Biz news
สนข.จัดประชุมรับฟังความเห็นคนแปดริ้ว การพัฒนาระบบขนส่งทางรางและทางน้ำ
ฉะเชิงเทรา-สนข.เร่งศึกษาจัดทำแผนพัฒนาการเชื่อมโยงขนส่งทางรางและทางน้ำ มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพภาคการขนส่งสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมถึง กทม. มุ่งเป้าเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เล็งฉะเชิงเทราเหมาะสมมีเส้นทางพร้อมทุกด้านรองรับการพัฒนาภาคการขนส่งอย่างครอบคลุมทุกมิติ
วันที่ 17 ต.ค.67 เวลา 09.00 – 12.00 น. ที่ห้องประชุมชลธี 1 โรงแรมซันธารา เวลเนส รีสอร์ท อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม ได้จัดงานสัมนาแนะนำโครงการและรับฟังความคิดเห็น การศึกษาจัดทำแผนพัฒนาการเชื่อมโยงและเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมทั้งทางรางและทางน้ำ เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และกรุงเทพมหานคร
โดยมีนางสาวฉัตรประอร นิยม รองผู้ว่าราชการ จ.ฉะเชิงเทรา รักษาการแทนผู้ว่าราชการ จ.ฉะเชิงเทรา มาเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนามี ดร.ปฏิคม ชีวรุโณทัย ผู้จัดโครงการรับฟังความคิดเห็น ตอบข้อซักถาม และมี น.ส.พนิดา เขียวงามดี นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ รักษาการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิเคราะห์นโยบายและแผน ด้านการวางแผนการขนส่งและจราจร เป็นผู้กล่าวรายงานและแนะนำโครงการสู่ภาคประชาชนผู้ประกอบการและหน่วยงานราชการที่เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้
โดยระบุถึงการพัฒนาประเทศที่ต้องดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนากลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างหลากหลายมิติ ทั้งภาคเกษตรอุตสาหกรรมและการบริการ เพื่อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ และดำเนินตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (2566-2570) หมุดหมายที่ 5 ให้ประเทศไทยเป็นประตูด้านการค้าการลงทุนและเป็นศูนย์ยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค
หมุดหมายที่ 8 ส่งเสริมให้มีพื้นที่ในการพัฒนารองรับเป็นเมืองอัจฉะริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย และเติบโตได้อย่างยั่งยืน เป็นกลไกในการแปลงยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติ กระทรวงคมนาคมจึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมทั้งถนน ทางราง ทางน้ำ และอากาศ ที่มุ่งให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ จึงได้ให้ความสำคัญต่อการขนส่งทางน้ำและระบบรางมากขึ้น ร่วมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ลดต้นทุนการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ
จึงได้กำหนดแนวคิดการพัฒนาภายใต้ยุทธศาสตร์ระบบคมนาคมขนส่งระยะ 20 ปี (2561-2580) ประะกอบด้วย การขนส่งที่มีประสิทธิภาพ การขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการขนส่งที่เข้าถึงได้อย่างเสมอภาค เท่าเทียม โดยโครงการเชื่อมและเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมทั้งทางรางและทางน้ำ เพื่อรองรับพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีระยะเวลาในการดำเนินงาน 540 วัน
เริ่มดำเนินงานเมื่อวันที่ 10 ก.ค.67 -31 ธ.ค.68 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม การจัดทำแผนพัฒนาการเชื่อมโยงและเพิ่มประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ เสนอมาตรการและแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการ การแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบกฎหมาย เพื่อสนับสนุนให้มีสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางและทางน้ำเพิ่มมากขึ้น
การสัมมนาแนะนำโครงการในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ในวันนี้ จัดขึ้นเพื่อแนะนำและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน จากผู้เข้าร่วมสัมมนาประมาณ 80 คน โดยมุ่งหวังที่จะรับฟังข้อมูลความเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆจากผู้เข้าร่วมการสัมมนาในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปพิจารณาประกอบการศึกษาให้มีความถูกต้องสมบูรณ์สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของโครงการต่อไป น.ส.พนิดา กล่าว
ขณะที่ น.ส.ฉัตรประอร กล่าวต่อผู้เข้าร่วมสัมมนาว่า เวลาเราจะคิดอะไรสักอย่างนั้นขอให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และเป้าหมายของ จ.ฉะเชิงเทรา ด้วย ในทัศนของการเป็นเมืองน่าเที่ยว น่าอยู่น่าลงทุน และรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ดังนั้นวิสัยทัศน์ของจังหวัดที่มีเป้าหมาย 20 ปีนั้น เราจะเป็นเมืองที่อยู่อาศัยชั้นดี เติบโตอย่างชาญฉลาด จึงขอให้คำนึงถึงใน 2 ประเด็นหลัก คือ วิสัยทัศน์และเป้าหมาย โดยฉะเชิงเทราเรามีต้นทุนของระบบรางที่มีอยู่แล้ว และต่อไปจะเป็นภาคการขนส่งที่ดีมาก
และ จ.ฉะเชิงเทรา ยังเป็นเมืองฮับของการเกษตร โดยมีสินค้าเกษตรที่มีชื่อเสียงมาก ทั้งไข่ไก่ มะม่วง มะพร้าวน้ำหอม รวมถึงกุ้งและปลากะพง ตลอดจนนายกสมาคมผู้เลี้ยงแพะและเกะแห่งประเทศไทย ก็ยังอยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา ทั้งการเจริญเติบโตทางอุตสาหกรรมเข้ามาในพื้นที่ทางด้านฝั่งตะวันออก จาก จ.ชลบุรี เข้ามานั้น ทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมซึ่งเป็นการผลิตชิ้นส่วนเกี่ยวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือว่าเราปฏิเสธไม่ได้ ว่าเราจะต้องเจริญเติบโตต่อไป แต่เราจะควบคุมทิศทางการพัฒนาจังหวัดของเราได้
และสิ่งต่างๆที่กำลังเติบโตเข้ามานั้น ไม่อยากให้มี PM 2.5 เข้ามาด้วย จนทำให้เมืองเราไม่น่าอยู่ แต่ถ้าโครงสร้างพื้นฐานดี ระบบขนส่งรางคู่เกิดขึ้นและเชื่อมโยงได้จริง รถไฟความเร็วสูงที่สามารถขนคนและสินค้าได้ และยังอยู่ใกล้กับท่าเรือแหลมฉบัง ทั้งหมดนี้คือจุดเด่นของฉะเชิงเทรา จนกลายเป็นแหล่งถูกลักลอบนำกากสารพิษมาทิ้งยังในพื้นที่ อ.พนมสารคาม อ.สนามชัยเขต อ.ท่าตะเกียบ แต่หากเราเปลี่ยนจากกากสารพิษมาขนส่งสินค้าที่ทำให้ต้นทุนถูกลง และได้เทคโนโลยีที่สะอาด และหากจะเปลี่ยนภาคการขนส่งมาในทางระบบลำน้ำนั้น ยังเห็นด้วยว่า เราจะได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำบางปะกง เพิ่มมากขึ้น
จากปกติที่ใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตรเท่านั้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นของเมืองน่าอยู่น่าเที่ยว ที่สามารถขนส่งคนทางระบบทางน้ำได้ และยังน่าลงทุนด้วยหากสินค้าทางเกษตรและอุตสาหกรรมสามารถใช้ระบบรางและระบบน้ำได้ จึงไม่ปฏิเสธการเจริญเติบโตที่จะเข้ามา แต่คนใน จ.ฉะเชิงเทรา ต้องสามารถควบคุมได้ด้วย น.ส.ฉัตรประอร กล่าว
สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา