Health & Beauty
แพทย์รพ.วิมุตแนะเลี่ยงผลิตภัณฑ์แปรรูป หนึ่งปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านม
กรุงเทพฯ-ในยุคที่ชีวิตเร่งรีบ อาหารแปรรูปกลายเป็นตัวเลือกยอดนิยมของคนทุกวัย ด้วยความสะดวก รสชาติอร่อยถูกปาก และหาซื้อได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นไส้กรอก แฮม หรืออาหารกระป๋อง แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่าอาหารเหล่านี้เต็มไปด้วยสารกันบูดและสารเคมี ถ้ากินบ่อย ๆ ก็จะเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็ง ซึ่งรวมถึง “มะเร็งเต้านม” ได้เช่นกัน โดยข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปี พ.ศ. 2563 พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ 18,000 คนต่อปี และเสียชีวิตประมาณ 4,800 คน ซึ่งแนวโน้มอัตราการเกิดโรคยังคงเพิ่มขึ้น นับเป็นสถิติที่น่าเป็นห่วง วันนี้ พญ.จิราวดี ร่วมเจริญชัย แพทย์ผู้ชำนาญการด้านมะเร็งเต้านม ศูนย์เต้านม รพ.วิมุต จะพาไปทำความรู้จักโรคมะเร็งเต้านม พร้อมแนะนำแนวทางการป้องกันและวิธีการรักษา เพื่อเตรียมรับมือกับโรคร้ายนี้
มะเร็งเต้านม ภัยร้ายที่เกิดได้จากหลายปัจจัย
มะเร็งเต้านม คือการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ในเนื้อเยื่อเต้านม และสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ ซึ่งเมื่อเป็นจะมีอาการ เช่น คลำพบก้อนเนื้อบริเวณเต้านมหรือใต้รักแร้ รูปร่างเต้านมผิดปกติ รู้สึกเจ็บหรือมีแผลบริเวณหัวนม “มะเร็งเต้านมสามารถแบ่งได้สองกลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มหนึ่งมีสาเหตุจากความผิดปกติของพันธุกรรม พบได้ประมาณ 10-15% ของผู้ป่วย ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งสาเหตุไม่ชัดเจน แต่ปัจจุบันพบว่ามีบางปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม เช่น เป็นเพศหญิง มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง เคยฉายรังสีบริเวณหน้าอก เคยเป็นมะเร็งเต้านมข้างหนึ่ง รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ การกินอาหารแปรรูปเป็นประจำ การใช้ยาฮอร์โมน ภาวะน้ำหนักเกิน การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาฮอร์โมนทดแทนหลังวัยหมดประจำเดือน” พญ.จิราวดี ร่วมเจริญชัย อธิบาย
มะเร็งรักษาได้หากตรวจเจอไว-แพทย์แนะขึ้นเลข 4 ต้องตรวจคัดกรอง
มะเร็งเต้านมในระยะแรกมักไม่มีอาการ แต่ถ้าสังเกตเห็นความผิดปกติบริเวณเต้านมหรือคลำแล้วเจอก้อนเนื้อ ก็ควรรีบมาพบแพทย์ทันที พญ.จิราวดี ร่วมเจริญชัย อธิบายต่อว่า "ปกติแนะนำให้ผู้หญิงทุกคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป มาตรวจคัดกรองแม้จะยังไม่มีอาการ เพราะยิ่งตรวจเจอไวก็ยิ่งมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้มากขึ้น การวินิจฉัยจะเริ่มจากการตรวจร่างกาย คลำเต้านม ตรวจต่อมน้ำเหลือง ซักประวัติ และทำแมมโมแกรมร่วมกับอัลตราซาวด์ หากพบความผิดปกติ จะมีการเจาะชิ้นเนื้อเพื่อตรวจเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ก้อนที่คลำพบอาจไม่ใช่มะเร็งเสมอไป แต่อาจเป็นถุงน้ำหรือเนื้องอกธรรมดา หากตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะแรก จะเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้มากกว่า 90% ในระยะ 5 ปีแรก ซึ่งวิธีการรักษามะเร็งเต้านมจะขึ้นอยู่กับระยะและลักษณะมะเร็งของแต่ละคน มีทั้งการผ่าตัด การให้ยา และการฉายรังสี"
กินดี ออกกำลังกาย ลดความเสี่ยงมะเร็ง
ทุกคนสามารถลดความเสี่ยงโรคมะเร็งได้ด้วยตนเอง ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนี้ควรเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ รวมถึงลดการกินอาหารแปรรูป และหันมาเลือกกินอาหารปรุงสดใหม่ที่มีประโยชน์เพื่อส่งเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย
"ปัจจุบันมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศหญิง ส่วนใหญ่ยังมีสาเหตุไม่ชัดเจน แต่เราก็สามารถดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงได้ เริ่มจากเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน ออกกำลังกายบ่อย ๆ กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย พยายามลดและเลี่ยงอาหารแปรรูป ที่สำคัญคือการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นประจำทุกปี แม้จะยังไม่มีอาการใด ๆ จะช่วยให้ตรวจเจอโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ เพิ่มโอกาสรักษาให้หายขาดได้ " พญ.จิราวดี ร่วมเจริญชัย กล่าวทิ้งท้าย