In News
'ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน' ที่สปป.ลาว 'ประเทศไทย'ได้อะไรบ้าง..?
กรุงเทพฯ-วันนี้ (เสาร์ที่ 12 ตุลาคม 2567) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เสร็จสิ้นภารกิจในการเดินทางเยือนประเทศ ลาว ในช่วงระหว่างวันที่ 8-11 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยในวันแรกเป็นการเยือน สปป. ลาว ในฐานะแขกของประเทศลาวอย่างเป็นทางการ ซึ่งได้รับการต้อนรับจากนายกรัฐมนตรีของลาวและผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลลาวอย่างสมเกียรติ
โดยได้ประชุมหารือปัญหาสำคัญของประเทศไทย-ลาว ที่ได้ร่วมกันจับมือแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติ ปัญหาหมอกควันและยาเสพติดระหว่างชาติ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขงเพื่อป้องกันอุทกภัยระหว่างกันในอนาคต
จากนั้นในวันพุธ-วันศุกร์ที่ 9-11 ตุลาคม 2567 นางสาวแพทอง ธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 44-45 และการประชุมอื่นๆ รวมทั้งการพบปะผู้นำแต่ละชาติที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้นกว่า20การประชุม อาทิ การประชุมแบบเต็มคณะ (Plenary) ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนนอกจากนี้ยังมีการ ประชุมครั้งที่ 45 (Retreat) ซึ่งเป็นการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Leaders’ Interface with Representatives of ASEAN InterParliamentary Assembly - AIPA) ซึ่งผลของการประชุมเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาอย่างยิ่ง
นายจิรายุกล่าวต่อไปว่า การประชุมครั้งนี้มีความหลากหลาย อาทิการประชุมสุดยอดอาเซียน - จีน ครั้งที่ 27 และการประชุมสุดยอดอาเซียน - เกาหลีใต้ ครั้งที่ 25 เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 35 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน กับเกาหลีใต้และการประชุมสุดยอดอาเซียน - ญี่ปุ่น ครั้งที่ 27 และการประชุมสุดยอดอาเซียน - อินเดีย ครั้งที่ 21 และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 19
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีของไทย ยังได้หารือทวิภาคีเพื่อแนะนำตัว และสร้างความคุ้นเคยกับผู้นำ 12 ประเทศ ได้แก่ บรูไนฯ กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา รวมทั้ง รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯและนาย Klaus Schwab ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร WEF ซึ่งได้เชิญนายกรัฐมนตรีไปร่วมการประชุม WEF ที่ดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ในปีหน้าด้วย
นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า การประชุมในครั้งนี้ ถือว่าประเทศไทย ประสบความสำเร็จในการนำเสนอและผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน รวมทั้งการส่งเสริมความเชื่อมโยง ซึ่งนายกรัฐมนตรีหยิกยกและผลักดันการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างกัน และการขยายระยะเวลาการยกเว้นวีซ่า รวมทั้งการใช้ soft power เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน
ส่วนในหลายๆ เวทีการประชุมและการหารือกับประเทศต่างๆ ไทยและประเทศคู่เจรจา ยังตอบรับที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อรับมือปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการลักลอบค้ายาเสพติด และ online scams หรือแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ การรับมือภัยพิบัติ การบริหารจัดการน้ำ และการแก้ไขปัญหาหมอกควันและ PM2.5 รวมทั้งการรับมือ การเปลี่ยนแปลง สภาพอากาๆ (climate change) จากทั้งประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจา และจะเป็นประโยชน์การส่งเสริมการกินดีอยู่ดี และความมั่นคงปลอดภัยของประชาชน
ขณะที่นายกรัฐมนตรี กล่าวในเวทีอาเซียนวันสุดท้ายของการประชุมโดยกล่าวว่า จะส่งเสริมสันติภาพ ในภูมิภาคนี้ซึ่งในส่วนของเมียนมา ไทยเสนอตัวเป็นสถานที่จัดการประชุมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในเดือนธันวาคมปีนี้ เพื่อส่งเสริมความพยายามของอาเซียนในการช่วยกันแก้ไขปัญหาในเมียนมาโดยสันติด้วย
นายจิรายุ กล่าวสรุปว่าการประชุมทั้ง4วันครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงามสื่อมวลชนต่างชาติ และประเทศคู่เจรจาให้ความสำคัญกับประเทศไทย และได้นำปัญหาและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน มาพูดคุยกันจนเป็นรูปธรรมเพื่อนำไปสู่ การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของแต่ละประเทศต่อไป โดย โดยในปีหน้าประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียนครั้งที่ 46 ต่อไป