Authority & Harm
'พล.ต.ท.ประจวบ'ประชุม'Open Heart' บูรณาการทุกภาคส่วนปราบการค้ามนุษย์
กรุงเทพฯ-วันนี้ (22 ตุลาคม 2567) เวลา 09.30 น. พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร.(มค)/ผอ.ศพดส.ตร.) เข้าร่วมประชุมเปิดใจ “Open Heart” : ยกระดับงานต่อต้านการค้ามนุษย์ของประเทศไทย เพื่อรับฟังข้อเสนอจากภาคประชาสังคมและข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ , นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน , นางสาวอรนุช ภักดีวิสุทธิพร รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีค้ามนุษย์ , พล.ต.ต.ศารุติ แขวงโสภา ผู้บังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ และผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (พม., มท., รง., กต., ทท., กษ., ศย., อส., ศรชล., DSI, สตม., สถานแรกรับฯปากเกร็ด และสถานคุ้มครองฯ ภาครัฐ 8 แห่ง พร้อมหน่วยงานภาคเอกชนอื่นๆ NGOs) กว่า 21 หน่วยงาน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมประชาบดี ชั้น 19 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ตามนโยบายรัฐบาลที่ตระหนักและให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการกระทำผิดเกี่ยวกับเด็ก สตรี ครอบครัว การป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์และภาคประมง ซึ่งได้มีการกำหนดไว้ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยมุ่งหวังให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติภายใต้การนำของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. ได้นำนโยบายรัฐบาลมาสู่การปฏิบัติ โดยได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. รรท.รอง ผบ.ตร.(มค)/ผอ.ศพดส.ตร. ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้บรรลุผลสำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ทั้งนี้ พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวว่า ในห้วงที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้หารือและตรวจการลักลอบใช้แรงงานผิดกฎหมายในภาคประมง ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร สร้างให้เป็น “สมุทรสาครโมเดล” ปราศจากการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานในภาคประมง เพื่อให้แนวโน้มการกระทำความผิดประเภทนี้ลดลง อีกทั้งยังร่วมกันรับฟังสภาพปัญหาของผู้ประกอบการและแรงงานภาคประมง ซึ่งได้เสนอความต้องการให้ทางราชการปรับลดขั้นตอนการตรวจอนุญาตให้มีการตรวจเอกสารเพียงฉบับเดียว ลดความยุ่งยาก สิ้นเปลืองและเอกสารสูญหาย นอกจากนี้ ยังได้จัดชุดปฏิบัติการ TICAC จับกุมการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต โดยในปี 2566 จับกุมได้ 541 คดี และในปี 2567 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 จับกุมได้ 314 คดี ซึ่งอาชญากรรมประเภทนี้ เปลี่ยนรูปแบบจากออนไลน์เป็นออฟไลน์มากขึ้น มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้รับฟังความคิดเห็น ปัญหา ข้อเสนอแนะ ร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคม (NGOs) กรณีการใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังประเทศที่ 3 หรือประเทศเพื่อนบ้าน ในการตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ และร่วมกระทำความผิดขบวนการแก๊ง Call Center พร้อมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจเข้า-ออกราชอาณาจักร และกำชับให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง , ตำรวจภูธรภาค 2-9 และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งมีพื้นที่ติดแนวชายแดน กำหนดมาตรการคัดกรองคนต่างด้าวประเทศกลุ่มเสี่ยงในการเดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักร จัดทำแผ่นป้ายประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนผู้เดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักร 6 ภาษา ได้แก่ อังกฤษ จีน เมียนมา ลาว มลายู และไทย โดยให้ติดตั้งบริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองชายแดน และท่าอากาศยานระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการถูกหลอกลวงไปค้ามนุษย์ในต่างประเทศ ดำเนินการตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ หรือ NRM อย่างเคร่งครัด พร้อมฝึกอบรมให้ความรู้ในจริธรรมและเทคนิคของล่ามแปลภาษา และเปิดศูนย์คัดแยกและส่งต่อผู้เสียหายระดับชาติ อย่างเป็นทางการ โดยยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง
สำหรับแนวทางในการขับเคลื่อน เพื่อยกระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทยขึ้นสู่ Tier 1 ได้กำหนดนโยบายเน้นหนัก ได้แก่ การอบรมให้ความรู้แก่ข้าราชการตำรวจด้าน NRM เพื่อให้มีการขับเคลื่อนตามกลไก NRM เต็มรูปแบบ อบรมเพิ่มทักษะในการเก็บพยานหลักฐานทางดิจิทัล เพื่อมุ่งเน้นการปราบปรามผู้กระทำผิดออนไลน์ บังคับใช้กฎหมายในคดีค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ มุ่งเน้นให้มีการสืบสวนขยายผลไปยังตัวการ ผู้ซื้อบริการ หรือดำเนินการในการปิด Website หรือ Application ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ยกระดับการให้บริการล่ามแปลภาษาแก่ผู้เสียหาย ตลอดจนเพิ่มความเข้มในการตรวจเข้า-ออกราชอาณาจักร และประชาสัมพันธ์ผู้เดินทาง เพื่อมิให้ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ดำเนินการทางวินัยและอาญากับข้าราชการตำรวจที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์อย่างเด็ดขาด และเพิ่มการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ และองค์กรภาคประชาสังคม (NGOs) ในการร่วมกันในการแก้ไขปัญหา