EDU Research & ESG
ร้อยแก้วแนวต่างชุบชีวิตวรรณคดีไทย ด้วยรูปแบบร่วมสมัยโดนใจคนรุ่นใหม่
กรุงเทพฯ-ผู้ช่วยศาสตราจารย์หัตถกาญจน์ อารีศิลป อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ปฏิวัติการศึกษาด้านวรรณคดีไทยด้วยการทำให้การเรียนวิชานี้น่าสนใจ เข้าถึงได้ง่าย และใกล้ชิดกับนักอ่านยุคใหม่มากขึ้นผ่านวิธีการสอนที่ผสมผสานเรื่องราวในวรรณคดีไทยดั้งเดิมกับวรรณกรรมแนวต่างโลกและสื่อร่วมสมัย โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะปรับเปลี่ยนห้องเรียนวิชาวรรณคดีไทยให้มีสภาพแวดล้อมที่สนุก ไม่น่าเบื่อ นักเรียนจะได้มีส่วนร่วมในการอภิปราย ตั้งคำถามกับบริบททางประวัติศาสตร์ และเชื่อมโยงกับประเด็นทางสังคมในปัจจุบันได้
ในโครงการนี้ ผศ.หัตถกาญจน์ ได้ร่วมมือกับ รองศาสตราจารย์ ดร. กิตติชัย เกษมศานติ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ ภาควิชานิเทศศิลป์ สาขาการถ่ายภาพ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สร้างสรรค์หนังสือภาพประกอบสำหรับเยาวชนขึ้นมา 2 เล่ม ได้แก่ เรื่อง “ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา ฉบับ ‘ร้อยแก้ว’ (แนวต่างโลก)” เผยแพร่ในปี 2566 และ เรื่อง “พระอภัยมณี ตอน พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทร” เผยแพร่ในปี 2567 ซึ่งทั้ง 2 เรื่องใช้เป็นบทเรียนในหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนไทย การเล่าเรื่องแบบเดิมจะถูกปรับเปลี่ยนเพื่อกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดการคิดเชิงวิพากษ์ ทำให้นักเรียนสนุกสนานกับการอภิปราย รู้สึกว่าเรื่องราวเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับตนเองและเข้าใจง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาวัฒนธรรมและเนื้อเรื่องจากต้นฉบับเอาไว้
ผศ.หัตถกาญจน์ กล่าวว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมแนวต่างโลก หรือ อิเซไก (Isekai) ซึ่งเป็นประเภทเรื่องราวที่ได้รับความนิยมอย่างมากในสื่อมังงะและเว็บตูน โดยทั่วไปแล้วเรื่องราวแนวต่างโลกจะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับตัวละครที่ถูกพาไปยังโลกที่ไม่คุ้นเคยหรือไปอยู่ในร่างของตัวละครอื่น ทำให้เกิดมุมมองใหม่จากเรื่องราวที่คุ้นเคย ในงานเขียนดัดแปลงชิ้นนี้ นักเรียนจะได้เข้าไปสัมผัสเรื่องราวในโลกวรรณคดีในระยะประชิดในฐานะผู้สังเกตการณ์ ได้เห็นภาพรวมของเรื่องราว และได้มุมมองที่หลากหลายในการตีความเรื่องราวไปด้วย เช่น ในเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” นักเรียนจะได้รับคำถามให้วิเคราะห์เกี่ยวกับเหตุผลทางสังคมและประวัติศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินประหารชีวิตนางวันทอง เพื่อช่วยให้นักเรียนมองเห็นแง่มุมที่ซับซ้อนของความยุติธรรมและศีลธรรมในบริบททางประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ในตัวบทวรรณคดีได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีโครงการ Thaiฤทธิ์ ซึ่งเดิมเป็นโครงการที่ ผศ.หัตถกาญจน์ ริเริ่มขึ้นในวิชา “วรรณคดีไทยพื้นฐาน” ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จนได้พัฒนาต่อยอดมาเป็นวิชา “วรรณคดีไทยกับสื่อร่วมสมัย” ซึ่งเปิดโอกาสให้นิสิตได้สร้างสรรค์สื่อหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การ์ตูนช่อง เกม คาแรกเตอร์ดีไซน์ ที่ออกแบบมาจากวรรณคดีไทย เพื่ออุดช่องว่างระหว่างวรรณคดีดั้งเดิมและสื่อสมัยใหม่ ตัวละครและเรื่องราวเก่าแก่เหล่านี้จึงใกล้ชิดกับเราและดูน่าสนใจมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าวรรณคดีไทยยังคงเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่ยังมีชีวิตอยู่ ผศ.หัตถกาญจน์ หวังที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ได้สำรวจคุณค่าของวรรณคดีไทย ช่วยให้พวกเขาเชื่อมโยงระหว่างวรรณคดีกับชีวิตของตนเอง พร้อมทั้งส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการคิดเชิงวิพากษ์