In News

'ประเสริฐ'ประชุมกนช.เดินหน้าแก้น้ำท่วม ขับเคลื่อน8มาตรการรองรับฤดูแล้ง67/68



กรุงเทพฯ-“รองนายกฯ ประเสริฐ” ประชุม กนช. นัดแรก เดินหน้าแก้น้ำท่วมต่อเนื่อง สั่งตั้งคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำ ปี 2567 พร้อมขับเคลื่อน 8 มาตรการรองรับฤดูแล้ง 2567/68 ที่จะมาถึง

วันนี้ (11 ตุลาคม 2567) เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 4/2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  โดยมีนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม  และนางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มส่วนหน้า ร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ และดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)  เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการประชุม กนช. วันนี้ถือเป็นครั้งแรกในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่ได้มาหารือกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้บริหารระดับสูง และคณะกรรมการจากลุ่มน้ำต่าง ๆ  เพื่อการบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยกล่าวถึงช่วงที่ผ่านมาที่ได้มีโอกาสติดตามนายกรัฐมนตรีไปลงพื้นที่จ.เชียงราย เชียงใหม่ และลำปาง ได้พบกับสถานการณ์ของน้ำท่วมและปัญหาดินโคลนถล่ม ซึ่งในสถานการณ์ดังกล่าว นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำท่วม โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน 

สำหรับการประชุม กนช. ครั้งนี้ จึงขอมอบหมายภารกิจให้ กนช. ดำเนินการ 3 ประเด็น ดังนี้ (1) การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบัน ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) ได้มีการดำเนินการ และนางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม  เป็น ศปช. ส่วนหน้า ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยและเตือนภัยต่าง ๆ  อย่างไรก็ตามแม้ขณะนี้สถานการณ์ในหลายพื้นที่ได้เริ่มคลี่คลายลง แต่ก็ขอให้ กนช. ควรมีการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำทุกวันให้บ่อยขึ้น มีข้อมูลที่แม่นยำ  และบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเตรียมพร้อมรองรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงต้องไม่ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก (2) การเตรียมตัวรับมือกับปัญหาภัยเเล้ง ที่จะเกิดขึ้นในหลาย ๆ พื้นที่ในประเทศไทย หลังจากสิ้นเดือนตุลาคมนี้ โดยเฉพาะการกักเก็บน้ำในเขื่อนให้เพียงพอสำหรับฤดูแล้งที่จะถึงนี้  เช่น กรณีเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งขณะนี้มีปริมาณน้ำในเขื่อนประมาณ 310 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็น 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ จากปริมาณความจุเขื่อน   โดยมีความกังวลว่าหากเข้าสู่ช่วงหน้าแล้ง จะสามารถประคับประคองสถานการณ์น้ำหรือปริมาณน้ำดังกล่าวให้เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปีให้กับพี่น้องประชาชนในช่วงหน้าแล้งได้หรือไม่   (3) การแก้ปัญหาน้ำท่วมในระยะกลาง- ระยะยาว  โดยเฉพาะการป้องกันสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือปีหน้า และปีต่อไป ขอให้นำแผนต่าง ๆ ที่ได้มีการหารือ กลับมาพิจารณาอีกครั้ง เพื่อจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนว่าโครงการใดที่ควรดำเนินการทันที ภายใต้การใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดให้มากที่สุด

พร้อมกันนี้ รองนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญตามข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการที่จะพิจารณาให้นำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลเรื่องน้ำของประเทศ เพื่อใช้ในการประกอบการตัดสินใจของฝ่ายบริหารสำหรับการบริหารจัดการน้ำของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับที่ประชุมได้มีการพิจารณาประเด็นสำคัญ เนื่องจากในระยะนี้ ประเทศไทยยังมีแนวโน้มที่จะเกิดสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง น้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่เปราะบาง และพื้นที่ที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจ    โดยที่ประชุมมีมติ ดังนี้
1. ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำ  ปี 2567 ตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 โดยมีเลขาธิการ สทนช. เป็นประธานอนุกรรมการฯ เพื่อทำหน้าที่ในการวิเคราะห์และประเมินสภาพอากาศ สถานการณ์ฝน สถานการณ์น้ำ สนับสนุนข้อมูลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้กับ กนช. และศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม(ศปช.)รวมถึงให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามหลักวิชาการที่เหมาะสมต่อกนช. พร้อมทั้งดำเนินการถอดบทเรียนด้านการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำและอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุจรที่ผ่านมาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป โดยให้รายงานผลการดำเนินงานต่อ กนช. อย่างต่อเนื่อง

2. ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ (ร่าง) มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/2568 ที่จะมาถึงในวันที่ 1 พ.ย. 67  ตามที่ สทนช. เสนอ จำนวน 8 มาตรการ ซึ่งนำผลการถอดบทเรียนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้งปีที่ผ่านมา มาปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ให้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้อย่างทันท่วงที โดยแบ่งเป็น 3 ด้าน ประกอบด้วย

1) ด้านน้ำต้นทุน มาตรการที่ 1 คาดการณ์และป้องกันพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ มาตรการที่ 2 สร้างความมั่นคงน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรพร้อมปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

2) ด้านความต้องการใช้น้ำ มาตรการที่ 3 กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด มาตรการที่ 4 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำและลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วน มาตรการที่ 5 เฝ้าระวังและแก้ไขคุณภาพน้ำ

3) ด้านการบริหารจัดการ มาตรการที่ 6 เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชน/องค์กรผู้ใช้น้ำ มาตรการที่ 7 สร้างการรับรู้ประชาสัมพันธ์ และมาตรการที่ 8 ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน โดยมอบหมายให้ สทนช.  แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการตามมติ กนช. และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป

3. ที่ประชุมวันนี้ยังได้เห็นชอบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2568 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/68 พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินการให้ สทนช. ทราบทุกเดือน จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูแล้ง เพื่อให้การขับเคลื่อนมาตรการเป็นไปตามแผนและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำนำมาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2567/68 ไปดำเนินการร่วมกับแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งของลุ่มน้ำ ปี 2567/68 และให้หน่วยงานเตรียมแผนงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2568 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์ ซึ่ง สทนช. จะติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด