In Thailand

ในหลวงได้พระราชทานน้ำหลวงสรงศพ แด่พระครูกาญจนสุทธิคุณ-กาญจนบุรี



กาญจนบุรี-พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ พร้อมเครื่องเกียรติยศประกอบศพ พระครูกาญจนสุทธิคุณ (หลวงพ่อโจละ เขมจาโร) ลาภะสันติวงศ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ที่วัดศรีสุวรรณ  ตำบลหนองลู  อำเภอสังขละบุรี  จังหวัดกาญจนบุรี พระเทพปริยัติโสภณ(ปัญญา วิสุทธิปญฺโญ ป.ธ.๙,ดร.) เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี และเจ้าอาวาสวัดไชยชุมพลชนะสงคราม พระอารามหลวง (วัดใต้) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ เนื่องในพิธีพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ พระครูกาญจนสุทธิคุณ (หลวงพ่อโจละ เขมจาโร) อายุ ๙๑ พรรษา ๖๓ อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบลไล่โว่ และอดีตเจ้าอาวาสวัดศรีสุวรรณ ณ วัดศรีสุวรรณ  ตำบลหนองลู  อำเภอสังขละบุรี  ซึ่งได้มรณภาพด้วยโรคชราภาพ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2567 ณ โรงพยาบาลสังขละบุรี

ขณะที่พระมหาสุชาติ สิริปัญโญ เจ้าคณะอำเภอสังขละบุรี เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม  พระครูวรกาญจนโชติ เจ้าคณะอำเภอทองผาภูมิ เจ้าอาวาสวัดปรงกาสี  พระสงฆ์จากในพื้นที่อำเภอสังขละบุรี เข้าร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียง 

โดยมีนายสุริยะศักดิ์ เหมือนอ่วม นายอำเภอสังขละบุรี เป็นประธานในพิธี และเป็นประกอบพิธีอัญเชิญน้ำหลวงสรงศพ ซึ่งพิธีดังกล่าว มีข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ที่เลื่อมใสศรัทธาในจาริยาวัตรปฎิบัติของพระครูกาญจนสุทธิคุณ(หลวงพ่อโจละ เขมจาโร)เดินทางมาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก 

พระครูกาญจนสุทธิคุณ (หลวงพ่อโจละ เขมจาโร) เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 13 กันยายน 2476 ที่บ้านนิเถะหรือนี่ไถ่ หมู่ที่1 ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี  บิดาชื่อนายซองย่า มารดาชื่อนางบ่อง บิดาท่านมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเกริงกระเวีย ส่วนมารดาเป็นชาวบ้านนิเถะ(นี่ไถ่) ประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา ส่วนคุณตาท่านนั้นพื้นเพเดิมเป็นคนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก  ยายท่านเป็นคนนิเถะ(นี่ไถ่)

พระครูกาญจนสุทธิคุณ มีพี่น้องทั้งหมด 4 คน เป็นผู้ชาย3 คน ผู้หญิง1 คน โดยท่านเป็นบุตรคนที่3 (พี่น้องท่านได้เสียชีวิตไปหมดแล้ว) ในวัยเด็กท่านได้ช่วยเหลือพ่อแม่ทำไร่ ทำนา และเลี้ยงวัวเลี้ยงตามประสาเด็กบ้านนอก เมื่อท่านอายุได้ 15 ปี บิดา มารดา ท่านได้เสียชีวิตลง จึงได้มาอาศัยอยู่กับคุณอามะเย็ง และได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่บ้านนิเถะหรือนี่ไถ่ โดยมีหลวงพ่อละทุงเป็นผู้บวชให้ บวชเป็นสามเณรได้ 1 พรรษาจึงได้ลาสิกขาออกมาช่วยคุณอามะเย็งประกอบอาชีพ

ในวัยเด็ก เด็กชายโจละ ได้รับการศึกษาการอ่าน การเขียนภาษาไทยจากคุณตา (นายแก้ว)เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียน ต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง คือเรียนกับคนในครอบครัวหรือกับพระภิกษุที่วัด นอกจากนั้นเด็กชายโจละ ยังได้ศึกษาภาษากะเหรี่ยงและภาษามอญ จากพ่อและแม่จนสามารถอ่านและเขียนภาษากะเหรี่ยงและภาษามอญได้

ขณะเดียวกันในช่วงที่ได้บรรพชาเป็นสามเณร ท่านได้ศึกษาภาษาบาลีสันตกฤษ จากหลวงพ่อละทุงมี่วัดนิเถะหรือนี่ไถ่ นั่นเอง

จนกระทั่งมีอายุ ย่างเข้า 16 ปี ด้วยความใฝ่รู้ท่านจึงได้ขออนุญาตคุณตา คุณยาย เดินทางไปทำงานในตัวเมืองกาญจน์ เพื่อต้องการเรียนรู้โลกภายนอก และหาประสบการณ์ให้กับชีวิตตนเอง เนื่องจากตระหนักดีว่าบางสิ่งบางอย่างต้องเรียนรู้ และลงมือทำด้วยตนเองเพื่อที่จะได้มีประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตในภายภาคหน้า  เช่นการออกเดินทางไปทำงานในตัวเมือง ฯ จะได้มีโอกาสพบปะผู้คนมากหน้าหลายตา รวมทั้งได้ไปใช้ชีวิตในสถานที่ใหม่ๆ เพื่อเรียนรู้ในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและผู้คนที่คุ้นเคย ซึ่งท่านก็สามารถเรียนรู้ และปรับตัว จนสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมเมืองได้เป็นอย่างดี

