In News
นายกฯปราศรัยในวันยูเอ็นย้ำความร่วมมือ ผ่าน3เสาหลัก/ตอบสื่อฯในคดีตากใบ
กรุงเทพฯ-นายกฯ “แพทองธาร” กล่าวคำปราศรัยเนื่องในวันสหประชาชาติ เน้นย้ำเจตนารมณ์ความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์รอบด้าน ผ่าน 3 เสาหลัก เพื่อโลกที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน เยาวชน และคนรุ่นต่อไปในอนาคต และนายกฯตอบคำถามสื่อมวลชนในกรณีคดีตากใบ
วันนี้ (24 ตุลาคม 2567) เวลาประมาณ 20.00 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวคำปราศรัย เนื่องในวันสหประชาชาติ ประจำปี 2567 ผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย โดยนาย จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งโอกาส ที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และ “คน” ที่มีศักยภาพ รัฐบาลมุ่งเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศ ด้วยพลังจากทุกภาคส่วน เพื่อแก้ปัญหาและทำให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้นในทุกมิติ ไม่ว่าจะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทางโอกาส และการสร้างความปลอดภัย ซึ่งเป็นเหตุผลที่สหประชาชาติ หรือ UN มีบทบาทสำคัญสำหรับความร่วมมือในการแก้ปัญหาในด้านต่าง ๆ นี้
วันที่ 24 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันครบรอบการก่อตั้งของสหประชาชาติ ที่เป็นรากฐานของความร่วมมือระหว่างประเทศผ่านเสาหลัก 3 ประการ ได้แก่ (1) การสร้างสันติภาพและความมั่นคง ซึ่งประเทศไทยมีบทบาทสำคัญด้วยการส่งบุคลากรเข้าร่วมกองกำลังพิทักษ์สันติภาพกว่า 20 แห่งทั่วโลก เพื่อช่วยฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่ความขัดแย้ง (2) การผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่มนุษย์และธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล โดยไทยได้เผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มุ่งมั่นสร้างความสมดุลระหว่างความเจริญทางเศรษฐกิจ และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน และ (3) การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โลกที่ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีอย่างยิ่งที่ ไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน สำหรับปี 2568-2570 พร้อมให้คำมั่นว่าประเทศไทยจะส่งเสริมและเสริมสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชนของไทย และเป็นสะพานเชื่อมเพื่อเสริมสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระดับโลก โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ประเทศไทยสนับสนุนการดำเนินงานของ UN เพื่อการทำงานที่ตอบสนองความต้องการของประเทศสมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ บนพื้นฐานของนโยบายการเป็น “ผู้ส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกัน” ในฐานะที่ไทยเป็นศูนย์กลางของ UN ในภูมิภาค ที่เป็นที่ตั้งของหน่วยงาน UN กว่า 40 แห่ง รวมถึง UN ESCAP โดยประเทศไทยยินดีกับความสำเร็จของการประชุมสุดยอดเพื่ออนาคตเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และมุ่งหน้าผลักดันคำมั่นเพื่ออนาคต (Pact for the Future) ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม นายกรัฐมนตรีเชื่อว่า การจะทำให้โลกดีขึ้น ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นทางการเมือง การลงมือทำ และการสนับสนุนของทุกประเทศ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ต่อการดำเนินงานของ UN และประชาคมโลก เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับทุกคนในวันนี้ และเยาวชนและคนรุ่นต่อไปในอนาคต
นายกฯเสียใจต่อ ผู้ได้ผลกระทบคดีตากใบขออย่าโยงการเมือง
ก่อนหน้านี้ช่วงเวลา 15.30 น. ณ บริเวณทางเชื่อมตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงคดีตากใบที่กำลังจะหมดอายุความในวันพรุ่งนี้ว่า คดีนี้เป็นคดีที่เกิดขึ้นประมาณ 20 ปีที่แล้วที่ผ่านมาตนเองได้กลับไปดูข้อมูลและตัวเลขหลายอย่าง ถือเป็นเหตุการณ์ที่รู้สึกเสียใจกับผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหลายและรัฐบาลตั้งแต่สมัย 20 ปีที่แล้ว ได้ออกมาแสดงความเสียใจและออกมาขอโทษไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลนายกทักษิณ ชินวัตร นายกพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ รวมถึงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ชินวัตร ต่างออกมาแสดงความเสียใจและขอโทษในเรื่องดังกล่าว และมีการชดเชยจ่ายค่าเยียวยาไปแล้ว ในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันนี้รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมากและต้องขอโทษในนามของรัฐบาลด้วย จะทำให้ดีที่สุดไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก
นายกฯ กล่าวต่อว่า รัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ทำงานเร่งรัดในกระบวนการขั้นตอนต่าง ๆ ล่าสุดเมื่อช่วงเช้านี้ได้ข้อมูลมีการส่งคำถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้รับคำตอบกลับมาถึงเรื่องการออก พ.ร.ก.ขยายอายุความในคดีตากใบ ทั้งนี้ คดีดังกล่าวไม่เข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการตราพระราชกำหนดมาตรา 172 และ 174 ส่วนเนื้อหาที่เป็นการต่ออายุความเฉพาะคดีอันเป็นมาตรากฎหมายขึ้นเพื่อเป็นการบังคับใช้แก่คดีดังกล่าวเป็นการเฉพาะไม่ได้มุ่งขยายอายุความในคดีลักษณะเดียวกันเป็นการทั่วไปจึงไม่สอดคล้องกับมาตรา 26 วรรค 2 ทั้งยังอาจเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลตามมาตรา 27 วรรค 3 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและหลักกฎหมายอาญาสากลสรุปคือไม่เข้าเกณฑ์ในการออกพ.ร.ก.
"อย่างไรก็ตามสุดท้ายนี้แล้วขอให้ทุกคนรวมถึงรัฐบาลก็ตระหนักถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้และไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกอยากให้เกิดความสงบสุขไม่อยากให้ทุกฝ่ายเกิดความขัดแย้งซึ่งกันและกันขอให้ทุกคนพยายามอย่างเต็มที่และรัฐก็พยายามอย่างเต็มที่เช่นกัน"
นายกฯ กล่าวถึงการเตรียมรับมือสถานการณ์หลังจากคดีตากใบที่จะหมดอายุความ ว่า เรื่องเหตุการณ์ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจทั้งเรื่องหมาย ศาล ฝ่ายความมั่นคงหรือตำรวจต่างทำอย่างเต็มที่ในการที่จะดูแลและค้นหาผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับคดี และไม่ต้องการให้เกิดเรื่องความรุนแรงในปัตตานี ซึ่งได้รับรายงานจากหน่วยความมั่นคงและสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า ยังไม่มีผู้เสียชีวิตหรือผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่ก็ไม่ต้องการให้โยงเรื่องความรุนแรงนี้กับการเมือง ไม่ต้องการให้รุนแรงขึ้นอีก ขออย่านำมาโยงเรื่องนี้
ส่วนจะต้องมีการเพิ่มเติมการรักษาความปลอดภัยมากขึ้นหรือไม่นั้น นายกฯ กล่าวว่า ความปลอดภัยของทุกคนในประเทศมีความสำคัญ ตอนนี้หน่วยงานความมั่นคงและกระทรวงกลาโหมที่ได้ดูแลเรื่องนี้อย่างเต็มที่อยู่แล้ว พยายามอย่างเต็มกำลัง
ส่วนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกี่ยวกับคดีตากใบที่หมดอายุความ ทำให้ชาวบ้านและประชาชนในพื้นที่ไม่ไว้วางใจรัฐบาล นายกฯ กล่าวว่า จริง ๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียใจและวันนี้มาเป็นนายกรัฐมนตรีก็รู้สึกเสียใจ 20 ปีที่แล้ว คิดว่านายกฯ หลายท่านที่ผ่านมาก็คงรู้สึกเช่นเดียวกัน เพราะทุกคนเป็นคนไทยเหมือนกันและมีการเยียวยาทุกอย่าง แสดงความรับผิดชอบในส่วนที่ทำได้
