In Bangkok

กทม.ร่วมการประชุมนานาชาติMSAT-12 แลกเปลี่ยนการจัดการโครงสร้างพื้นฐาน



กรุงเทพฯ-กทม. ร่วมเวทีการประชุมนานาชาติ MSAT-12 แลกเปลี่ยนแนวทางการจัดการโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มความปลอดภัยสาธารณะเพื่อคนกรุง

(24 ต.ค. 67) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นวิทยากรภายในการประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวัสดุ ครั้งที่ 12 (The 12th International Conference on Meterials Science and Technology: MSAT-12) โดยบรรยายหัวข้อ "นโยบายและการบริหาร Aging Public Infrastructure เพื่อเพิ่มความปลอดภัยเชิงสาธารณะ" ณ ห้องพระวิษณุ ชั้น 3 โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชัน เขตหลักสี่ 

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานในด้านกายภาพ อาทิ อาคารที่อยู่อาศัยหนาแน่น ประชากรแออัดและกลุ่มเปราะบางในกรุงเทพฯ การจราจรที่ติดขัดจากสัญญาณไฟจราจรที่ไม่ชัดเจน ระบบการขนส่งไม่เชื่อมต่อกัน ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานของกรุงเทพมหานครนอกจากเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ จะขอตีความเพิ่มไปถึงเรื่องกฎระเบียบ โครงสร้างประชากร เรื่องการกัดกร่อนของสภาพแวดล้อมที่โอบล้อมตัวเมืองด้วย ดังนั้นถ้าจะตอบโจทย์เมืองจะไม่ใช่แค่เรื่องโครงสร้างด้านกายภาพเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ จากตัวเลขผู้สูงอายุของกรุงเทพมหานครในบางเขตสูงถึง 31% ดังนั้นปีแรกที่เข้ามาทำงาน เราพยายามหาทำฐานข้อมูล ทำโครงสร้างปรับปรุงสาธารณูปโภคทั้งหมดที่อยู่ในความดูแลของ กทม. ให้ดีขึ้นและเป็นไปตามหลัก Universal design เพื่อตอบโจทย์คนทุกกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนระดับเส้นเลือดฝอย ปรับปรุงศูนย์บริการสาธารณสุขและสถานีดับเพลิง ใช้เทคโนโลยีกำกับ CCTV ไฟฟ้าส่องสว่าง และการบริหารจัดการน้ำ เพิ่มความคล่องตัวในการเดินทาง เช่น การทำ BMA Feeder รถบัสที่เชื่อมต่อการขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ที่ให้บริการฟรี ด้านความปลอดภัย ทำฐานข้อมูลแผนที่ความเสี่ยงกรุงเพมหานคร BKK Risk Map ในส่วนด้านสังคม มีการเปิดพื้นที่สาธารณะให้มีกิจกรรมที่ทุกวัยเข้าถึงได้ ซึ่งจะทำให้โครงสร้างประชากรแข็งแรง รวมถึงปรับปรุงทางเท้า ทางม้าลาย ทางเดินเชื่อมระหว่างอาคาร ให้ได้มาตรฐานเพื่อส่งเสริมการเดินเท้าให้เดินได้เดินดีและเชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่อ

สำหรับการประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวัสดุ ริเริ่มและดำเนินการจัดโดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นประจำทุก ๆ สองปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ตั้งแต่งานวิจัยด้านพื้นฐานไปจนถึงการวิจัยประยุกต์ในสาขาเทคโนโลยีวัสดุ ในภาคการศึกษา สถาบันวิจัย และภาคอุตสาหกรรม ทั้งในและต่างประเทศ