Think In Truth

วิเคราะห์ : 'วิกฤตพุทธศาสนา' ปัญหาเกิด จากอะไร...?  โดย: ฟอนต์ สีดำ



จากปรากฏการณ์ “ฅนตื่นธรรม” ที่ฆาราวาสได้ออกมาชี้แนะหรือสั่งสอนธรรมในพระพุทธศาสนา ที่ใช้วาจาที่ไม่สำรวม ที่สังคมมองว่าขาดความเหมาะสม แต่ก็มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเห็นด้วย เพราะการอธิบายหลักธรรมในพระพุทธสาสนาของ “ฅนตื่นธรรม” เป็นเนื้อหาที่ถูกต้อง การที่เขาใจวาจาที่ไม่สำรวมก็เพื่อที่จะทำให้สังคมฉุกคิดถึงความเป็นจริง ที่ไม่ยึดติดในตัวบุคคล ความคิดเห็นของสังคมแตกออกเป็นสองฝ่ายที่มีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย

หากจะมองในแง่ดี จากปรากฏการณ์นี้ คือการตรวจสอบความเข้มแข็งของพระพุทธศาสนา สามารถยืนอยู่ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม ด้วยหลักแห่งความเป็นเหตุเป็นผลได้จริงหรือไม่ ด้วยตัวของพระพุทธศาสนา หรือในแง่ร้าย ที่จะทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมถอย ศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาลดลง

ในมุมมองของผู้เขียนเอง ยังคงเชื่อมั่นและศรัทธาต่อหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ว่าเป็นสัจจธรรมที่ยังคงมีความเข้มแข็งมากพอที่จะยืนอยู่บนพื้นฐานแห่งหลักของความเป็นจริงอยู่เสมอ หลายคนก็อาจจะสงสัยว่า ถ้าหลักของพระพุทธสาสนาเป็นสัจจธรรม ที่เป็นจริงตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน ทั้งในความมืดมนและแสงสว่างอยู่นั้น ทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์แห่งความขัดแย้งทางแนวคิดของคนในสังคมไทย ที่คนทั้งโลกยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีผู้นับถือศาสนาพุทธซึ่งเป็นศาสนาแห่งปัญญามากที่สุด ต่อข้อขัดแย้งในปรากฏการณ์ของ “ฅนตื่นธรรม” นี้ทำไมจึงปล่อยให้เกิดปัญหาเชิงแนวคิดแห่งความแตกต่างได้

เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้มีหลักในการวิเคราะห์ตามผู้เขียนได้ทันซึ่งความคิดของผู้เขียน จึงเรียนกับท่านผู้อ่านว่าผู้เขียนใช้หลักการทางพระพุทธศาสนาในการวิเคราะห์ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ครับ จะไม่หยิบเอากลยุทธสามก๊ก หรือทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ หรือตรรกะทางอภิปรัชญาใดๆ มาเป็นหลักในการวิเคราะห์ โดยที่ผู้เขียนเองก็เข้าใจถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ มันเกิดขึ้นตามหลักอิทัปจจัยตา ที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นอนิจจังของโลก การวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ในช่วงเวลาปัจจุบัน ที่อาจจะมองจากพื้นฐานอดีตที่ผ่านมา ที่เป็นเหตุจากปัจจัยในอดีต จึงทำให้เกิดในปัจจุบัน และอนาคตเราอยากให้เป็นอย่างไร เราควรต้องร่วมกันสร้างปัจจัยเพื่อเป็นเหตุให้เกิดในอนาคตอย่างไร ซึ่งเป็นการใช้หลักอิทัปจจัยตาเป็นหลักในการวิเคราะห์เชิงระบบ เพื่อให้เข้าใจตรงกัน

และขอความกรุณาท่านผู้อ่านได้เข้าใจถึงเจตนาผู้เขียน ถึงแม้นผู้เขียนจะยกกรณีศึกษาจากบุคคลใด บุคคลหนึ่งขึ้นมาเป็นเหตุแห่งปัจจัยเชิงระบบ ไม่ได้หมายถึงผู้เขียนมีเจตนาที่จะเอากรณีบุคคลนั้นมาตำหนิ หรือกล่าวหาแต่อย่างใด หากแต่ขอใช้กรณีศึกษาที่เป็นเหตุการณ์มาเป็นต้นเรื่อง ในการทบทวนอดีตเพื่อทำความเข้าใจปัจจุบัน และเพื่อจะได้นำเสนอภาพอนาคตที่คนในสังคมโดยรวมมีความต้องการให้เป็นในยุคศิวิไลซ์ ว่าเราจะร่วมกันสร้างปัจจัยที่จะเป็นเหตุให้เกิดขึ้นในอนาคตร่วมกันอย่างไร??....

ก่อนอื่น ผู้เขียนขอทำความเข้าใจกับพระพุทธศาสนาในมุมมองของผู้เขียนก่อนว่า พระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาแห่งปัญญา ที่ยึดถือทางสายกลางเป็นหนทางแห่งการพ้นทุกข์ บนหลักการเรียนรู้และศึกษาด้วยกระบวนการไตรสิกขา ที่มีวิธีการหรือ Metodology แบบอริยสัจ ที่ประกอบด้วยทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรคมีองค์แปด ที่มีกระบวนการวิธีที่ศึกษาจากทุกข์ ที่มาแห่งทุกข์ และทางออกในการพ้นทุกข์หรือความสิ้นสงสัย โดยวินัยทางการศึกษาอย่างมีมรรคมีองค์แปด เป็นวินัยแห่งกระบวนการศึกษา เพื่อลดความลำเอียงหรือ Bias เชิงข้อสรุป

ในทางพระพุทธศาสนา ที่มีกระบวนการศึกษาในสามขึ้นตอน หรือ ไตรสิกขานั้น ประกอบด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา โดยศีลนั้น คือข้อมูลที่มีจุดเริ่มต้นจากทุข์ ที่เป็นทั้งข้อมูลพื้นฐานในอดีต และข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ทั้งข้อมูลเบื้องหน้า ข้อมูลเบื้องหลัง และข้อมูลเบื้องลึกที่ซับซ้อน สามธิ คือกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล ทดสอบสมมติฐาน ซ้ำหลายๆ ครั้งจนมั่นใจ จึงสรุปออกมาเป็นปัญญา ซึ่งปัญญานั้นจะเป็นทั้งความรู้ที่ได้รับ และการใช้ความรู้นั้นได้จริง จึงจะถึงว่าเป็นปัญญา หรือที่ทางพระพุทธศาสนาได้บัญญัติไว้ว่าเป็นทั้งปริยัติ และ ปฏิบัติ

ในอดีตที่ผ่านมา องค์กรทางศาสนาพุทธหรือคณะสงฆ์ ก็มีสภาวะแห่งความไม่ลงลอยกันในหมู่คณะสงฆ์ที่ยึดเอาปริยัติ และปฏิบัติเป็นหลักในแต่ละฝ่ายแห่งนิกาย จนทำให้เกิดมหานิกาย และธรรมยุติ เกิดขึ้นในดงผ้าเหลืองของศาสนาพุทธ ที่คนไทยมักถือเอาเป็นศาสนาประชาติ บนพื้นฐานแห่งความแตกต่างของนิกายในศาสนาพุทธ ก็มีการแตกความเชื่อออกไปในหลายความเชื่อ ทำให้ดงผ้าเหลืองมีสีเพิ่มขึ้นอีกหลายสี เช่น สีเหลืองกัก สีส้ม สีแดงเลือดนก สีเขียวขี้ม้า และสีอื่นๆ ตามเจ้าสำนักแห่งความเชื่อเป็นผู้กำหนด พิธีกรรมทางศาสนาพุทธก็เปลี่ยนกันไป ตามจุดประสงค์ของเจ้าสำนักเป็นผู้บรรญัติ บางสำนักก็ยึดเอาผีเป็นหลัก บางสำนักก็ยึดเอายักษ์เป็นจุดขาย บางสำนักก็ยึดเอาราหูเป็นจุดสนใจดึงคนไประบายความทุกข์บนพื้นฐานแห่งความงมงาย ที่พุทธสาสนานิกชนจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการเปลื้องทุกข์ของตน และสร้างความหวังของผู้หลงงมงาย จนเกิดธุรกิจบุญเกิดขึ้นในหลายสาขา ไม่ว่าธุรกิจงานวัด ที่รวบรวมเอาอาชีพนักเทศน์ อาชีพหมอผี อาชีพหมอดู อาชีพนักขาย และอื่นๆ ที่มีนักประมูลเข้ามาสัมปทานงานวัดในการจัดอีเวนต์ทางธุรกิจบุญเกิดขึ้นในวัด เหตุการณ์ในอดีตคงให้ข้อมูลได้ไม่หมด ก็ขอยกตัวอย่างของเหตุการณ์มาพอที่จะอ้างความเป็นข้อมูลในอดีตที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ที่รวมถึงธุรกิจหวยใต้ดินที่ลงทุนสร้างอีเวนต์ใบ้หวยในทุกรูปแบบเพื่อให้หวยดังในหลายตัว เพื่อที่จะได้ประกาศเป็นหวยอั้น แต่เจ้ามือหวยก็ยังคมรับซื้อแต่จ่ายครึ่งเดียว เพื่อลดความเสี่ยงต่อธุรกิจหวยใต้ดิน

ในขณะเดียวกัน สังคมดงผ้าเหลืองกลับสร้างความสำคัญทางปริยัติเพิ่มขึ้น ด้วยการประเมินความรู้ เพื่อวัดระดับความรู้และประกาศความรู้เป็นระดับ นักธรรม ซึ่งก็มีผู้ที่จบการศึกษาทางธรรมสูงสุด และได้รับการยกย่อง มีสถานะทางสังคมผ้าเหลือง ซึ่งนักธรรมเหล่านี้มักมีพลังทางการอธิบายต่สาธารณะสูง สามารถอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมตามหลักธรรมได้อย่างน่าเชื่อถือ แต่ในขณะเดียวกันนักธรรมเหล่านั้นกลับบกพร่องต่อการปฏิบัติตามหลักปริยัติที่ตนมีความรู้ และยังคงใช้หลักทางปริยัติ เพื่อรักษาพระธรรมวินัย ทั้งต่อตนเองและคณะสงฆ์ย่อย่อนลง จึงส่งผลต่อศรัทธาฆราวาสผู้เป็นพุทธบริษัท โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่แสดงบทบาทเป็นหมอพราหมณ์ เป็นหมอผี เป็นผู้วิเศษปลุกเสกเครื่องรางของขลัง ที่อ้างถึงพุทธคุณที่เกิดจากการปลุกเสกที่จะส่งผลดีต่อผู้ถือครอง

ความเชื่อที่คลาดเคลื่อนจากสัจจธรรม ถูกสร้างกระแสให้เกิดห่วงโซ่อุปทาน จนเกิดธุรกิจความงมงายกระจายออกไปในวงกว้างที่สร้างให้คนเกิดความสำเร็จทางธุรกิจความงมงายเหล่านี้เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่คนที่ถือครองสิ่งเหล่านั้น ไม่ประสบความสำเร็จในจำนวนมาก สังคมส่วนใหญ่จึงเกิดความสงสัยและเกิดแนวคิดแห่งความเข้าใจความจริงเกิดขึ้นอย่างปัจจุบัน ที่เกิดปรากฏการณ์คนตื่นธรรม เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

ปรากฏการณ์ของคนตื่นธรรม นี้จะยังคงอยู่ตลอดไป เพื่อสร้างพลังแห่งความจริงและความเชื่อใหม่ ที่จะมีผลต่อความเสื่อมถอยของพระพุทธศาสนาหรือไม่?...นั้น คำตอบคือไม่  เพราะศาสนาคือศาสนา ไม่ใช่สิ่งที่จะเสื่อมศรัทธาจากผู้นับถือสาสนาได้โดยง่าย หากพระธรรมหลักในพระพุทธศาสนายังคงเป็นความจริง สามารถพิสูจน์ได้ และอธิบายได้ เป็นหนทางแห่งการพ้นทุกข์ หรือหายสงสัยได้ ศาสนาพุทธจะยังคงอยู่ต่อไปอย่างนิรันดร์ แต่สิ่งที่จะเสื่อมไปนั้น คือผู้ที่อ้างในหลักธรรมของพระพุทธศาสนาได้อย่างน่าเลื่อมใส แต่การปฏิบัติในหลักธรรมหรือใช้หลักธรรมไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันไม่ได้ หรือได้น้อย หรือปฏิบัติในสิ่งที่พระธรรมบัญญัติเป็นสิ่งที่สร้างกิเลส ในขณะที่พระธรรมบัญญัติให้ใช้เพื่อการละกิเลส ก็จะถูกสังคมติเตียน หรือวิจารณ์ เมื่อผู้ถูกติเตียนได้ปรับตัวให้สามารถปฏิบัติ ได้ตามหลักแห่งปริยัติอย่างน่าเชื่อถือ ปรากฏการณ์ที่คล้ายกับคนตื่นธรรมก็จะหมดไป

พุทธบริษัทในเพศบรรพชิต ที่ประกอบด้วยภิกษุ และภิกษุณี(ในประเทศไทยอาจจะไม่อนุญาตให้ผู้หญิงบวชเป็นภิกษุณี) ซึ่งถือว่าเป็นผู้สละตน ในการแสดงตนเป็นผู้ถือครองศีลในหลายข้อ เพื่อถือปฏิบัติและศึกษาเรียนรู้ในพระธรรมอย่างมุ่งมั่นด้วยสมาธิ ที่มีโยนิโสมนัสิกา ด้วยบทสวดพระคาถาพุทธชัยมงคลเพื่อเตือนตัวเองทุกครั้งในการต่อสู้กับมาร เพื่อนำพาตนไปสู่นิพพานหรือหายสงสัยในสรรพสิ่ง และสามารถประพฤติปฏิบัติได้เพื่อประโยชน์ในการอยู่เหนือมารทั้งปวง และเป็นผู้นำอย่างเป็นแบบอย่างที่เป็นเนื้อนาบุญแห่งพระพุทธศาสนา ในการเผยแผ่ธรรมและรักษาไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา อีกทั้งเมื่อได้รับกิจนิมนต์ในการแสดงธรรม ก็ยังสวดบทชัยปริตคาถาหรือบทสวดมหากรุณิโกที่สาธุชนทั้งหลายเข้าใจว่าเป็นบทให้พรที่ทุกคนเข้ารับฟังพุทธมนต์ พนมมือเพื่อรับพร เพื่่อเตือนให้ตนเองรู้ตนว่าเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย คือเป็นที่พึ่งทั้งปริยัติ และ ปฏิบัติ เพื่อสัตว์ทั้งหลายได้บรรลุสัมโพธิญาณ(ตามศีลสภาวะ) ด้วยความมุ่งหมายให้หมู่สัตว์เหล่านั้นได้มีชัยดุจจอมมุณีที่ทรงชนะมาร ภายใต้ร่มแห่งต้นโพธิ์(พระธรรมในพระพุทธศาสนา) ถึงความเป็นเลิศแห่งสรรพพุทธาภิเษก คือ ชนะตนด้วยพระธรรม ที่เพิ่มพูนความยินดีต่อหมู่มวลญาติ มิตร เมื่อเหล่าสัตว์ประพฤติชอบ ด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม นั่นคือการปฏิบัติต่อหน้าที่ของสงฆ์ที่เป็นพุทธบริษัทในบทบาทแห่งภิกษุ และภิกษุณี ได้สมบูรณ์หรือในบทสวดพระคาภาชัยปริตได้ระบุไว้ว่า “ปะณีธี เต ปะทักขิณา” คือความปรารณาของสงฆ์ ประทักษิณหรือบรรลุในความปราณานั้นแล้ว “ปะทักขิณานิ กัตตะวา ละภัณตัตเถ ปะทักขิเณฯ” สัตว์ทั้งหลายทำกรรม(หมายถึงประพฤติดี ประพฤติชอบ ด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม)อันเป็นประทักษิณแล้ว ย่อมได้รับประโยชน์ทั้งหลาย อันเป็นประทักษิณ