จากการออกไปหาประสบการณ์ให้ตนเองในครั้งนั้น ส่งผลให้นายโจละได้เรียนรู้วิชาการต่างๆ อาทิ ความรู้ในวิชาช่างไม้ ช่างซ่อมวิทยุ และอื่นๆ (เท่าที่ผู้เขียนได้มีโอกาสประสบเจอ ท่านสามารถซ่อมวิทยุได้ ด้านงานช่างไม้นั้น ท่านก็สามารถนำความรู้มาใช้ในการก่อสร้าง ซ่อมแซม วัดวาอารามได้เป็นอย่างดี) จากประสบการณ์ในครั้งนั้นมีผลทำให้ท่านมีจิตใจที่เข้มแข็ง กล้าตัดสินใจ และมีความเป็นผู้นำสูง

หลังจากออกไปหาประสบการณ์ชีวิตในเมืองได้ 3-4 ปี ท่านก็ได้เดินทางกลับมาอยู่ที่บ้านนิเถะ(นี่ไถ่) กลับมาช่วยคุณอา คุณตา คุณยายประกอบอาชีพ จนกระทั่งอายุได้ 24 ปี (พ.ศ.2500) จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดนิเถะ(นี่ไถ่) หมู่ที่ 1 ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี  โดยมีนายสุเทพ สาลี อดีตผู้ใหญ่บ้านหนองโป่งโด่ง ตำบลปรังเผล อำเภอสังขละบุรี  จังหวัดกาญจนบุรี เป็นผู้อุปถัมภ์ และเป็นเจ้าภาพในการบวช  

โดยมีหลวงพ่ออุตตมะ เป็นพระอุปัชฌา เมื่อท่านได้บวชเป็นพระภิกษุ ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดนิเถะ(นี่ไถ่) 1พรรษา จากนั้นจึงได้ออกเดินธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อแสวงหาความรู้ ปฎิบัติธรรมตามคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อมาได้ไปจำพรรษาที่วัดหัวโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เป็นเวลา 2 พรรษา ในเวลาต่อมาได้มาศึกษาธรรมที่วัดไชยชุมพลชนะสงคราม(วัดใต้) อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี อีก1พรรษา  

หลังจากนั้นท่านได้เดินทางกลับมาอยู่ที่วัดนิเถะ(นี่ไถ่) หมู่ที่ 1 ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จนถึงปัจจุบัน 
สมณศักดิ์ที่ได้รับการแต่งตั้งเมื่อปี พ.ศ.25026 รักษาการเจ้าอาวาสวัดนิเถะ(นี่ไถ่) หมู่ที่ 1 ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหัดกาญจนบุรี
วันที่ 1 กันยายน 2512 ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าคณะอำเภอสังขละบุรี ดำรงตำแหน่งพระใบฎีกา ฉายาพระอุดร เขมจาโร อายุได้ 28 พรรษา (พรรษาที่ 8)
วันที่17 มกราคา 2514 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีสุวรรณ คือพระใบฎีกาอุดร ฉายาเขมจาโร อายุ 31 พรรษา(พรรษาที่10) วิทยฐานะนักธรรมตรี
วันที่ 23 มีนาคม 2520 ได้รับการแต่ตั้งให้เป็นพระคู่สวด โดยเจ้าคณะจังหวัดเป็นผู้แต่งตั้ง วันที่ 26 มีนาคม – ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ให้เป็นพระอุดร เขมจาโร อายุ 40 พรรษา(พรรษาที่17)เป็นฐานานุกรมในตำแหน่งพระครูสังฆรักษ์อุดร เขมจาโร
วันที่ 5 ธันวาคม 2521 ได้รับการแต่งตั้งพระครูใบฎีกาอุดร เจ้าอาวาสวัดศรีสุวรรณ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เป็นพระครูกาญจนสุทธิคุณ วันที่ 26 มิถุนายน 2528 ได้รับการแต่งตั้งพระครูกาญจนสุทธิคุณ ฉายา เขมจาโร อายุ 50 พรรษา(พรรษาที่ 24)เจ้าอาวาสวัดศรีสุวรรณ ให้เป็นเจ้าคณะตำบลไล่โว่ วิทยฐานะ นักธรรมเอก วันที่ 5 ธันวาคม 2535 ได้รับการแต่งตั้งจากมหาเถรสมาคม เป็นพระครูสัญญาบัตร ได้เลื่อนชั้น พระสังฆาธิการ ตำแหน่งเจ้าคณะตำบล ชั้นตรี เป็น ชั้นโท

ผลงานที่ทำไว้
1.สร้างศาลาการเปรียญในเขตพื้นที่ตำบลหนองลู  และตำบลไล่โว่ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน
2.สร้างและซ่อมแซมปฎิสังขรณ์ วัด เจดีย์ เมรุ และศาลาสวดพระอภิธรรม ตลอดทั้งกุฎิแม่ชี
3.สร้างวัดจนได้รับเป็นพระพัฒนาของชาวอำเภอสังขละบุรี
4.สนับสนุนในการฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่น และอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น
5.สร้างศาลาพิพิธภัณฑ์เพื่อเก็บรวบรวมของเก่า ไว้ให้ชนรุ่นหลงได้ศึกษา

พระครูกาญจนสุทธิคุณ (หลวงพ่อโจละ) เจ้าอาวาสวัดศรีสุวรรณ นับเป็นพระพัฒนารูปหนึ่งของชาวอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาท่านได้สร้าง บูรณะซ่อมแซม ปฎิสังขรณ์วัดวาอาราม เจดีย์ และอื่นๆมากมายโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ตั้งแต่ท่านยังไม่ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีสุวรรณ จนได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสด้วยอุปนิสัยไม่ถือตัวส่งผลให้ท่านเป็นเคารพเลื่อมใสของชาวอำเภอสังขละบุรีเป็นอย่างมาก

สนั่น-กรกนก ศิลปะขจร /กาญจนบุรี