้หารือประเด็นต่างๆ ดังนี้   โดยความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน ทั้งสองฝ่ายจะมุ่งเน้นในการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจ โดยนิวซีแลนด์ ได้ชื่นชมการเข้ามาลงทุนระบบ Data Center  และ Cloud ของ Google  โดยสะท้อนว่าประเทศไทย มีความสามารถและเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ซึ่งนิวซีแลนด์ก็มีความสนใจการลงทุนเทคโนโลยีชั้นสูงและพลังงานทดแทน 

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ กล่าวชื่นชมความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย โดยเฉพาะโครงการ พัฒนาเกษตรอัจฉริยะ (smart farming ) ซึ่งทั้งสองประเทศสามารถแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงแนวทางปฏิบัติด้านการเกษตรซึ่งกันและกัน  และทั้งสองประเทศยังเห็นพ้องกัน ในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษา รวมถึงการแลกเปลี่ยนนักเรียนนักศึกษา และยังเห็นพ้องในการพิจารณาเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างกัน 

นายจิรายุ  กล่าวอีกว่า บรรยากาศในการหารือเป็นไปอย่างกันเองแม้จะเป็นการพบกันครั้งแรก โดยนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ได้สนทนาถึงเรื่องอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยว สะท้อนถึงความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นระหว่างไทยและนิวซีแลนด์

นายกฯหารือนายกฯญี่ปุ่นยืนยันจะลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ต่อไป

นายกรัฐมนตรีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก( EAST ASIA SUMMIT ) ครั้งที่ 19 ในเวลา 10.15 น  โดยนายกรัฐมนตรีได้จับมือทักทายและสนทนากับ นายอิชิบะ ชิเกรุ (His Excellency ISHIBA Shigeru) นายกรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่น

โดยนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ได้กล่าวให้ความมั่นใจว่า แม้จะเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่นาน แต่ยืนยันว่ารัฐบาลจะสานต่อนโยบายที่ส่งเสริมความร่วมมือ ระหว่างประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ การลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นในประเทศไทย

ขณะที่ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวยืนยันที่จะร่วมมือกับไทยต่อไปทั้งในด้านพลังงาน อุตสาหกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ ของยานยนต์ และยังกล่าวอีกด้วยว่า โดยส่วนตัวได้เดินทางมาประเทศไทยกว่า 7 ครั้ง และ ยังได้เคยมาศึกษาดูงานด้านการทหารของไทย  จึงหวังที่จะร่วมมือกับประเทศไทยในด้านความมั่นคง ซึ่งนางสาวแพทองธาร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จะมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้ที่ดูแลด้านความมั่นคงหารือกับฝ่ายญี่ปุ่นต่อไป   นายจิรายุกล่าว

นายกรัฐมนตรีเครือรัฐออสเตรเลียปลื้ม"หมูเด้ง" 

เวลา 12.15 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับนายแอนโทนี อัลบาเนซี  (The Honourable Anthony Albanese MP) นายกรัฐมนตรีเครือรัฐออสเตรเลีย ปลื้ม "หมูเด้ง"  ช่วยสร้างความโดดเด่นให้กับการท่องเที่ยว ชื่นชมไทยมี พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ขณะที่นายกรัฐมนตรีขอบคุณที่ดูแลคนไทยกว่า 100,000 คน รวมถึงนักเรียนกว่า 25,000 คน ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการศึกษาในทุกระดับ 

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยประเด็นการหารือ ดังนี้  ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ไทยจะสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ตามแนวทางการทูตทางเศรษฐกิจเชิงรุกของไทยและยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย 2583 เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนสองทาง รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการปราบปรามยาเสพติด และความปลอดภัยของมนุษย์

ไทย-ออสเตรเลีย สนใจแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเกษตรระหว่างกัน รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอาหาร อาหารทางเลือกและฮาลาล เพื่อเจาะตลาดใหม่ๆ   

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณการสนับสนุนของออสเตรเลียในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย พร้อมอวยพรนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียให้ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้าด้วย