Biz news

'หนองรี'ผืนดินสืบสานกสิกรรมธรรมชาติ สู่พลังของเชฟรอนสุขอาสา



ชลบุรี-“การใช้ชีวิตอย่างสมดุลอาจไม่ใช่เรื่องง่ายในทุกสถานการณ์ แต่ความ ‘พอดี’ ของเราอาจส่งต่อธรรมชาติที่ยั่งยืนและสร้างความหมายให้โลกใบนี้ และนี่คือหัวใจที่สะท้อนอยู่ในวิถีกสิกรรมธรรมชาติที่สืบสานจิตวิญญาณไปสู่ศูนย์สุขภาพกสิกรรมธรรมชาติหนองรี ผืนแผ่นดินแห่งประวัติศาสตร์ที่เราได้ร่วมเรียนรู้วิถีชีวิตสอดคล้องกับธรรมชาติในวันนี้”

อาจารย์วิภา ภิญโญโชติวงศ์ หรือ “พี่ติ๊นา” กรรมการมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ จังหวัดชลบุรี จุดประกายแก่นแท้ของหลักกสิกรรมธรรมชาติ แก่พนักงานบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และบริษัท เชฟรอน (ไทย) จํากัด พร้อมทั้งครอบครัว กว่า 100 ชีวิต ที่ได้เดินทางมาทำ กิจกรรมสุขอาสา (Together We Volunteer) “อาสาเรียนรู้ ลงมือทำ” บนผืนดินทอดยาว 10 ไร่ ณ ศูนย์สุขภาพกสิกรรมธรรมชาติหนองรี จังหวัดชลบุรี โดยในทุกๆ ปี เชฟรอนได้จัดกิจกรรมสุขอาสา เพื่อส่งเสริมให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการคืนประโยชน์ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งในฤดูปลายฝนต้นหนาวปีนี้ พนักงานต่างได้ร่วมกันลงแรงเพิ่มพื้นที่สีเขียว พร้อมเรียนรู้การสร้างแหล่งอาหารเป็นยาจากสมุนไพร และสานต่อหัวใจหลักของวิถีกสิกรรมธรรมชาติ หรือการจัดการดิน น้ำ ป่า ที่เริ่มจากคำว่า “สมดุล” บนผืนดินหนองรี

“ที่เรียกว่าเป็นพื้นที่คุณค่าทางประวิติศาสตร์ เพราะผืนดินนี้เป็นมรดกตกทอดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยมูลนิธิฯ ได้รับมอบพื้นที่จากคุณหมอจินตนา โพคะรัตน์ศิริ หนึ่งในเครือข่ายนักเกษตรอินทรีย์ ซึ่งแสดงเจตจำนงในการมุ่งหวังส่งต่อพื้นที่นี้สู่ประโยชน์แก่สาธารณะ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว พื้นที่นี้ยังเป็นดินทราย ดังนั้น ตอนพัฒนาพื้นที่ ทางอาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ได้ลงมือออกแบบด้วยตนเองผ่านโมเดล ‘โคก หนอง นา’ พร้อมสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ และมุ่งให้หนองรีเป็นประโยชน์ทั้งด้านสุขภาพควบคู่กับธรรมชาติ ตอนพัฒนาพื้นที่เราใช้หลักกสิกรรมธรรมชาติตั้งแต่ต้นโดยไม่มีการเผาและใช้สารเคมี จากนั้นก็เริ่มปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ทั้งพอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น เพื่อให้ชาวบ้านได้เข้ามาใช้ประโยชน์ปลูกผัก สมุนไพรเป็นยาได้ โดยเป้าสูงสุดคือเรามุ่งพัฒนาพื้นที่นี้เพื่อสร้างแหล่งอาหารเป็นยาสำหรับนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในแพทย์แผนไทย พร้อมทั้งสร้างต้นแบบโมเดลพลังงานทางเลือกที่พึ่งพาตนเองได้ รวมถึงสร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มให้กลายเป็นปอดของชุมชน” พี่ติ๊นา กล่าวเสริม

เมื่อถามถึงจุดเริ่มต้นของการผันตัวมาทำกสิกรรมธรรมชาติ พี่ติ๊นาตอบอย่างภูมิใจว่าตนมาเป็นอาสาตั้งแต่ 18 ปีที่แล้ว เพราะมีความฝันเล็กๆ ที่อยากเห็นธรรมชาติกลับมาสมบูรณ์ จึงอยากเป็นกลไกที่สนับสนุนวิถี “พอดี” ที่เช่นเดียวกับต้นไม้ที่ต้องการน้ำและปุ๋ยในปริมาณที่พอเหมาะ ชีวิตของเราก็เช่นกัน ที่ต้องคำนึงถึงความสมดุล ทั้งการใช้ทรัพยากร  การทำงาน หรือการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อสุขที่ยั่งยืนของทั้งตัวเราและโลกใบนี้ โดยพี่ติ๊นาได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างเชฟรอนว่า “การที่เชฟรอนได้พาพนักงานมาทำกิจกรรมในวันนี้เรียกว่าตรงเป้าหมายของมูลนิธิฯ ที่ว่า ‘ยิ่งให้ไปยิ่งได้มา’ เพราะงานอาสาคือการให้ด้วยใจ คนให้ก็มีความสุข พร้อมทั้งยังนำประโยชน์ส่งต่อผู้อื่นได้”

