In Thailand

ชาวพุทธกว่า2พันคนร่วมถวายผ้าพระกฐิน วัดพุทธนิมิต(ภูค่าว)ที่สหัสขันธ์



กาฬสินธุ์-มวลชนกว่าพันร่วมถวายบุญกฐินวัดท่องเที่ยวชื่อดังสหัสขันธ์มวลชนกว่า 2,000 คน ร่วมถวายบุญกฐินวัดพุทธนิมิต(ภูค่าว) วัดท่องเที่ยวชื่อดังของอำเภอสหัสขันธ์  ส่งผลให้โรงแรม ที่พัก ร้านอาหารและแหล่งท่องเที่ยวเนื่องแน่น 

ที่วัดพุทธนิมิต (ภูค่าว)  ต.สหัสขันธ์ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์  พุทธศาสนิกชนและมวลชนกว่า 2,000 คน เดินทางมาร่วมทำบุญทอดกฐิน ประจำปี 2567  โดยมีพระอาจารย์ณรงค์  ชยมงฺคโล  เจ้าอาวาสวัดพุทธนิมิต(ภูค่าว) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์  ท่านผู้หญิง ม.ร.ว.ฉัตรแก้ว  นันทาภิวัฒน์ (ดิศกุล)  ท่านผู้หญิงหญิงพันธุ์วโรภาส  มหานนท์  ม.ร.ว.พิศาวาส ดนาควานิช (ดิสกุล)  พร้อมคณะ และมีนายสนั่น พงษ์อักษร  ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมเป็นประธานฝ่ายฆราวาส  ซึ่งเป็นงานบุญใหญ่ของอำเภอสหัสขันธ์ ที่มีประชาชนมาร่วมบุญจำนวนมากในทุก ๆ ปี  ที่ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและภาคธุรกิจการท่องเที่ยวให้คึกคัก ห้องพัก โรงแรม ถูกจองเต็ม และศรัทธาโรงทานอีกร้อยกว่าร้านร่วมบุญใหญ่

โดยปีนี้ทางวัดพุทธนิมิต(ภูค่าว) ได้กำหนดจัดกิจกรรมทำบุญทอดกฐิน ประจำปี 2567 ในวันที่ 18-19 ตุลาคม 2567  ได้จีดเตรียมพื้นที่รองรับมวลชนกว่า 2,000 มาร่วมบุญใหญ่  โดยยอดบุญกฐินจากผู้มีจิตศรัทธาทั้งหมด 1,198,774  บาท  โดยทางวัดจะนำมาเป็นปัจจัยพัฒนาและปรับปรุงวัดเพื่อรักษาให้เป็นพุทธสถานท่องเที่ยว ให้มั่นคงต่อไป  ซึ่งภายในวัดมีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งที่น่าสนใจและมีความสวยงานแฝงด้วยปริศนาธรรม  อาทิ พระมหาธาตุเจดีย์สังฆนิมิต  เจดีย์หินทรายทรง 8 เหลี่ยมเท่ากับคำสอนพระพุทธเจ้าในมรรค๘  สูง 80 เมตร เท่ากับพระชันษาของพระพุทธเจ้าก่อนสวรรคต  ยอดทองคำแท้ 30 กก.  คือบารมี 30 ทัศ เป็นต้น  นอกจากนี้อุโบสถไม้จากใต้เขื่อนลำปาว ที่สร้างขึ้นอย่างสวยงาม รวมถึง ลานพระใหญ่ 4 อิริยาบถ 

สำหรับวัดพุทธนิมิต หรือวัดภูค่าว  สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2475  กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียน พระพุทธไสยยาสน์พระนอนภูค่าว เป็น “วัตถุโบราณ” ในปี พ.ศ.2491 ซึ่งเป็นแห่งแรกของจ.กาฬสินธุ์   ซึ่งพระพุทธไสยยาสน์ภูค่าว เป็นพระพุทธรูปที่จำหลักในลักษณะนูนต่ำ บริเวณชะง่อนหน้าผา  หันเศียรไปทาง จ.นครพนม  ไม่มีเกตุมาลา พระเศียรหนุนทับต้นแขน โดยท่อนแขนที่หนุนพระเศียรไม่ได้ตั้งขึ้น พระหัตถ์ไม่รองรับพระเศียร  สันนิษฐานมีอายุกว่า 2,000 ปี โดยคาดว่าเป็นฝีมือช่างชาวบ้านที่ต้องการถวายเป็นพุทธบูชา “องค์พระธาตุพนม” ในปี พ.ศ.8