In Global

จีนตั้งเป้าเป็นมหาอำนาจของโลกด้าน อวกาศภายในปี2050



บนเส้นทางของการพัฒนาวิทยาศาสตร์อวกาศ จีนมีแผนในการดำเนินโครงการด้านการสำรวจอวกาศ และพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์อวกาศหลายโครงการ ล่าสุด หน่วยงานด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์ของจีน ได้แก่ องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration) องค์การอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมแห่งประเทศจีน (China Manned Space Agency) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์ (Chinese Academy of Sciences) เปิดเผยแผนโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์อวกาศ เพื่อเป็นผู้นำของโลกด้านวิทยาศาสตร์อวกาศ ภายในปี 2050

แม้ว่า จีนจะเข้าสู่โครงการพัฒนาด้านอวกาศหลังสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นหลายทศวรรษ แต่จีนทุ่มเทกับการศึกษาวิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์อวกาศอย่างต่อเนื่อง จนทำให้จีนสร้างประวัติศาสตร์ด้านอวกาศได้สำเร็จหลายภารกิจ เช่น การสร้างสถานีอวกาศของจีน ความสำเร็จของภารกิจฉางเอ๋อ-6 ในการเก็บตัวอย่างดินจากด้านไกลของดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นประเทศแรกของโลก นอกจากนี้ ภารกิจด้านอวกาศหลายภารกิจ เช่น การพัฒนาดาวเทียมสื่อสาร ดาวเทียมสำรวจ ยังช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วย

แผนโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์อวกาศนี้ มีประเด็นสำคัญ 17 เรื่อง ที่จีนจะขับเคลื่อน เช่น การศึกษาต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของจักรวาล การศึกษาเรื่องธรรมชาติของแรงโน้มถ่วง การสำรวจกลศาสตร์ควอนตัม (Quantum Mechanics) เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติในระดับอะตอมหรือที่เล็กกว่าอะตอม และทฤษฎีสัมพันธภาพ

ในรายละเอียดของแผนโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์อวกาศระยะยาว แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ

ช่วงที่ 1 นับตั้งแต่ปัจจุบัน-ค.ศ. 2027 มีการพัฒนาโครงการด้านวิทยาศาสตร์อวกาศ 5-8 โครงการ

ช่วงที่ 2 ปีค.ศ. 2028-2035 มีการพัฒนาโครงการด้านวิทยาศาสตร์อวกาศ 15 โครงการ เช่น การเปิดตัวสถานีวิจัยบนดวงจันทร์แบบถาวร เพื่อทำให้จีนเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำของโลกในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์อวกาศ

ช่วงที่ 3 ปีค.ศ. 2036-2050 มีการพัฒนาโครงการด้านวิทยาศาสตร์อวกาศ 30 โครงการ เพื่อทำให้จีนขึ้นเป็นมหาอำนาจด้านวิทยาศาสตร์อวกาศ ภายในปีค.ศ. 2050

ในแผนโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์อวกาศนี้ ระบุถึงหัวข้อที่จะมีการศึกษา 5 หัวข้อ ได้แก่ ดาวเคราะห์ที่มนุษย์สามารถอาศัยได้ วิทยาศาสตร์กายภาพและชีวภาพในอวกาศ ปรากฏการณ์ระหว่างดวงอาทิตย์และโลก แรงกระเพื่อมของกาลอวกาศ (space-time ripples) และ กำเนิดจักรวาล

มีโครงการด้านวิทยาศาสตร์อวกาศที่นักวิจัยจีนมีแผนศึกษาหลายโครงการ เช่น โครงการสำรวจดาวเคราะห์ และการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตทั้งในและนอกระบบสุริยะ การกำหนดลักษณะชั้นบรรยากาศ การสํารวจดาวอังคารและดาวพฤหัส ทฤษฎีแรงโน้มถ่วงกับผลกระทบของกาลอวกาศ หลุมดำยักษ์หรือหลุมดำมวลยิ่งยวด กําเนิดและวิวัฒนาการของเอกภพ กําเนิดของดาวฤกษ์และธรรมชาติของสสารมืด

ตามแผนฯ จีนยังมีภารกิจอวกาศที่สำคัญ ได้แก่ การเปิดตัวสถานีวิจัยบนดวงจันทร์แบบถาวร ภารกิจพัฒนายานสำรวจดวงจันทร์ ฉางเอ๋อ-7 และ ฉางเอ๋อ-8 ภารกิจเทียนเวิ่น-2 เพื่อสำรวจดาวอังคาร และ ภารกิจเทียนเวิ่น-3 เพื่อเก็บตัวอย่างดินจากดาวอังคาร

แผนโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์อวกาศนี้ ทำให้จีนทุ่มเทและทุ่มทุนกับการศึกษา วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของการเป็นมหาอำนาจด้านอวกาศภายในปีค.ศ. 2050 หรือ อีก 25 ปีข้างหน้า

บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย

ภาพ : CGTN