In Bangkok

'กทม.-อย.-บก.ปคบ.-บช.น.'ร่วมกันปราบ การขายน้ำกระท่อมที่ผสมยาในกรุง



กรุงเทพฯ-นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวถึงการปราบปรามการจำหน่ายน้ำกระท่อมที่มีการผสม หรือขายพ่วงยาอันตรายในเขตกรุงเทพฯ ว่า สนอ. โดยสำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด ได้ดำเนินการและร่วมสนับสนุนความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการปราบปรามการจำหน่ายน้ำกระท่อมที่มีการผสม หรือขายพ่วงยาอันตรายในเขตกรุงเทพฯ โดยประสานสำนักงานเขต 50 เขต สำรวจและแจ้งพิกัดร้านจำหน่ายพืชกระท่อม/น้ำกระท่อม ซึ่งสำนักงานเขตได้รายงานข้อมูลและพิกัดร้านจำหน่ายน้ำกระท่อมในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 151 ร้าน (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ต.ค. 67) และพบว่า มี 8 ร้าน อาจมีการผสม หรือขายพ่วงยาอันตราย

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 67 ได้ประชุมบูรณาการการปราบปราบการจำหน่ายน้ำกระท่อมที่มีการผสมยาอันตรายร่วมกับ 3 หน่วยงาน ได้แก่ อย. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) และกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนบูรณาการปราบปรามการจำหน่ายน้ำกระท่อมที่มีการผสม หรือขายพ่วงยาอันตรายในกรุงเทพฯ 3 ระยะ ได้แก่ การเร่งปราบ การขยายผล และการดำเนินการต่อเนื่อง โดยช่วง 2 เดือนแรก กทม. จะส่งข้อมูลพิกัดร้านที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานเขต จำนวน 8 ร้าน ให้ บช.น ดำเนินการตรวจยึด หรือล่อซื้อ และส่งตัวอย่างให้ อย. ส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ บก.ปคบ. จะสืบสวนขยายผลด้านคดีต่อไป โดย อย. จะจัดทำแนวทางการตรวจสถานที่จำหน่ายน้ำท่อมที่มีการผสม หรือขายพ่วงยาอันตราย และเป็นศูนย์รับแจ้งสถานการณ์และแหล่งจำหน่าย เพื่อให้ อย. เข้าตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันอันตรายจากยาเสพติดที่อาจส่งผลต่อสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน สนอ. จะแจ้งสำนักงานเขต 50 เขตให้สำรวจร้านค้า รถเร่ แผงลอยที่จำหน่ายน้ำท่อมที่มีการผสม หรือขายพ่วงยาอันตรายอย่างต่อเนื่องตามแผนบูรณาการฯ และขอความร่วมมือสำนักงานเขตกำชับแนวทางปฏิบัติแก่เจ้าหน้าที่ กทม. หากพบการจำหน่ายน้ำกระท่อมที่มีการผสม หรือขายพ่วงยาอันตรายในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ 0 2590 7405, 0 2590 7325 หรืออีเมล : [email protected] เพื่อให้ อย. เข้าตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย

นอกจากนั้น ยังได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพฯ ในทุกมิติ โดยประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร เพื่อติดตามการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการเร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน (1 มิ.ย. - 31 ส.ค. 67) โดยบำบัดฟื้นฟูผู้มีปัญหาการใช้ยาเสพติดในชุมชนโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง (Community Based Treatment and Care - CBTx) ดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพฯ ในชุมชนเป้าหมาย 217 ชุมชน ประกอบด้วย (1) โครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนในพื้นที่แพร่ระบาดยาเสพติดตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล (ตร.เฟส 2) ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย 5 ชุมชน (2) โครงการชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนในพื้นที่กรุงเทพฯ ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย 24 ชุมชน และ (3) โครงการ CBTx กองทุนแม่ของแผ่นดิน ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย 188 ชุมชน ทั้งนี้ ผลการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของหมู่บ้าน/ชุมชน พื้นที่กรุงเทพฯ ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.ค. 67 ดำเนินการแล้ว 209 ชุมชน คิดเป็นร้อยละ 96.31 และปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ระดับจังหวัด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

สำหรับมาตรการเชิงรุกขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของ กทม. โดยเฉพาะการเฝ้าระวังภัยยาเสพติดในสถานศึกษา สถานประกอบการ และชุมชน แบ่งเป็น สถานศึกษา ได้เฝ้าระวังความเสี่ยงภายในและนอกสถานศึกษา คัดกรองโดยครูที่พบพฤติกรรมเสี่ยงของนักเรียนและคัดกรองโดยใช้การประเมินภูมิคุ้มกันยาและสารเสพติด หากพบนักเรียนที่มีความเสี่ยงจะประสานผู้ปกครองและศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. เพื่อติดตามช่วยเหลือ สำหรับนักเรียนที่มีความเสี่ยงและสงสัยว่า อาจเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจะตรวจปัสสาวะ โดยจัดทำหนังสือสัญญาและข้อตกลงร่วมกับผู้ปกครอง เพื่อให้ความยินยอมก่อนตรวจปัสสาวะ จัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ ทักษะ เสริมภูมิคุ้มกันยาเสพติดให้กับนักเรียน รวมถึงบันทึกข้อมูลเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เพื่อประเมินและวางแผนการช่วยเหลือแบบรอบด้านด้วยแพลตฟอร์ม “เติมเต็ม”

ส่วนสถานประกอบการได้ประสานความร่วมมือสำนักงานเขตและกระทรวงแรงงาน เพื่อจัดกิจกรรมเสริมสร้างภูมิคุ้มกันยาและสารเสพติดให้กับพนักงาน สนับสนุนการสร้างสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยยาเสพติด สนับสนุนการดำเนินงานตามเกณฑ์มาตรฐานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบการ (มยส.) และโรงงานสีขาว สำหรับในชุมชน ได้จัดให้มีอาสาสมัครเฝ้าระวังภัยยาและเสพติดกรุงเทพมหานคร และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานครเชี่ยวชาญยาเสพติดในพื้นที่ 50 สำนักงานเขต เพื่อเฝ้าระวัง สร้างการรับรู้ เท่าทันต่อสถานการณ์ปัญหายาเสพติด และร่วมค้นหาผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดให้เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา สนับสนุนการดำเนินงานกองทุนแม่ของแผ่นดิน เพื่อเป็นกลไกการป้องกันปัญหายาเสพติดในชุมชน อีกทั้ง ได้สนับสนุนการดำเนินงานโครงการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยจัดตั้งชมรม TO BE NUMBER ONE ในสถานศึกษา ชุมชน และสถานประกอบการ เพื่อให้เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจของเด็ก เยาวชน และประชาชนไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด