In Bangkok

กทม.ส่องสถานการณ์โรคติดต่อในพื้นที่ สร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า10เขต



กรุงเทพฯ-(21 ต.ค. 67) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 4/2567 ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เขตพระนคร โดยมี พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์

ในที่ประชุม สำนักอนามัย รายงานสถานการณ์โรคติดต่อที่สำคัญ ดังนี้  สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ ม.ค. - ต.ค. 67 มีค่าเฉลี่ยมากกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนฤดูกาล และการระบาดเป็นกลุ่มก้อนของโรคไข้หวัดใหญ่ ส่วนใหญ่พบในโรงเรียน ทั้งนี้ ยังคงแนะนำกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง ล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย และพบแพทย์หากมีไข้สูงนานเกิน 3 วัน

โรคไข้เลือดออกใน กทม. จากข้อมูลวันที่ 1 ม.ค. – 5 ต.ค. 67 มีผู้ป่วยสะสมจำนวน 3,945 คน ช่วงอายุที่ป่วยมากที่สุดได้แก่ 15-34 ปี ทั้งนี้ กทม. ได้ดำเนินการสุ่มสำรวจลูกน้ำยุงลายในหมู่บ้าน ชุมชน สถานศึกษา ศาสนสถาน และเนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่อยูในช่วงวัยทำงาน กทม. จึงเพิ่มการสำรวจในสถานประกอบการ สถานพยาบาล สวนสาธารณะ และสถานที่ราชการเพิ่มเติม และจะมีการสุ่มสำรวจต่อไปอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ กทม. มีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีเกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ โดยมีการประชุมติดตามทุก 2 สัปดาห์ และ Big Cleaning ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยดำเนินการแล้ว 3,930 ชุมชม ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้เน้นย้ำถึงการสุ่มสำรวจลูกน้ำยุงลาย ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจให้ถี่ขึ้นในสถานที่ที่อยู่ในความดูแลของกทม. อาทิ สถานพยาบาล สวนสาธารณะ โรงเรียน และขอความร่วมมือหน่วยงานอื่น ๆ ในการร่วมสุ่มสำรวจเพิ่มเติม

สถานการณ์โรคลีเจียนแนร์ ในพื้นที่กทม. โรคนี้เป็นโรคที่พบไม่บ่อย โดยที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2550 พบผู้ป่วยไม่เกิน 10 ราย แต่ในปี 2567 พบผู้ป่วยถึง 20 ราย พบมากที่สุดที่เขตวัฒนา จำนวน 11 ราย เขตคลองเตย และเขตห้วยขวาง ตามลำดับ เป็นผู้ป่วยชาวต่างชาติ 18 ราย ชาวไทย 2 ราย ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่สอบสวนโรค ได้มีการแนะนำมาตรการแนวทางการจัดการคุณภาพน้ำในอาคารสูงของกรมอนามัย และได้มีการจัดอบรมผู้ประกอบการโรงแรมในพื้นที่ที่พบผู้ป่วย 

สถานการณ์โรคโควิด-19 ใน กทม. วันที่ 13 - 19 ต.ค. 67 มีผู้ป่วยรายใหม่ 1,430 ราย ผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค.67 จำนวน 192,515 ราย ทั้งนี้คาดว่าโควิด-19 จะระบาดอีกครั้งในช่วงปลายปีเนื่องจากอุณหภูมิที่เย็นลงและเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว ในส่วนโรคฝีดาษวานร ข้อมูล ณ วันที่ 21 ต.ค. 67 ผู้ป่วยสะสม จำนวน 452 ราย พบมากที่สุดในเขตจตุจักร เขตดินแดง และเขตบางกะปิ ตามลำดับ  ทั้งนี้ สถานการณ์สามารถควบคุมได้ ไม่มีการระบาด แต่ยังคงต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์โรคติดต่อที่สำคัญอื่น ๆ อาทิ โรคติดต่อเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคไข้หูดับ และโรคไอกรน 

จากนั้นที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์โรควัณโรค และคำสั่งคณะกรรมการพัฒนาระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมวัณโรคของกรุงเทพมหานคร ตามยุทธศาสตร์การยุติปัญหาวัณโรคขององค์การอนามัยโลก ซึ่งกทม. นำมาปรับใช้ โดยผลการดำเนินงานของ กทม. ปัจจุบันยังคงค่อนข้างห่างจากเป้าหมาย 90% แรก คือการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษา กทม. ยังค้นหาและนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาได้เพียง ร้อยละ 76.18 ส่วน 90% ที่สอง คือการค้นหาผู้ป่วยวัณโรค ในกลุ่มประชากรเปราะบาง (กลุ่มคนไร้บ้าน กลุ่มชายขอบ) ให้เข้าถึงการวินิจฉัยและรักษา ซึ่งการเก็บข้อมูลในกลุ่มนี้ค่อนข้างยาก เนื่องจากประชากรกลุ่มนี้อาจจะไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ปัจจุบันดำเนินการสำรวจที่อยู่ของประชากรกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ กทม. ว่ามีจุดใดบ้างที่จะมีกลุ่มประชากรเปราะบาง เพื่อที่จะได้ดำเนินการคัดกรองเชิงรุก และนำเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป 90% ที่สาม หมายถึง ผลสำเร็จของการรักษาผู้ป่วยวัณโรคที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในโปรแกรมรายงานข้อมูลวัณโรคของประเทศ (National Tuberculosis Information Program: NTIP)  ผลการดำเนินงานภาพรวม กทม. ทำได้ ร้อยละ 80.55 สำนักอนามัย ทำได้ ร้อยละ 94.29 ทั้งนี้ สำนักอนามัยได้มีมาตรการที่สำคัญเพื่อการยุติวัณโรค ได้แก่ เร่งรัดการค้นหาผู้ป่วยวัณโรค การรักษาวัณโรคที่เป็นมาตรฐาน การค้นหาและรักษาผู้ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง และกำกับ ติดตาม นิเทศงาน

ในส่วนการผลักดันการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ ที่ผ่านมา กทม. มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมว ฝังไมโครชิปและจดทะเบียนสุนัข การบริหารจัดการศูนย์ควบคุมและพักพิงสุนัข ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันมีพื้นที่เขตที่ไม่พบโรคพิษสุนัขบ้ามาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี จำนวน 48 เขต ทั้งนี้ การสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า จะมีการดำเนินการใน 10 เขตนำร่อง พื้นที่ท่องเที่ยว ได้แก่ เขตพระนคร เขตดุสิต เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตปทุมวัน พื้นที่เคยพบโรคฯ ได้แก่ เขตจตุจักร เขตพระโขนง เขตสะพานสูง พื้นที่พบโรคฯ ปี 2566 – 2567 ได้แก่ เขตลาดกระบัง และเขตหนองจอก