Think In Truth

ชำแหละ...ผลจากสังคมก้มหน้าตอนที่3 : วิถีชีวิตที่แปรเปลี่ยน โดย: ฅนข่าว2499



สังคมก้มหน้ากำลังระบาดไปทั่วโลกสังเกตเห็นได้ชัดเลยว่าคนสมัยนี้ไม่ว่าจะขึ้นรถนั่งกินอาหาร เดินตามท้องถนน หรือแม้แต่คุยกับเพื่อนที่นั่งอยู่ข้างกันแท้ๆ ก็ยังคุยผ่านหน้าจอสี่เหลี่ยม และกิจกรรมยอดฮิตของเด็กๆ วัยเรียน วัยรุ่นชาวออนไลน์ก็คือ การถ่ายรูปสารพัดสิ่งอัพลงเฟซ หรืออินสตาแกรม แล้วรอให้คนมากดไลค์นั่นเอง ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ ทำให้หลายๆ คน มีปัญหาสุขภาพจิตตามมาอย่างคาดไม่ถึงเหมือนกัน

บดขยี้ความสัมพันธ์ครอบครัวแดนมังกร

เอเจนซี - จีนเผยพฤติกรรมสังคมก้มหน้า เอาแต่แชทบนหน้าจอ อาจสร้างความร้าวฉานจนหั่นสะบั้นสายสัมพันธ์ของคนในครอบครัวลงไม่เหลือชิ้นดี

สำนักข่าวไชน่า เดลี อ้าง (6 พ.ค.) ผลการสำรวจที่ตีพิมพ์ผ่านนิตยสารการแต่งงานและครอบครัว (Marriage and Family) ในเครือสหพันธ์สตรีทั่วประเทศจีน (All-China Women's Federation) ระบุประชาชนควรปิดสมาร์ทโฟนคู่กายสัก 1 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และการสื่อสารทางตรงระหว่างบุคคลในครอบครัว

 

การเรียกร้องนี้เกิดขึ้นหลังจากคณะนักวิจัยพบว่า ยิ่งคนเราใช้เวลากับอุปกรณ์สื่อสารเหล่านี้มากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้สถานะความสัมพันธ์ของสมาชิกครอบครัวตกอยู่ในความเสี่ยงมากเท่านั้น แต่ละคนจึงควรช่วยกันเพิ่มเวลาพูดคุยและทำกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกัน แทนการจดจ่ออยู่กับหน้าจอสี่เหลี่ยมในมือ

นิตยสารฯ ซึ่งอ้างว่าเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ ‘ที่ปรึกษาทางอารมณ์’ ขนาดใหญ่ที่สุดในจีน ได้เผยการศึกษาชิ้นนี้ออกมาเมื่อวันที่ 29 เม.ย. กล่าวว่าร้อยละ 73.3 ของจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนมากกว่า 500 ล้านรายในประเทศ เลือกเปิดโทรศัพท์ทิ้งไว้ตลอดทั้งวันทั้งคืน

ส่วนสามีภรรยาที่ชอบเล่นมือถือยามอยู่ด้วยกัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47.2 ของคู่สามีภรรยาทั้งหมดทั่วประเทศ มีแนวโน้ม ‘สุขใจ’ น้อยกว่าคู่ที่ไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟนในกรณีเดียวกัน โดยจากผู้ตอบคำถามมากกว่า 13,000 คน พบร้อยละ 60.1 ซึ่งแต่งงานแล้ว กล่าวโทษ ‘ศัตรูอิเล็กทรอนิกส์’ รุกรานความสัมพันธ์ของพวกเขา

การใช้สมาร์ทโฟนเกินขอบเขตยังมีแนวโน้มก่อปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก ด้วยร้อยละ 36.6 ของผู้ทำแบบสอบถามระบุการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องมือควบคุมจัดการลูกของตัวเองให้สงบเงียบ

ขณะที่ปัญหาด้านสุขภาพก็เป็นอีกหนึ่งผลกระทบ โดยทีมวิจัยพบว่าร้อยละ 62.8 ของผู้ตอบแบบสอบถาม นำโทรศัพท์ขึ้นไปไว้บนเตียงนอนด้วย และร้อยละ 50.3 ก็ยังเล่นมือถือต่ออีกแม้ปิดไฟเข้านอนแล้ว ซึ่งเป็นเหตุผลนำไปสู่ความยากลำบากของการนอนหลับมากกว่าคนกลุ่มอื่น 5 เท่าตัวทั้งนี้ค่าเฉลี่ยอายุของผู้ตอบแบบสอบถามอยู่ที่ 28 ปี โดยครึ่งหนึ่งแต่งงานแล้ว และส่วนใหญ่ก็จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยแทบทั้งนั้น

 

เจินเยี่ยน ผู้อำนวยการสมาคมการแต่งงานและครอบครัวจีนศึกษา เตือนว่าอุปกรณ์สื่อสารกำลังกัดกินเวลาและบทสนทนาของครอบครัวมากยิ่งขึ้น รวมถึงคุกคามตัวเลขดัชนีภาพรวมความสุขของครอบครัวชาวจีนในประเทศอีกด้วย

กรณีตัวอย่างจากนายจัง เมิ่ง นักวิเคราะห์เกมส์ออนไลน์ วัย 33 ปี ยอมรับว่าแฟนสาวมักหงุดหงิดและเริ่มชวนทะเลาะบ่อยครั้งหากเขาไม่หยุดเล่นเกมบนไอโฟน ซึ่งจังสารภาพว่า “ผมวางโทรศัพท์ไม่ได้จริงๆ” ส่วน เย่จื้อฉิง วัย 67 ปี เล่าว่าลูกชายและลูกสะใภ้ติดมือถือมากจนเรียกว่าหลานชายใช้เวลากับปู่ย่ามากกว่าพ่อแม่ซะอีก

“ครอบครัวของผมตกเป็นเหยื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปซะแล้ว” ปู่เย่ปิดท้ายสั้นๆ

ด้านผู้เชี่ยวชาญของศูนย์ปรึกษาการแต่งงานเว่ยชิงในกรุงปักกิ่ง นายหวัง จวิน กล่าวว่า “เป็นเรื่องผิดพลาดมากถ้าคนคิดว่าการนั่งอยู่ในห้องเดียวกันโดยมีโทรศัพท์ของใครของมันคามืออยู่ คือการใช้เวลาร่วมกัน”

หลี่ อิง อาจารย์ด้านกฎหมายผู้มีประสบการณ์เรื่องสิทธิสตรีจากมหาวิทยาลัยสตรีจีน บอกว่า “การขาดแคลนกระบวนการสื่อสารแบบเผชิญหน้า ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมากนั้น จะบดขยี้สายสัมพันธ์ทั้งหมดทุกประเภทลงอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้”

อย่างไรก็ดี สี่ว์ เหยียน คณบดีสำนักวิชาจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยครูปักกิ่ง เสริมว่า ปัจจุบันประชาชนจีนจำนวนมากก็เริ่มตระหนักว่าการจมจ่ออยู่กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ทำลายคุณภาพของความสัมพันธ์ในครอบครัวและสังคมมากขึ้นแล้ว 

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของชาวเมียนมาร์

เมื่อก่อนนี้ราคาซิมโทรศัพท์เมียนมาร์โดยเฉพาะที่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้มีราคาแพงมากเป็นหมื่นๆบาทแต่ปัจจุบันเมื่อการเปิดประเทศ ทำให้เกิดการแข่งขัน และราคาลดลงมาเท่ากับในไทยแล้ว นำมาซึ่งวิถีชีวิตชาวเมียนมาร์เปลี่ยนไปตาม เดี๋ยวนี้คนเมียนมาร์อยู่กับโทรศัพท์มากขึ้น กลายเป็นสังคมก้มหน้า ที่อยู่กับโลกออนไลน์แทน เปลี่ยนวิถีชีวิตคนในกรุงย่างกุ้ง 

เมียนมาร์วันนี้ กำลังเปลี่ยนแปลงไปจาก 2-3 ปีที่แล้ว เมื่อราคาค่างวดของเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือ ซิมโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในเมียนมาร์ ราคาถูกลง เหมือนกับชาติอื่นๆ มันจึงได้รุกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันชาวย่างกุ้ง

ร้านอินเตอร์เน็ต คาเฟ่ ที่ในอดีต เป็นศูนย์รวมนักท่องเว็บ เพราะไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ครอบคลุม ส่วนสัญญาณ Wi-Fi แทบไม่ต้องพูดถึง แต่ปัจจุบันอยู่ในสภาพซบเซาลงไป เพราะผู้ใช้งาน สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ในมือถือตัวเองจากที่ไหนก็ได้ 

 

ชาวเมียนมาร์ เริ่มมีการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์อย่างแพร่หลาย ตั้งแต่เฟซบุ๊ก, กูเกิล, ไวเบอร์ และแม้แต่ IG หรืออินสตาแกรม ที่ล้วนมีการเติบโตอย่างรวดเร็วเมื่อความนิยมมากขึ้น การเข้าถึงเทคโนโลยี ทำให้เห็นชาวเมียนมาร์มีทักษะ เป็นเดเวล็อปเปอร์ สามารถพัฒนาแอพพลิเคชั่น เพื่อตอบโจทย์คนในชาติตัวเอง อาทิ หม่อง เอ กำลังสาธิตแอพพลิเคชั่นชื่อ เครซี่ ย่างกุ้ง ทราฟฟิกแอพที่เขาสร้างมาเพื่อสามารถตรวจสอบการจราจรในกรุงย่างกุ้งผ่านสมาร์ทโฟนได้อย่างเรียลไทม์ และรับแจ้งข่าวสารตรงไหนติดขัดบ้าง

แอพนี้ไดเปิดให้ดาวน์โหลดเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 และปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถวางแผนการเดินทาง หาทางเลี่ยง ไม่ต้องไปเสียเวลาบนท้องถนนเป็นชั่วโมง หลายคนหากเพิ่งไปย่างกุ้งมาจะทราบดี ว่าปัจจุบันนี้รถติด ไม่แพ้กรุงเทพฯ

วิถีคนรุ่นใหม่ในย่างกุ้งนี้คือสิ่งที่เปลี่ยนไป แตกต่างจาก 3 ปีก่อน ในยุคที่กองทัพยังกุมอำนาจ ที่มีเพียง 1เปอร์เซ็นเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ เพราะราคาซิมโทรศัพท์ที่แพงลิบลิ่วถึง กว่าแสนบาทต่อ 1 หมายเลข ...แต่เมียนมาร์พ.ศ.นี้ ราคาซิมจากค่ายเทเลนอร์1 ใน 2 ผู้ให้บริการ สนนราคาถูกลงมาฮวบฮาบแค่ 48 บาท ทำให้คาดการณ์มีชาวเมียนมาร์เข้าถึงอินเตอร์เน็ตแล้ว 25% ของประชากร และคาดว่าภายใน 3 ปี จะมีผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทะลุ 25 ล้านคน หรือมากกว่าครึ่งของประเทศในที่สุด

สิ่งหนึ่งที่ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตเติบโตเร็วมากกว่าชาติอื่น เพราะพื้นฐานการใช้งานที่มาจากการใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งราคาถูกลงเรื่อยๆ เราจึงเห็นคนเมียนมาร์ออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กตลอดเวลาไม่แพ้คนไทย และหลายคนใช้เป็นหน้าแรกในการค้นหาสิ่งต่างๆ แทนที่จะใช้เซิร์ชเอ็นจิ้นดังอย่าง กูเกิล ทั้งนี้ส่วนหนึ่ง อาจเพราะการแสดงผลตัวอักษรภาษาเมียนมาร์ในหน้าเพจกูเกิลยังไม่รองรับ ไม่เหมือนเฟซบุ๊ก 

อีกรูปแบบการใช้งานที่กำลังเป็นที่นิยมของชาวเมียนมาร์ คือโมบายล์ มันนี่ หรือการเติมเงินผ่านซิมการ์ดและใช้จ่ายแทนเงินจริง หรือใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ทำให้สะดวกในการซื้อของออนไลน์ ..สิ่งนี้ที่เปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่าย และกระตุ้นการซื้อขายในระดับรากหญ้า ทั่วประเทศ แต่ทว่าก็อาจสร้างปัญหาเพิ่มยอดหนี้เสียของประเทศยิ่งขึ้น หากไม่มีวินัยการจับจ่าย ซึ่งมีแนวโน้มสูงมาก จากการโฆษณาสินเชื่อต่างๆ ที่ล่อใจชาวบ้านในต่างจังหวัด ...นี่คือสิ่งที่มักจะเกิดกับประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ซึ่งเทคโนโลยี มาครอบงำพื้นฐานการศึกษาคนส่วนใหญ่ที่ยังมีฐานะยากจนในประเทศ

ฉงชิ่ง : เปิดช่องทางเดินพิเศษสำหรับมนุษย์ผู้เสพติดสมาร์ทโฟน

ก่อนหน้านี้ที่กรุงวอชิงตันสหรัฐอเมริกา พบว่าบนทางเท้าถนนสาย 18 ถูกทำสัญลักษณ์ด้วยเสปรย์สีขาว ระบุแบ่งทางเดินสำหรับ “ผู้ใช้โทรศัพท์” และ “ผู้ไม่ใช้โทรศัพท์” ในทางเดินสำหรับผู้ใช้โทรศัพท์ ยังมีข้อความเขียนว่า “รับผิดชอบความเสี่ยงอันตรายเอง” ไว้อย่างชัดเจน  ซึ่งเป็นโปรเจคในการทดลองสังเกตุพฤติกรรมมนุษย์ของรายการ Mind Over Masses ช่องเนชั่นแนล จีโอกราฟิก

ทั้งนี้เนื่องจากมีผู้ประสบปัญหาจากมนุษย์ผู้เสพติดสมาร์ทโฟน ที่เอาแต่ก้มหน้าก้มตาจิ้มๆ เขี่ยๆ บนสมาร์ทโฟนเดินชน หรือเดินไปด้วยส่องสมาร์ทโฟนไปด้วยช้า ๆ โดยหาได้สนใจไม่ ว่าคนรอบข้างกำลังรีบเร่ง หรือหงุดหงิดรำคาญแค่ไหน เพื่อสังเกตการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์เหล่านั้น และยังรวมไปถึงเป็นการป้องกันอุบัติเหตุที่สามารถเกิดขึ้นอีกด้วย

 

ล่าสุด มีรายงานว่า ที่ถนน Foreigner Street เมืองฉงชิ่ง  ในประเทศจีนได้ เปิดให้บริการช่องทางเดินพิเศษสำหรับมนุษย์ผู้เสพติดสมาร์ทโฟนโดยเฉพาะ ลักษณะของทางเดินทำขนานไปกับทางเดินเท้าปกติ มีขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 50 เมตร มีลูกศรสีขาวกำกับตลอดทาง เพื่อเป็นแนวให้สามารถเหลือบเห็นแม้ขณะก้มหน้ามองจอสมาร์ทโฟนอยู่  โดยติดป้ายไว้ว่า “ทางเดินเท้าคนใช้มือถือ โปรดระมัดระวัง และใช้อย่างมีสติ” ให้คนที่ใช้สมาร์ทโฟนสามารถเดินไปเล่นไปได้ และไม่รบกวนผู้อื่นที่เดินบนทางเท้า

อย่างไรก็ตามการเปิดช่องทางเดินพิเศษสำหรับมนุษย์ผู้เสพติดสมาร์ทโฟน ดังกล่าวก็ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนานา บ้างก็ว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด บ้างก็ว่าเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมสังคมก้มหน้า ตามองจอ 

 

ส่วนทางด้านเจ้าหน้าที่ของมหานครฉงชิ่งได้ออกมาชี้แจงว่า การออกแบบทางเดินในลักษณะเช่นนี้ ก็เพื่อย้ำเตือนแก่ผู้ใช้ถนนว่า จะเป็นการดีที่สุด หากทุกคนไม่ใช้สมาร์ทโฟนในขณะที่กำลังเดินอยู่บนทางเท้า 

