In Bangkok

พระราม4มุ่งสู่ถนนไร้เส้นสายรื้อถอนแล้ว สายสื่อสารเตรียมทยอยลงดิน



กรุงเทพฯ-(24 ต.ค. 67) นายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมพิธีรื้อถอนสายสื่อสารถนนพระราม 4  ตามโครงการสายสื่อสารใต้ดินขของ  MEA  โดยมี นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA  เป็นประธาน ซึ่งหลังจากได้ดำเนินโครงการสายสื่อสารใต้ดินแล้วเสร็จ ในพื้นที่บางส่วนของถนนพระราม 4 ตั้งแต่ บริเวณสถานีหัวลำโพง - แยกถนนสุขุมวิท รวมระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร กำหนดแล้วเสร็จเดือนธันวาคม 2567 ซึ่งหลังจากนี้ MEA จะดำเนินโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่บางส่วนของถนนพระราม 4 (ตั้งแต่บริเวณสถานีหัวลำโพง - แยกถนนรัชดาภิเษก) ต่อไป

ในปี 2567 MEA และหน่วยงานภาคี มีแผนนำสายสื่อสารลงใต้ดินจำนวน 32 เส้นทาง ระยะทางรวมกว่า 68 กิโลเมตร ประกอบด้วยพื้นที่บางช่วงของถนนสายสำคัญต่าง ๆ เช่น ถนนสุทธิสารวินิจฉัย ถนนอโศกมนตรี ถนนศรีอยุธยา ถนนพระราม 4 ถนนบรรทัดทอง และถนนจรัญสนิทวงศ์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าให้มีระเบียบเรียบร้อยจำนวน 183 เส้นทาง รวมระยะทางกว่า 570 กิโลเมตร เฉลี่ยดำเนินงานเดือนละ 45 กิโลเมตร และในปี 2568 ยังมีเป้าหมายจัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้ารวมระยะทาง 800 กิโลเมตร ซึ่งในส่วนนี้ MEA ได้สนับสนุนการติดตั้งคอนสายสื่อสารเพื่อใช้สำหรับการยึดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งในปัจจุบันติดตั้งคอนสายสื่อสารเสร็จ ตามแผนปี 2567 กว่า 92.8% 

ในด้านการใช้เทคโนโลยี MEA ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานภาคี ควบคุมการติดตั้งสายสื่อสารให้เป็นไปตามมาตรฐาน และเป็นไปตามหลักเกณฑ์การติดตั้งสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าของ MEA รวมถึงการจัดทำระบบบริหารจัดการข้อมูลสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า Smart CCM (Smart Communication Cable Management) เพื่อให้บริการขออนุญาตติดตั้งสายสื่อสารแบบออนไลน์ (Online) บันทึกข้อมูลของสายสื่อสาร และแผนผังเส้นทางที่ติดตั้งสายสื่อสารในแผนที่ภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS) ของ MEA ช่วยบริหารจัดการข้อมูลสายสื่อสารที่ติดตั้งขึ้นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากการดำเนินงานด้านจัดระเบียบสายสื่อสารแล้ว MEA ยังมีโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินที่กำหนดเป้าหมาย 313.5 กิโลเมตร ให้แล้วเสร็จภายในปี 2572 โดยโครงการดังกล่าว จะบูรณาการความร่วมมือในการนำสายสื่อสารลงใต้ดินไปในคราวเดียวกันเพื่อลดปัญหา และผลกระทบที่อาจเกิดกับประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างอีกด้วย

สำหรับประชาชนที่พบเห็นสายสื่อสารที่รกรุงรัง หลุดห้อยไม่ปลอดภัย สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน กสทช. โทร. 1200 หรือพบว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าของ MEA ชำรุด อยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย สามารถแจ้งเหตุได้ที่ MEA Smart Life Application หรือสอบถามผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ได้แก่ Facebook: การไฟฟ้านครหลวง MEA X: @mea_news และ Line: MEA Connect (@MEAthailand) สัญลักษณ์โล่สีเขียวนำหน้าชื่อบัญชีทางการเลือกเมนูติดต่อ MEA Call Center Online 1130 ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง ได้ตลอด 24 ชั่วโมง