In News
'ไทย'เตรียมประกาศเข้าสู่ช่วงหน้าหนาว หลังอุณหภมิดอยอินทนนท์รูดเหลือ9องศา
กรุงเทพฯ-หนาวจริง..อินทนนท์เช้านี้ต่ำ 10 ด้าน ศปช.แจ้งเตรียมประกาศไทยเข้าหน้าหนาว ส่วน 29 จังหวัดตอนกลาง - ล่างยังต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมด้าน จว.ภาคเหนือเร่งระดมกำลังฟื้นฟูตามนโยบายนายกฯ ต้องจบในสิ้นเดือนนี้
วันนี้ (18 ตุลาคม 2567) เวลา 13.00 น. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. และ ศปช. ส่วนหน้ากล่าวว่า ได้มีการรายงานอุณหภูมิที่ดอยอินทนนท์จังหวัดเชียงใหม่เช้าวันนี้เวลาประมาณ 07:00 น. อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ 9 องศาเซลเซียสอย่างไรก็ตามในช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูกาลนี้จะมีอากาศแปรปรวนอาจมีฝนกระจายตัวในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะตอนกลางของประเทศลงมาในขณะที่ภาคเหนืออาจมีฝนกระจายตัวร่วมกับอากาศหนาวเย็นในบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนรักษาสุขภาพ ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมในการดูแลประชาชนพื้นที่ต่าง ๆ เต็มศักยภาพ
นายจิรายุกล่าวต่อไปว่าตามที่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ออกประกาศแจ้งพื้นที่ 29 จังหวัดตั้งแต่ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมขัง น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 19 - 23 ต.ค.67 ดังนี้
ภาคกลาง 5 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม สมุทรสาคร นนทบุรี สมุทรปราการ กรุงเทพมหานครภาคตะวันตก 4 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรัขันธ์ ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราดภาคใต้ 13 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ ตรัง นครศรีธรรมราช สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส
“ประชาชนในพื้นที่ 29 จังหวัดดังกล่าว สามารถติดตามรายละเอียดพื้นที่เสี่ยงในระดับอำเภอ ตามแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาได้จากประกาศของ สทนช. ฉบับที่ 17/2567 เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าตรวจสอบความแข็งแรงของคันกั้นน้ำ ตลอดจนกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และจัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมเข้าช่วยเหลือประชาชนทันทีที่เกิดสถานการณ์”
ส่วนการฟื้นฟู พื้นที่ที่ประสบอุทกภัยในภาคเหนือนั้น นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายว่าการฟื้นฟูความเสียหายจากน้ำท่วมต้องแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน ตุลาคมนี้ ซึ่งจะสอดคล้องกับฤดูกาลท่องเที่ยวของภาคเหนือ ที่ขณะนี้หลายพื้นที่มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว โดย แหล่งท่องเที่ยวจำนวนมากในภาคเหนือมีอุณหภูมิต่ำสุดต่ำกว่า 18 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคเหนือ ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง
“อย่างในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ระดมจากทุกภาคส่วน ล่าสุดมอบหมาย กองอาสารักษาดินแดน กรมการปกครอง และเรือนจำ คัดแยกถุงทราย กองดินโคลนแห้งบนถนนเจริญประเทศ เลียบแม่น้ำปิงออกจากขยะน้ำท่วม โดยให้ใช้ที่ดินของรัฐบนถนนดังกล่าวเป็นจุดพักถุงท้าย เพื่อเร่งเคลียร์ถนนให้เร็วที่สุดรองรับการท่องเที่ยวและการประกอบอาชีพของพี่น้องประชาชน” นายจิรายุกล่าว
ศปช.ส่วนหน้า เร่งฟื้นฟูพื้นที่ จ.เชียงราย ระดมกำลังเต็มที่ตั้งเป้าคืนการดำรงชีวิตปกติให้คนเชียงใหม่-เชียงรายให้จบก่อนสิ้นเดือนนี้
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษก ศปช.ส่วนหน้า เปิดเผยว่า พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะที่ปรึกษา ศปช.ส่วนหน้า พร้อมคณะทำงาน ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานฟื้นฟูกู้พื้นที่ โดยได้ตรวจเยี่ยมและมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบภัย ในพื้นที่ ต.เวียง และ ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย
โดยที่บ้าน แม่ปูนหลวง ต.เวียง มีประชากร 2,401 คน ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยและดินถล่มจำนวนเนื้อที่ประมาณ 1,200 ไร่ สิ่งสาธารณะประโยชน์ ที่ได้รับความเสียหาย ทางเข้า-ออกหมู่บ้าน มีดินสไลด์ลงมาปิดทับเส้นทางสัญจร จำนวนหลายจุด ท่อประปาภูเขา ถูกกระแสน้ำพัดและดินสไลด์ทับท่อ ได้รับความเสียหาย บ้านเรือนประชาชนเสียหายทั้งหลัง จำนวน 1 หลังคาเรือน บ้านเสียหายบางส่วน จำนวน 4 หลังคาเรือน
“ที่ปรึกษา ศปช.ส่วนหน้า ได้สั่งการให้ทหารช่างนำเครื่องจักร พร้อมประสาน ทางหลวงชนบท นำรถแบคโฮขนาดใหญ่เข้าดำเนินการเปิดเส้นทางจากดินสไลด์ ซึ่งชาวบ้านต่างดีใจที่เห็นทหารนำเครื่องจักรเข้ามาช่วย เปิดเส้นทางจนสามารถให้รถสัญจรเข้าออกหมู่บ้านได้สำเร็จ” นายจิรายุกล่าว
ส่วนความคืบหน้าการฟื้นฟู อ.แม่สาย จ.เชียงราย กองบัญชาการกองทัพไทยรายงานว่า ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ 208,440 ตร.ม. จาก พื้นที่รับผิดชอบ 211,000 ตร.ม. คิดเป็น 99% ขณะที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานความคืบหน้าการฟื้นฟู ล้างทำความสะอาดบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่แม่สายไปแล้ว 796 ครัวเรือนจาก 819 ครัวเรือน คิดเป็น 97% ซึ่งขณะนี้ทุกภาคส่วนยังคงระดมบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องจักร ช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มศักยภาพเพื่อให้ชาวแม่สาย ได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติโดยเร็ว