“อย่างที่บอกว่าตนเองก็จะทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุดเช่นกัน ไม่อยากให้ความรุนแรงแบบนี้เกิดขึ้นอีกอยากให้ทุกคนช่วยกันด้วยเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่งหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถ้าจะเกิดความสามัคคีได้ก็ต้องอาศัยทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อจะให้เกิดความสงบสุขเพราะฉะนั้นในส่วนของนายกฯ และรัฐบาลอะไรที่ทำได้ก็ทำอย่างเต็มที่และอยากให้พี่น้องประชาชนทุกคนไว้ใจมาอยู่ตรงนี้ก็อยากให้พี่น้องประชาชนได้สบายใจและทำให้บ้านเมืองสงบสุข นั่นคือเป้าหมายสำคัญ” นายกฯ ย้ำ
ผู้สื่อข่าวถามว่า คดีตากใบเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยนายทักษิณฯ เป็นนายกรัฐมนตรี จนถึงวันนี้นางสาวแพทองธาร ในฐานะลูกสาวเป็นนายกรัฐมนตรี กังวลหรือไม่ จะเกิดแรงกดดันมากขึ้น
นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า อย่างที่ได้บอกไปทุกรัฐบาลตั้งแต่นายทักษิณ และทุกรัฐบาลที่ผ่านมาได้รับผิดชอบแล้ว และการพูดคุยหลายๆ ฝ่าย ก็เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งในส่วนของตนเองที่มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในทุกพื้นที่ของประเทศไทย และทำอย่างสุดความสามารถ หากถามว่ากังวลมากขึ้นหรือไม่ มองว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เรื่องประเทศชาติเป็นการดูแลทุกคนในประเทศ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ต้องดูแลอย่างเต็มที่ในทุกเรื่อง
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า นายกรัฐมนตรี มีวิธีการอย่างไรที่จะลดอุณหภูมิความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ ที่ดูเหมือนจะยังไม่ลดลงอย่างไร
นายกฯ กล่าวว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่อยากให้โยงกับประเด็นการเมืองในทุกๆเรื่อง ในเรื่องคดีตากใบ ตนเองคิดว่า ได้รับการเยียวยาและทุกคนพยายามสุดความสามารถในการดูแลปัญหาและจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ และไม่อยากให้เรื่องอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับคดีนี้เป็นตัวเสริมทำให้เกิดความรุนแรง ซึ่งก็ขอให้ไม่เป็นอย่างนั้น
ส่วน ทนายฝ่ายโจทก์อาจมีการยื่นฟ้องต่อศาลโลกในคดีนี้ ในส่วนรัฐบาลคดีความจะจบในวันพรุ่งนี้แล้ว จะดำเนินการต่ออย่างไรนั้น นายกฯ กล่าวว่า คดีนี้ก็ 20 ปีมาแล้ว จนถึงวันนี้ก็มีเหตุการณ์ฟ้องร้องเพิ่มเติมมาอีก ก็มีหลายประเด็น หลายองค์ประกอบ ก็คงตอบได้เท่านี้ ซึ่งศาลได้ตัดสินไปแล้วก่อนหน้านี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีข้อเสนอแนะว่า หากคดีหมดอายุความรัฐบาลมีการ Take action ด้วยการจ่ายเงินเยียวยาเพิ่มเติม
นายกฯ กล่าวว่า ต้องพิจารณา ดูว่าตอนนั้นจบแบบไหน ที่มีการเยียวยา 20 ปีที่แล้วให้กับครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบไปแล้ว ซึ่งต้องดูว่า มีอะไรเพิ่มเติมที่สามารถพูดคุยหรือทำอะไรได้บ้าง
นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ถ้ามีโอกาสจะลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แน่นอน และลงไปทุกพื้นที่ของประเทศไทย
ผู้สื่อข่าวถามว่า คดีนี้จะส่งผลการเจรจาของ คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ทุกฝ่ายทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ ในส่วนคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่ต่อไป เพื่อให้เกิดความสงบสุขต่อไป รวมถึงรัฐบาลด้วย
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ได้รายงานความคืบหน้าการตามตัวพลเอก พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาค 4 และอดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) แต่บอกว่า ทำอย่างเต็มที่ ซึ่งพลเอกพิศาล ก็ลาออกจากพรรคเรียบร้อยแล้ว และยังไม่มีใครได้คุยกับพลเอก พิศาล