พนักงานเชฟรอนและครอบครัวได้ช่วยกันลงแรงอย่างพร้อมเพรียง โดยช่วงเช้าวิทยากรได้แบ่งกลุ่มส่งต่อแนวความรู้หลักกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อสร้างความสมดุลของระบบนิเวศที่เลียนแบบธรรมชาติ ทั้งการห่มดินด้วยฟาง พร้อมศึกษาวิธีบำรุงดินให้ดินเลี้ยงพืช ด้วยวิธี “แห้งชาม” ที่นำปุ๋ยจากธรรมชาติมาโรยฟางที่ห่มไว้ และตามด้วยปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพที่เรียกว่า “น้ำชาม” รวมถึงร่วมกันปลูกไม้ป่า ไม้ผล และสมุนไพร จำนวน 1,000 ต้น เพื่อสร้างแหล่งอาหารเป็นยาในอนาคต โดยเมื่อเข้าสู่ช่วงบ่าย แม้ฝนจะตกหนัก แต่บรรยากาศกลับเต็มไปด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มของพนักงานอาสาและครอบครัวที่กำลังตั้งใจเรียนรู้การทำยาดมและน้ำมันเขียวสมุนไพร รวมถึงทำซีอิ๊วหมักและเมี่ยงคำจากสวนสมุนไพรกินได้อย่างใจจดจ่อ พร้อมจุดประกายการสร้างสุขภาพดีด้วยวิถีธรรมชาติอย่างแท้จริง

“ทุกครั้งที่บริษัทฯ เปิดให้ร่วมจิตอาสา เรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมที่พวกเราชาวเชฟรอนต่างตั้งตารอคอยกันมากๆ จนบางครั้งต้องปิดลงทะเบียนก่อนกำหนดเสียอีก และจากประสบการณ์ที่ผมได้เข้าร่วมกิจกรรมสุขอาสาทุกปี ต้องพูดเลยว่าไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่คนไม่เต็ม” นายรัชพล เธียรชยากร Technical Drafting Coordinator บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวด้วยความภูมิใจเต็มเปี่ยมในฐานะพนักงานคนหนึ่งที่เป็นขาประจำของกิจกรรมสุขอาสา “ตลอด 9 ปีกว่าที่ทำงานกับเชฟรอน ผมพยายามเข้าร่วมกิจกรรมสุขอาสาทุกครั้งที่มีโอกาส ซึ่งครั้งนี้ผมประทับใจเป็นพิเศษเพราะผมเองเป็นคนชลบุรี จึงรู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้มีส่วนช่วยเหลือบ้านเกิดไปในตัว นอกจากจะได้มีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนเชฟรอนจากแผนกอื่นๆ  แล้ว ผมมองว่าเรายังได้เรียนรู้การแปรรูปจากสิ่งที่เราปลูกเองมาเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ซึ่งช่วยสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านและกระจายรายได้สู่ชุมชนด้วยเช่นกัน โดยสิ่งที่ผมชื่นชอบที่สุดคือการได้เรียนรู้แนวคิดกสิกรรมธรรมชาติ ซึ่งสอนให้เราเข้าใจว่าการปลูกต้นไม้ไม่ใช่แค่เรื่องของการลงดิน แต่จำเป็นต้องดูแลอย่างถูกวิธี อีกทั้งยังได้เรียนรู้วิธีการขุดหลุมไม้แต่ละชนิด รวมถึงการลงปุ๋ย ซึ่งผมเองก็นำกลับไปใช้จริงที่บ้านได้อีกด้วย”

นายศักดิ์ชัย แซ่เซีย รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายแผนกลยุทธ์ พัฒนาธุรกิจ และการพาณิชย์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสํารวจและผลิต จํากัด กล่าวถึงกิจกรรมดังกล่าวว่า “การสร้างคุณค่าอย่างแท้จริงเกิดขึ้นเมื่อพนักงานของเราได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่สร้างประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งในฐานะองค์กรที่สนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทยมาโดยตลอด เชฟรอนยังคงเดินหน้าพัฒนาสังคมผ่านโครงการต่างๆ พร้อมเน้นให้พนักงานมีส่วนร่วม โดยในวันนี้ ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ได้มาทํากิจกรรมร่วมกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติอีกครั้ง ซึ่งเราคุ้นเคยและผูกพันกันมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ทํางานร่วมกันใน ‘โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน’ ในการน้อมนําศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่การปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และยังเป็นกิจกรรมที่เหล่าจิตอาสาเชฟรอนชื่นชอบอย่างมาก ซึ่งความภาคภูมิใจของเชฟรอนคือเราได้เห็นพนักงานพาครอบครัวมาร่วมกิจกรรมกับชุมชนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว และยังสามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองอีกด้วย"

แม้ว่าสิ่งที่พนักงานเชฟรอนและครอบครัวได้ร่วมกันปลูกในวันนี้ อาจยังไม่เห็นผลลัพธ์ในทันที แต่ทุกกล้าไม้ที่ลงมือปลูกจะค่อยๆ ผลิดอกผล กลายเป็นประโยชน์แก่ชุมชนหนองรีในอนาคต ที่ไม่เพียงแต่จะช่วยฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่จะช่วยส่งต่อแนวคิดตามวิถีที่สมดุลแก่ผู้คนในชุมชนต่อไป