นี่เป็นบทที่ภิกษุคอยพร่ำสอนสาธุชนทุกครั้งที่ร่วมฟังสวดพุทธมนต์ แต่ผลแห่งการพร่ำสอนอยู่ตลอดเวลา วัตถุประสงค์ในการเผยแผ่ธรรม คำสอนของพระพุทธศาสนา ไม่บรรลุผล หรือไม่ประทักษิณ นั่นคือตัวชี้ให้เห็นชัดว่า กระบวนการทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีข้อบกพร่อง ที่วงการสงฆ์ควรต้องทำการศึกษาและปรับกระบวนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเสียใหม่ ให้ทันต่อเหตุการณ์ ที่สามารถนำปรากฏการณ์ของโลกมาอธิบายด้วยหลักแห่งปริยัติให้หายสงสัย และสามารถประยุกต์หลักปริยัติในการปฏิบัติใช้ให้สอดคล้องกับยุคสมัยอย่างลงตัว แทนที่พระเปรียญเก้า ต้องมาถกธรรมกับฆารวาส ให้เป็นกระแสต่อสังคม และสร้างความสับสนต่อประเด็นวิพากษ์วิจารณ์หลักธรรมด้วยหรือปริยัติ ที่ถกกันไม่รู้จบ ซึ่งพอที่จะสรุปได้ว่า พุทธบริษัทโดยเฉพาะบริษัทในเพศบรรพชิต ขาดความสมดุลในพระปริยัติ กับปฏิบัติ ให้เป็นที่ประจักษ์ และเลื่อมใสศรัทธาแก่สาธุชนอย่างเป็นประทักษิณ ที่ไม่ได้ก่อให้เกิดสามัคคีธรรม ที่จะสร้างความเข้าใจอย่างดุษฎีต่อสาธารณชน และสาธุชนทั้งหลาย ไม่สามารถนำสิ่งที่เป็นความรู้ที่ได้รับ นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ตามบทสวดพระปริตคาถาหรือบทสวดพระมหากรุณิโก

จึงขอฝากถึงพุทธสานิกชนทั้งหลาย รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง องค์กรที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกันปรับกระบวนการทางการศึกษาในพระพุทธสาสนาให้ทันสมัย ให้สามารถตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ที่ยังคงรักษาไว้ซึ่งหลักแห่งพระธรรมในพระพุทธสาสนา ที่เป็นพระปริยัติ ที่ยังคงอธิบายความจริงที่ปรากฏในสังคมตามยุคตามสมัยได้ และยังคงสามารถประยุกต์นำไปปฏิบัติใช้ให้เกิดประโยชน์จริงในชีวิตของคนทุกหมู่ทุกเหล่าได้ โดยไม่ขัดแย้งกับความเชื่อที่ไม่ตรงกับหลักพระปริยัติ ด้วยหลักแห่งพรหมวิหาร เพื่อนำพาสังคมโลกออกจากทุกข์ และสร้างสังคมสันติอย่างนิรันดร์ต่อไป