In Bangkok

สจส.นำร่องปรับกายภาพสถานีรถไฟฟ้า เอื้อคนชอบเดินชอบปั่นและปลอดภัย 



กรุงเทพฯ-(22 ต.ค.67) เวลา 13.30 น. ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) เขตพระนคร : นายไวทยา นวเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมนำเสนอผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ หน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และประชาชน ตามโครงการจัดทำแผนแม่บทกรุงเทพฯ เมืองเดินเท้าและจักรยานสัญจร เชื่อมต่อขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมและยั่งยืน พ.ศ.2567 - 2575 โดยกล่าวว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ได้ให้มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย ศึกษา ออกแบบ และทดลองปรับกายภาพเส้นทางสัญจรรอบสถานีรถไฟฟ้า 4 ย่านสถานี คือ 1. ย่านสุขุมวิท-พร้อมพงษ์ พื้นที่พาณิชยกรรม ศูนย์การค้า สำนักงานออฟฟิศ สถาบันการศึกษา (Central Business District) 2. ย่านสถานีสามยอด พื้นที่เมืองเก่า (Old town) 3. ย่านลาดพร้าว 71 ที่อยู่อาศัย ชุมชนเมือง 4. ย่านสถานีท่าพระ เมืองใหม่ (New Residential Zone) เชื่อมต่อที่ทำงานในเมืองกับที่อยู่อาศัยนอกเมือง ศูนย์กลางการเดินทางฝั่งธนบุรี โดยการออกแบบเส้นทางเดิน จักรยาน และสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทาง เช่น ป้ายจราจร สัญลักษณ์บอกทาง จากบ้าน ชุมชน ที่พักอาศัยมายังสถานีรถไฟฟ้า ท่าเรือ และจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทาง ให้สะดวก ปลอดภัย    

 
รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กล่าวเพิ่มเติมว่า ถือว่าเป็นการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ ภาคประชาสังคม และผู้คนในย่านสถานีนั้นๆ ทั้งการลงพื้นที่สำรวจกายภาพ การจัดประชุมรับฟังความเห็น และรับฟังข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อค้นหา ปัญหาอุปสรรค การเดิน การใช้จักรยาน และเน้นย้ำความต้องการของผู้คนในย่าน ยึดหลักวิชาการในการออกแบบ หากแต่ต้องยืดหยุ่นใช้ได้จริงในบริบทของย่านนั้นๆ นำมาซึ่งเส้นทางแต่ละย่าน ที่ต้องการปรับปรุง เช่น ย่านสามยอด ทดลองปรับปรุงถนนอุณากรรณ ย่านสุขุมวิท-พร้อมพงษ์ ปรับปรุงกายภาพเส้นหลัก คือ ถนนสุขุมวิท และถนนในซอย ย่านลาดพร้าว 71 ต้องการปรับปรุงซอยลาดพร้าว 71 ซอยนาคนิวาศ และย่านท่าพระ เส้นทางที่ต้องการให้ทดลองปรับปรุง คือ ซอยเลียบทางรถไฟ ซอยอิสรภาพ 23 เป็นต้น

ด้านนายศิลป์ ไวยรัชพานิช หัวหน้าโครงการ มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทยระบุว่า หลักการการออกแบบเส้นทางสำหรับคนเดิน คนใช้จักรยาน รวมถึงรูปแบบการสัญจรทางเลือกอื่นๆ คือ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ (Safety) เส้นทางควรมีความตรง (Directness) มีความเชื่อมโยงกันในย่าน (Coherence) มีความสบาย (Comfort) และน่าใช้ ดึงดูด (Attractiveness) ซึ่งการทดลองปรับปรุงกายภาพเส้นทางในแต่ละย่านสถานี ยึดหลักการออกแบบนี้ โดยความร่วมมือกับคณะผู้เชี่ยวชาญในแต่ละย่าน 

สำหรับการทดลองจะเริ่มช่วงเดือนพ.ย. 67 เป็นการทดลองปรับกายภาพอย่างง่าย ทดลองขีดสี ตีเส้น ตั้งกรวย ตั้งกระถาง ทดสอบลดเลนจราจร ทดลองจัดการทางแยก และจุดเสี่ยงในย่านต่างๆ เพื่อทำให้ยานยนต์วิ่งช้าลง เป็นต้น แนวคิดนี้ คือ แนวคิดการพัฒนาพื้นที่เชิงกลยุทธ์ หรือ Tactical Urbanism ที่โครงการนำปรับใช้ร่วมกับการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของผู้คนในพื้นที่  

สรุปผลของการศึกษาครั้งนี้ มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย จะได้จัดทำเป็นข้อเสนอต่อสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ระยะสั้น จะทำโครงข่าย เดิน/ปั่น ด้วยการทำ Tactical Urbanism ขีดสี ตีเส้น ติดตั้งป้าย และจุดจอดจักรยาน ระยะกลาง (3-5 ปี) โครงข่าย เดิน/ปั่น สิ่งก่อสร้าง การขยายและปรับปรุงทางเท้า การสร้างสะพาน/ทางลอด และระยะยาว (5-10 ปี) แนวทางการปฏิบัติงาน รูปแบบมาตรฐานการออกแบบโครงข่ายทางสัญจร