เล่นมือถือข้ามถนนรถชนตาย

เมื่อวันพุธที่ 20 พฤษภาคม 2558 เวลา 18:16 น. เว็บไซต์ข่าวจีน “คั่นคั่นนิวส์” รายงานจากมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ว่า สาวจีนซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เดินข้ามถนนบริเวณสี่แยกไฟแดงพลุกพล่านแห่งหนึ่งในเมืองจงซาน มณฑลกวางตุ้ง ประมาทมัวแต่เดินเล่นโทรศัพท์ไม่สนใจรถที่ขับสวนกันไปมา สุดท้ายเจอรถบรรทุกสีขาวพุ่งเข้าชนเต็มแรงจนร่างกระเด็นลงไปกับพื้นถนน รถบรรทุกสีเหลืองที่แล่นสวนมาตามปกติจึงเหยียบศีรษะของเธอเข้าเต็มแรง เสียชีวิตในที่เกิดเหตุทันที เหตุการณ์ทั้งหมดถูกบันทึกภาพได้โดยกล้องวิดีโอวงจรปิดที่อยู่บริเวณสี่แยก เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมาถึงก็เพียงแค่เก็บศพของเธอไปเท่านั้น เนื่องจากเธอได้เสียชีวิตไปแล้ว

 

เหตุดังกล่าวก็สร้างความตื่นตะลึงให้กับคนในพื้นที่รวมทั้งเป็นอุทาหรณ์ให้กับประชาชนที่ประมาท มีพฤติกรรมชอบเดินเล่นโทรศัพท์ขณะเดินบนถนน

อ่านต่อที่ : http://www.dailynews.co.th/foreign/322592

เสียตาไปหนึ่งข้างเพราะมัวแต่เล่นโทรศัพท์ขณะขับรถ

การเล่นโทรศัพท์ขณะขับรถเป็นเรื่องที่ต้องรณรงค์กันตลอด แต่จะมีสักกี่คนที่ทำกันอย่างเคร่งครัด เพราะเดี๋ยวนี้ ช่วงเวลาขับรถก็เป็นช่วงเวลาเหงาๆ โดยเฉพาะสาวๆที่ต้องการเสพย์ข่าวหรือธุระปะปังซึ่งอาจเกิดขึ้นระหว่างช่วงขับรถ ดังข่าวต่อไปนี้

ลิสท์ มาร์ค สาววัย 20 ปี ขับรถชนกับรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ชะลอเปิดไฟเลี้ยวอยู่บนถนน St Michaels เพียงเพราะเธอก้มหน้าอ่านเมสเสชที่แม่ส่งมาให้ผ่านมือถือหลังจากที่รถชนอย่างรุนแรง   ลิสในวัย 17 ปี ได้ถูกส่งไปยังศูนย์รักษาอาการบาดเจ็บ ณ มหาวิทยาลัยบัลติมอร์ ด้วยอาการบาดเจ็บที่ศีรษะและหน้าอย่างรุนแรง และได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดร่วมเดือน 

 

อาทิตย์ต่อมา เธอต้องเข้ารับการศัลยกรรมสมองกว่า 11 ชั่วโมง ผ่านมาได้สองปี ผลที่ได้คือ ตาหนึ่งข้างบอดสนิท จมูกไม่รับกลิ่น ได้ยินไม่ชัดเจน ไม่สามารถผลิตน้ำตาได้ เนื่องจากต่อมน้ำตาถูกทำลายนั่นเอง ยิ่งไปกว่านั้นเธอไม่สามารถนอนหลับได้ง่ายเหมือนแต่ก่อน

การเสียตาไปหนึ่งข้างสำหรับผู้หญิงอย่างเธอก็ทำให้เธอสุดจะลำบากใจแล้ว แต่ เพื่อนๆที่เธอคบมาด้วย กลับค่อยๆหายไปจากเธอ เพียงเพราะเธอกลายเป็นคนพิการที่ไม่สวยเหมือนก่อน  เพราะแต่ก่อนเธอเป็นสาวสังคมที่มีเพื่อนฝูงมากมาย ไปปาร์ตี้ ชอปปิ้ง เล่นโบว์ลิ่ง ตามประสาสาวหน้าตาดีทั่วไป ก็ยิ่งทำให้เธอเหงามาก เพียงเพราะด้วยเหตุการเล่นโทรศัพท์มือถือขณะขับรถนี้เอง

แม่ของลิสกล่าวว่า ... ฉันเป็นห่วงลูกสาวฉัน กลัวจะคบเพื่อนผิด ติดเหล้า แอลกอฮอล์ แต่กลับลืมคิดไปว่า ลูกของฉัน ติดมือถือมาก คาดไม่ถึงว่ามันจะกลายเป็นภัยแก่ตัวเขา

ลิสท์ มาร์ค...ยอมรับว่าเธอติดโทรศัพท์มาก และต้องเล่นมือถือตลอดเวลา เพราะเธอรู้สึกเหงาง่าย ต้องคอยเช็คอ่านนู่นนี่ตลอดเวลา ซึ่งเธอก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ผิด เพราะใครๆก็ต่างเล่นโทรศัพท์ตอนขับรถกันทั้งนั้น  และเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้เธอกลับต้องทบทวนใหม่แล้วว่า สิ่งที่เธอคิดมันช่างผิดมหันต์สำหรับเธอ

โดยลิสท์และแม่ได้ทำวิดีโอรณรงค์ “Liz Marks Texting & Driving Story” ของกระทรวงคมนาคม เพื่อเตือนใจให้คนหันมาให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยมีข้อความของแม่ที่บอกว่า “อย่าได้ส่งข้อความหาคนที่คุณรัก ขณะขับรถ เพราะมันจะเปลี่ยนชีวิตเขาและคุณไปตลอดกาล

ลิสท์...กล่าวสั้นว่าๆ ...หากคุณได้รับข้อความ ขณะขับรถ อย่าได้แม้หันไปมองมัน มันไม่คุ้มกับสิ่งที่เสียไปเลย

เป็นหนึ่งในต้นตอของการหย่าร้าง

นับตั้งแต่มือถือที่ทำหน้าที่เพียงรับสายและโทรออกเพียงอย่างเดียว ได้ถูกพัฒนาก้าวหน้าขึ้นมาเป็นโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนได้กลายเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของคนเราในยุคปัจจุบัน เป็นคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่ขนาดย่อมที่ให้ความสะดวกความสบายอย่างครบสูตร ทั้งให้สาระและความบันเทิงในแบบเรียลไทม์  จึงเป็นที่มาของปัญหายุคใหม่ที่เรียกว่าสังคมก้มหน้าและที่สำคัญกำลังกลายเป็นต้นตอของปัญหาหย่าร้างโดยพบว่าสถิติหย่าร้างสูงขึ้นเรื่อยๆ จนน่าตกใจบางคู่แต่งงานกันไม่ถึง 1 ปี ก็เกิดการหย่าร้าง

 

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สถิติการหย่าร้างของครอบครัวไทยยุคใหม่ค่อนข้างเปราะบางและมีความน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะปัญหาการหย่าร้างที่สูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2555 มีผู้จดทะเบียนสมรสใหม่ทั่วประเทศจำนวน 314,338 คู่และมีคู่สมรสเก่าจดทะเบียนหย่า 111,377 คู่คิดเป็น 35% ของคู่ที่จดทะเบียนสมรสใหม่นอกจากนี้ การจดทะเบียนหย่าร้างถือว่าเพิ่มสูงกว่าช่วง 9 ปีที่ผ่านมาถึง 27% โดยในปี 2546 มีผู้จดทะเบียนสมรส 328,356 คู่แต่มีคู่สมรสเก่าจดทะเบียนหย่า 80,836 คู่

1.ความตรึงเครียด

ปัจจัยพื้นฐานที่เป็นสาเหตุของการหย่าร้าง ประการแรกมาจากผลกระทบความมั่นคงในครอบครัวโดยเฉพาะสามีและภรรยาซึ่งเป็นคนตั้งต้นครอบครัวใหม่ ได้รับแรงกดดันมาจากการใช้ชีวิตภายนอกครอบครัว โดยเฉพาะความตึงเครียดจากสภาพการทำงานมีมากขึ้น เมื่อกลับมาสู่ครอบครัวต่างมีความตึงเครียดกลับเข้ามาด้วย หากไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งได้ ก็จะนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง และทำให้ชีวิตครอบครัวยุติลง

2.ความอดทนของคนยุคปัจจุบันน้อยลง

มาจากต่างฝ่ายต่างพึ่งพาตนเองได้ มีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งคู่ชีวิตอีกคน ความอดทนจึงน้อยลง

ผลที่เกิดขึ้นหลังจากหย่าร้างกันของสามีภรรยา ส่วนใหญ่จะพบว่ามีการเลี้ยงดูบุตรหลานด้วยตนเองเพียงลำพัง หรือครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมากขึ้น ซึ่งสร้างปัญหาตามมา เนื่องจากเด็กต้องการความอบอุ่นจากทั้งพ่อและแม่มากกว่าต้องการจากพ่อหรือแม่เพียงคนเดียว ทำให้แม้ทั้งสองคนจะตัดสินในการยุติบทบาทสามีภรรยา แต่ก็ยังต้องคงบทบาทความเป็นพ่อแม่ของลูกคงเดิม เนื่องจากพื้นฐานลูกยังคงต้องมีพ่อและแม่เสมอ

นอกจากนี้แล้ว จากรายงานจากผลการสำรวจมาจากต่างประเทศว่าสังคมก้มหน้าที่เกิดในคู่สามีภรรยาหรือคู่หนุ่มสาว มีโอกาสเลิกลาหรือหย่าร้างถึง 7เปอร์เซ็นต์ โดยได้ยกตัวอย่างที่เป็นกรณีศึกษาน่าสนใจดังนี้

1.เข้านอนไม่กอดกัน แต่กอดมือถือแทน

ลางบอกเหตุที่ทำให้คู่รักแตกแยกเริ่มจาก ข้อสังเกตที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมพูดจา จดๆจ้องๆบนหน้าโทรศัพท์มือถือตลอดทั้งวัน โดยที่ไม่สนใจบุคคลรอบข้างที่อาศัยอยู่ด้วยกัน

 

2. ละเลยความรู้สึกของฝ่ายตรงข้าม

ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดละเลยความรู้สึก  กรณีที่ฝ่ายหนึ่งประสบปัญหาไม่ว่าเรื่องส่วนตัวหรือหน้าที่การงานที่ต้องอาศัยกำลังใจ ความเห็นใจ เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ กลับถูกเพิกเฉยใส่ใจความรู้สึกซึ่งกัน  จึงเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องหันหน้าไปพึ่งเพื่อนคุยทางออนไลน์ยุดใหม่ เช่น facebook line ที่เข้าใจความรู้สึกของตนแทน

นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญยังให้คำแนะนำในการป้องกันและแก้ไขปัญหาของคู่รักที่อยู่ในสังคมก้มหน้า เอาไว้ดังนี้คือ หมั่นสังเกตความรู้สึกของฝ่ายตรงข้าม พูดคุยให้กำลังใจ ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป ในยามว่างวันหยุดเสาร์-อาทิตย์  ปิดโทรศัพท์มือถือ(ถ้าเป็นไปได้)  หากิจกรรมที่ทำร่วมกัน เช่นทำกับข้าว ตกแต่งบ้าน ปิกนิค เดินเล่นสวนสาธารณะ  รับฟังและพูดคุยกันอยู่เสมอ 

วิธีป้องกันไม่ให้คู่รักต้องหย่าร้าง

1.หันหน้าเข้าหากัน คุยกันมากขึ้น ต้องไม่ใช้อารมณ์ในการแก้ไขปัญหาครอบครัว เพราะจะยิ่งสร้างความขัดแย้งให้ลุกลามมากขึ้น

2.ต้องยอมรับและรับผิดชอบในบทบาทและหน้าที่ของกันและกัน ทั้งภายในครอบครัวและนอกครอบครัวอย่างเหมาะสม สมดุล รวมถึงต้องรู้จักจัดการแก้ปัญหาโดยไม่ใช้อารมณ์เป็นหลัก.