In Bangkok
15พ.ย.นี้กทม.ชวนคนกรุงฯลอยกระทง งดกระทงขนมปัง-อาหารปลาบ่อเกิดน้ำ
กรุงเทพฯ-(22 ต.ค. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 12/2567 ณ ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เขตพระนคร โดยผู้ว่าฯ กทม. ได้กำชับให้คณะผู้บริหารติดตามกำกับดูแลโครงการก่อสร้างที่ยังค้างอยู่อย่างใกล้ชิด เนื่องจากหลายพื้นที่ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตของประชาชน รวมถึงได้เน้นย้ำให้หน่วยงานดำเนินการตามตัวชี้วัดอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
จากนั้นที่ประชุมได้รายงานถึงการจัดงานเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2567 ว่า ในปีนี้กำหนดจัดงานในวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ภายใต้แนวคิด “ลอยกระทง วิถีไทย ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ตามแนวทางของกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งมีการจัดกิจกรรม ณ คลองคูเมืองเดิม (คลองหลอด) เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กิจกรรมประกอบด้วย ลอยกระทงรักษ์โลก การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย จุดถ่ายภาพเช็กอิน การออกร้านส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนจาก 50 เขตของ กทม. และมีการจัดกิจกรรม AEON Presented “Eco - Lights of Tradition” Digital Loy Krathong Festival ในวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2567 เวลา 17.00 - 23.30 น. ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดยเป็นการจัดกิจกรรมภายใต้แนวคิดลอยกระทงอย่างสร้างสรรค์ รักษ์โลก ผ่านระบบดิจิทัล ภายในงานมีกิจกรรมประกอบด้วย Projector Mapping โดยฉายภาพขึ้นบนศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร การลอยกระทงดิจิทัล การประกวดหนูน้อยนพมาศ การประกวดคอสเพลย์ และการออกร้านจำหน่ายอาหาร
สำหรับมาตรการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนในช่วงเทศกาลลอยกระทงของกรุงเทพมหานคร หน่วยงานของกรุงเทพมหานครมีการดำเนินการ ดังนี้
● สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.)
ดูแลบริเวณท่าเรือ โดยได้มีหนังสือประสานสำนักงานเขตตรวจสอบความปลอดภัยท่าเรือ และลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกัน ทั้งนี้ จากการตรวจสอบท่าเรือปี 2567 ได้รับรายงาน 25 เขต จำนวน 161 ท่า มีสภาพใช้งานได้ 155 ท่า สภาพไม่พร้อมใช้งาน 6 ท่า สำหรับท่าเรือที่ใช้งานได้ปกติ ได้ติดตั้งป้ายเตือน/แจ้งพิกัดบรรทุกให้เห็นชัดเจน โดยคิดเป็น 1.2 คน ต่อ 1 ตร.ม. ตามคำสั่งกรมเจ้าท่า ส่วนท่าเรือที่มีสภาพไม่พร้อมใช้งาน ได้ติดป้ายแจ้งเตือน “ท่าเรือ/โป๊ะ ชำรุด ห้ามใช้งาน”
นอกจากนี้ ได้ตรวจสอบและซ่อมบำรุง CCTV ในสวนสาธารณะ โดยสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานครที่เปิดให้ลอยกระทง 34 แห่ง มีกล้อง 29 แห่ง รวม 1,189 กล้อง ไม่มีกล้อง CCTV 5 แห่ง และติดตั้ง CCTV บริเวณจัดงานลอยกระทง ได้แก่ พื้นที่ใต้สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด 101 กล้อง พื้นที่ริมคลองโอ่งอ่าง 21 กล้อง พื้นที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ตั้งแต่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาถึงหัวลำโพง 346 กล้อง
● สำนักเทศกิจ (สนท.)
จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจดูแลความปลอดภัยประชาชน ซึ่งบริเวณสะพานพระราม 8 ได้จัดเตรียมเรือตรวจการณ์ 4 ลำ จัดเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย พร้อมเสื้อชูชีพ ห่วงยาง เสื้อสะท้อนแสง กระบองไฟ ไฟฉาย ตั้งแต่เวลา 15.00 น. จนเสร็จสิ้นภารกิจ รวมทั้งจัดรถสายตรวจเทศกิจท่องเที่ยว (Segway) ตรวจตราความเป็นระเบียบเรียบร้อย บริเวณคลองผดุงกรุงเกษมและคลองโอ่งอ่าง โดยจัดเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย พร้อมเสื้อชูชีพ ห่วงยาง เสื้อสะท้อนแสง กระบองไฟ ไฟฉาย ตั้งแต่เวลา 15.00 น. จนเสร็จสิ้นภารกิจ
● สำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.)
เปิดให้ประชาชนเข้าไปลอยกระทงในสวนสาธารณะ จำนวน 34 แห่ง รวมพื้นที่ 22 เขต โดยได้ขอสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้ 1. สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สนับสนุนบอลลูนไลท์ 2. สำนักการจราจรและขนส่ง ตรวจสอบกล้อง CCTV 3. สำนักอนามัย จัดเตรียมหน่วยปฐมพยาบาล 4. สำนักงานเขต ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย 5. สถานีตำรวจนครบาลท้องที่ รักษาความปลอดภัย
นอกจากนี้ ได้มีการประชาสัมพันธ์ ห้ามจุดประทัด พลุ ดอกไม้ไฟ ห้ามปล่อยโคมลอย รณรงค์ไม่ใช้กระทงจากวัสดุโฟม รวมไปถึงกระทงขนมปังและอาหารปลาซึ่งเปื่อยยุ่ยง่าย จัดเก็บได้ยาก ส่งผลทำให้น้ำเน่าเสีย ต้องใช้เวลาฟื้นฟูสภาพน้ำนาน ประชาสัมพันธ์ห้ามดื่มและจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ภายในสวนสาธารณะ และกำชับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้ดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด
สำหรับการจัดเก็บกระทง สำนักสิ่งแวดล้อม จัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 8 ถึงสะพานพระราม 9 และสวนสาธารณะ ส่วนสำนักการระบายน้ำ จัดเก็บกระทงในคูคลองและบึงรับน้ำ และสำนักงานเขต จัดเก็บกระทงในพื้นที่จัดงานของเขต
ด้านการกำจัดกระทง จะมีการรวบรวมกระทงไปยังสถานีขนถ่ายมูลฝอยอ่อนนุช/หนองแขม/สายไหม กรณีกระทงที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติจะคัดแยกเข้าโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์หนองแขม ซึ่งเป็นการนำกระทงกลับมาใช้ประโยชน์และลดภาระค่าใช้จ่ายในการนำกระทงไปฝังกลบ
ทั้งนี้ สถิติการจัดเก็บกระทง ปี 2566 จัดเก็บกระทงได้จำนวนทั้งสิ้น 639,828 ใบ แบ่งเป็น กระทงวัสดุธรรมชาติ จำนวน 618,951 ใบ คิดเป็นร้อยละ 96.74 กระทงโฟม จำนวน 20,877 ใบ คิดเป็นร้อยละ 3.26
โดยมีสำนักสิ่งแวดล้อมได้มีข้อเสนอแนะในเรื่องของการส่งเสริมการลอยกระทงควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ลอยกระทงออนไลน์ ลอยกระทงร่วมกัน 1 ครอบครัว 1 กระทง และเลือกกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ขนาดเล็ก ใช้วัสดุไม่หลากหลาย เพื่อลดภาระในการคัดแยก
● สำนักการระบายน้ำ (สนน.)
ได้มีการตรวจสอบท่าน้ำ ท่าจัดเก็บขยะ ให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย จัดเตรียมอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำให้พร้อมใช้งานบริเวณจุดเสี่ยง และติดตั้งไฟส่องสว่างในบริเวณที่มีการจัดงานลอยกระทง
อีกทั้งยังดูแลเรื่องการจัดเก็บกระทง (พร้อมคัดแยกกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและกระทงโฟม) โดยจัดเจ้าหน้าที่ พร้อมเรือ รถบรรทุก ประจำหน่วยต่าง ๆ ดำเนินการจัดเก็บกระทงในคู คลอง บึง และแหล่งรับน้ำต่าง ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ จำนวน 1,180 คน เรือเก็บขยะ จำนวน 108 ลำ รถงับผักตบชวา จำนวน 6 คัน รถบรรทุกเทท้าย จำนวน 27 คัน พื้นที่ดำเนินการจัดเก็บกระทง ได้แก่ คลองสายหลัก 41 คลอง บึงรับน้ำ จำนวน 10 แห่ง และคูข้างถนนวิภาวดีรังสิต ทั้งนี้ การจัดเก็บกระทง ขยะ และเศษวัสดุ ในวันที่ 15 พ.ย. 67 จะเริ่มตั้งแต่เวลา 24.00 น. เป็นต้นไป จนถึงเวลา 05.00 น. ของวันรุ่งขึ้น พร้อมสรุปรายงานปริมาณและประเภทของกระทงที่เก็บได้
● สำนักการแพทย์ (สนพ.)
โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง มีการจัดหน่วยปฏิบัติการด้านการแพทย์ประจำกองอำนวยการร่วมฯ จำนวน 3 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 บริเวณใต้สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด (ฝั่งธนบุรี) ในวันที่ 15 พ.ย. 67 จุดที่ 2 บริเวณคลองโอ่งอ่าง ในวันที่ 15 พ.ย. 67 และจุดที่ 3 บริเวณคลองผดุงกรุงเกษม (ย่านหัวลำโพง) ระหว่างวันที่ 14 - 15 พ.ย. 67 รวมทั้งจัดหน่วยเรือกู้ชีวิตออกตรวจทางลำน้ำ จำนวน 2 จุด จุดที่ 1 สะพานพระราม 7 - สะพานพุทธ: เรือกู้ชีพ วชิรพยาบาล จุดที่ 2 สะพานพุทธ - สะพานพระราม 9: เรือกู้ชีพ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และมีโรงพยาบาลนำส่งผู้ป่วย ได้แก่ รพ.กลาง รพ.วชิรพยาบาล รพ.ตากสิน รพ.ศิริราช รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ นอกจากนี้ ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ดำเนินการเตรียมเจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุและประสานงานเพื่อจัดหน่วยปฏิบัติการในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เตรียมความพร้อมระบบสื่อสารทางวิทยุ ระบบ VHF และระบบ Digital Trunked Radio เตรียมพร้อมหน่วยปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินของศูนย์เอราวัณเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์ความปลอดภัยทางน้ำ กรมเจ้าท่า สปภ. สนท. ตำรวจน้ำ
● สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.)
จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในช่วงเทศกาลลอยกระทง เพื่อลดความเสี่ยงอันตรายจากการผลิต สะสม จำหน่าย การเล่นดอกไม้เพลิง และโคมลอยในเขตพื้นที่ กทม. จัดเจ้าหน้าที่พร้อมอุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์ช่วยชีวิต ประจำกองอำนวยการร่วมฯ จุดที่มีกิจกรรมลอยกระทง ดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน และบริเวณสวนสาธารณะ จำนวน 34 แห่ง สถานที่ละ 2 นาย พร้อมรถดับเพลิงและอุปกรณ์กู้ภัย
จัดเจ้าหน้าที่ 5 นาย พร้อมรถดับเพลิง รถกู้ภัย รถไฟฟ้าส่องสว่าง วิทยุสื่อสาร รวมทั้งอุปกรณ์ในการช่วยเหลือประชาชนประจำกองอำนวยการร่วมฯ จุดท่าเทียบเรือและโป๊ะ จัดเจ้าหน้าที่จุดละ 2 นาย พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิต เสื้อชูชีพ ห่วงยางช่วยชีวิต เชือกช่วยชีวิต ตามแนวลำน้ำเจ้าพระยา และจัดเรือดับเพลิงขนาด 38 ฟุต จำนวน 3 ลำ ดูแลความปลอดภัยตลอดลำน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระราม 9
โดยหลังวันลอยกระทง สปภ. จะรวบรวมและรายงานผลการปฏิบัติงาน และอุบัติภัยที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลลอยกระทงให้ผู้บริหารกรุงเทพมหานครทราบต่อไป
● สำนักงานประชาสัมพันธ์ (สปส.)
กำหนดสโลแกนการรณรงค์ “3 ปลอดมลพิษ 2 ปลอดภัย วิถีใหม่ลอยกระทง” โดย 3 ปลอดมลพิษ ได้แก่ ปลอด..กระทงขนมปัง (ห้ามลอยกระทงขนมปังในสระ/บ่อน้ำภายในสวนสาธารณะของ กทม.) ปลอด..วัสดุไม่ธรรมชาติ 100% (โฟม เข็มหมุด ตะปู ลวดเย็บกระดาษ) ปลอด..มลพิษอากาศ - ลดการใช้พลังงาน (ลดการเดินทาง ลอยกระทงในสวนสาธารณะใกล้บ้าน ลดการจุดธูป) และ 2 ปลอดภัย ได้แก่ ปลอดภัย..จากประทัด โคมลอย พลุ (ห้ามขาย ห้ามจุด ห้ามปล่อย) ปลอดภัย..จากโป๊ะ - ท่าเรือ (ตรวจความมั่นคง แข็งแรงและจัดเจ้าหน้าที่ดูแลประจำโป๊ะ - ท่าเรือ) รวมถึงย้ำ Key Message ที่เน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม