Think In Truth

ชำแหละผลสังคมก้มหน้าตอน4โรคมากับ สังคมก้มหน้า โดย : ฅนข่าว 2499



โรคติดโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คไม่ได้เป็นปัญหาที่จำกัดอยู่เฉพาะในวัยใดวัยหนึ่ง แต่พบได้ในทุกวัย หลายคนออกมาพูดถึงปัญหานี้ แต่ดูเหมือนกับว่าโรคนี้จะแก้ให้หายขาดไม่ได้ในเร็ววัน เพราะข้อดีของการสื่อสาร รับข้อมูล ประโยชน์ของโซเชี่ยลมีเดียนั้น ยังมีข้อดีอยู่มาก วิธีการต่างๆที่หลายสื่อออกมานำเสนอเพื่อแก้ไขปัญหา คนติดโซเชี่ยลมีเดียงอมแงมนั้น น่าจะช่วยทำให้ผู้ใช้ได้ฉุกคิดและใช้โซเชี่ยลเน็ตเวิร์คได้อย่างเหมาะสม และหันมามีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในโลกแห่งความจริง

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2557 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจัดงาน “Consumer Convergence: ผู้บริโภค มาด้วยใจ ก้าวไกลด้วยกัน”  โดยมีการจัดเสวนารู้เท่าทันสังคมก้มหน้า

นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กล่าวว่า ผู้บริโภคหรือประชาชนที่ใช้โซเชียลเน็ตเวิลด์และอินเตอร์เน็ตต้องพึ่งระลึกอยู่เสมอว่าเราอยู่ในสังคมเปิด ขาดการกลั่นกรอง และพวกมิจฉาชีพจะใช้ช่องทางนี้หากินกับประชาชน ซึ่งตนอยากให้ประชาชนตระหนักถึงการเรารู้เท่าทันการใช้โซเชียลเน็ตเวิกค์เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด และเชื่อว่าจะการให้ความรู้ในประเด็นนี้จะช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้

ทั้งนี้หน่วยงานของรัฐยังมีปัญหาในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ ปัจจุบันมีข้อมูลส่วนกลางที่สามารถนำไปใช้ได้แล้ว แต่ยังขาดหน่วยงานที่เข้ามาจัดการ ซึ่งตรงนี้เองอาจจะต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้กับประชาชน

“อยากจะให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้โซเชียลเน็ตเวิกค์อย่างสร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ ทั้งนี้จากผลการวิจัยที่พบว่านักเรียนหญิง หรือเยาวชนหญิงส่วนใหญ่โดนคุกคามทางเพศในโลกแห่งความเป็นจริงจากบุคคลใกล้ชิด แต่ในโลกของโซเชียลเน็ตเวิกค์จะพบว่าผู้หญิงถูกคุกคามทางเพศโดยคนแปลกหน้า”

นายปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญทางระบบคอมพิวเตอร์และความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (Information Security) กล่าวว่า ผู้บริโภคและประชาชนควรป้องกันตนเองและสร้างกลไกลให้กับตนเอง การใช้อินเตอร์เน็ตในแง่ดีนั้นเราสามารถตรวจสอบภัยใกล้ตัวได้ เช่นการค้นหาข้อมูลเพื่อตรวจสอบสิ่งที่เราสงสัย แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตไม่น้อยตกเป็นเหยื่อเนื่องจากไม่ตรวจสอบข้อมูลที่ได้มา

“ในมุมของไซเบอร์นั้นรามองว่าภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทำแคมเปญ รณรงค์เกี่ยวกับการใช้โซเชียลเน็ตเวิกค์รวมถึงอินเตอร์เน็ต ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปในแต่ละเดือนเพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจมากขึ้น นอกจากนี้ผู้บริโภคควรจะศึกษาและอ่านข้อมูลนโยบายการใช้งานของแต่ละแบบ ไม่ว่าจะเป็น อีเมล์ ไลน์ หรือเฟซบุ๊ค”

นายถิระ หงสกุล หัวหน้าศูนย์ข้อมูลข่าวสาร สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันมีข้อมูลข่าวสารในอินเตอร์เน็ตมีค่อนข้างมาก และข้อมูลส่วนใหญ่จะมาจากการส่งต่อกันมาไม่ว่าจะเป็นอีเมล์ ไลน์เฟซบุ๊ก เป็นต้น โดยข้อมูลเหล่านี้ไม่มีการกลั่นกรองส่งผลให้เกิดการเข้าใจผิดและอาจจะเข้าข่ายมีความผิดหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาและพรบ.คอมพิวเตอร์

ทั้งนี้เรื่องราวที่สคบ.ได้รับร้องเรียนส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการซื้อขายในอินเทอร์เน็ต ซึ่งสคบ.เองก็มีการไกล่เกลี่ยและบางครั้งก็ไม่สามารถเอาผิดได้ ในส่วนของการรับข้อร้องเรียนนั้นแม้ว่าสคบ.มีเจ้าหน้าที่น้อยจึงต้องอาศัยหน่วยงานจังหวัด และองค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นผู้ช่วย ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพให้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลการใช้งานโซเชียลเน็ตเวิลด์ และอินเตอร์เน็ต

นางสาวมณีนาถ อ่อนพรรณา ผู้ประกาศข่าวและพิธีกรจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า การมีโซเชียลเน็ตเวิก์คและการมีอุปกรณ์สื่อสารที่ทันสมัย เช่นโทรศัพท์มือถือ ส่งผลให้ใครๆก็เป็นผู้ส่งข่าวและข้อมูลข่าวสารได้ แต่สิ่งที่ยังมีปัญหาคือความเป็นมืออาชีพพ่วงด้วยความรับผิดชอบ โดยปัญหาส่วนใหญ่ของการใช้โซเชียลเน็ตเวิลด์นั้นก็คือการกลั่นกรองข้อมูลก่อนทีจะแชร์ รวมถึงการรับผิดชอบต่อสังคมหากเกิดการผิดพลาดจากข้อมูลข่าวสารที่แชร์ออกไป

การวิจัยโรคฮิตติดโทรศัพท์มือถือ

 ปัจจุบันไม่มีใครปฏิเสธว่าโทรศัพท์มือถือได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนไปซะแล้ว บางคนมีหลายเครื่องอีกต่างหาก และส่วนใหญ่ก็มักจะเลือกใช้สมาร์ทโฟน เพราะด้วยฟังก์ชันที่ต้องการจะตอบสนองชีวิตประจำวันของมนุษย์ยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งตามความเป็นจริงการมีโทรศัพท์มือถือมีข้อดีมากมาย ทั้งสะดวกรวดเร็ว สามารถติดต่อผู้คนได้มากมาย ทั้งทางด้านธุรกิจ คุยกับเพื่อน ยิ่งเดี๋ยวนี้มีแอพลิเคชั่นมากมาย โดยเฉพาะโปรแกรมที่ใช้ chat ได้รับความนิยมชนิดถล่มทลาย

ก่อนหน้านี้คนเป็นพ่อแม่ที่มีลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่นมักวิตกกังวลกลัวลูกคุยโทรศัพท์ทั้งวัน ติดโทรศัพท์ ไม่เป็นอันทำอะไร แต่เดี๋ยวนี้ลูกไม่ค่อยได้คุยโทรศัพท์แล้ว แต่ก็ยังคงติดมือถือหนึบหนับเหมือนเดิม หรืออาจจะมากกว่าเดิมด้วย เพราะใช้วิธีคุยผ่านโปรแกรม chat

เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ต้องเติบโตขึ้นมาในสังคมที่เต็มไปด้วยการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีที่พรั่งพรูอยู่ทุกวัน และเด็กส่วนใหญ่ก็เรียกร้องที่จะมีโทรศัพท์มือถือที่สามารถ chat ได้ โดยเฉพาะเจ้าแอปพลิเคชัน Line ที่คนไทยนิยมกันมากมายเหลือเกิน ใช้กันมากถึงขั้นเป็นอันดับ 2 ของโลก

งานวิจัยหลายชิ้นที่สะท้อนให้เห็นว่าเด็กรุ่นใหม่ติดโทรศัพท์มือถืออย่างหนัก กลุ่มวัยรุ่นไทยมีความรู้สึกที่ดีต่อเทคโนโลยีในแง่ของความรู้สึกปลอดภัย มั่นใจ ได้เข้าสังคม และทันสมัย ทั้งยังพบว่า มือถือมีความสำคัญเป็นอันดับ 1 ในชีวิตของพวกเขา บางคนบอกว่าถ้าขาดมือถือจะมีอาการเหมือนคนติดยา

โทรศัพท์มือถือกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจ และกำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเด็กรุ่นใหม่ไปแล้ว ล่าสุด กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาแถลงถึงผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2555 พบว่า ในกลุ่มประชาชนอายุ 6 ปีขึ้นไป ใช้โทรศัพท์มือถือจำนวน 44 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 70 ของประชากรทั้งประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในเขต กทม.มีการใช้มากที่สุดร้อยละ 84 ภาคกลางร้อยละ 75  ภาคเหนือร้อยละ 68 ภาคใต้ร้อยละ 67 และต่ำสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือใช้ร้อยละ 64    

ทั้งระบุว่าพฤติกรรมคนไทยในการใช้โทรศัพท์มือถือในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะชนิดสมาร์ทโฟน ได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งผู้ใหญ่และเด็ก  โดยเฉพาะโปรแกรมแอปพลิเคชันไลน์ (LINE) ที่นิยมใช้ในการส่งข้อความ เช่น ส่งการบ้าน ข้อความสั้น ส่งรูปถ่ายส่วนตัว รูปทั่วไป คลิปเสียง สติกเกอร์ต่างๆ และใช้ฟรีตลอดเวลา ส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน

ผลดีอาจสร้างความสะดวกในการสื่อสารโดยเฉพาะในสถานที่งดการใช้เสียง  รวดเร็วทั้งภาพและเสียง ประหยัดไม่ต้องเสียค่าโทรศัพท์  ส่วนเรื่องผลกระทบที่เป็นห่วง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ยังมีวุฒิภาวะน้อยหากผู้ปกครองไม่ชี้แนะ ดูแล ควบคุมการใช้อย่างจริงจัง  อาจจะเกิดผลกระทบทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต

ที่น่าห่วงก็คือการเกิดพฤติกรรมก้มหน้า สังคมก้มหน้า การสื่อสารแบบเผชิญหน้าจะลดน้อยลง และอาจนำไปใช้เป็นประจำจนติดเป็นนิสัย ผู้ใช้อยู่ในโลกส่วนตัวมากเกินไป ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ขาดความระมัดระวัง อาจเกิดปัญหาอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้นเรียกว่าเป็นอาการน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับเด็กยุคนี้ที่กำลังกลายเป็น “เด็กยุคก้มหน้า”

มีงานวิจัยมากมายหลายสำนักก่อนหน้านี้ที่ส่งสัญญาณเตือนดังๆ ออกมาว่าเป็นห่วงพฤติกรรมของเด็กรุ่นใหม่ที่ติดมือถืออย่างหนัก เพราะฉะนั้น พ่อแม่ต้องใส่ใจและตระหนักอย่างจริงจังต่อเรื่องนี้ โดยปลูกฝังตั้งแต่เด็ก
 

ประการแรก เริ่มจากความรัก ความใกล้ชิดของพ่อแม่ ที่จะเป็นปราการด่านแรกในการให้ลูกได้เรียนรู้และสัมผัสได้ถึงความรัก ความห่วงใย

ประการต่อมา ทำกิจกรรมกับลูกอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ลูกสนใจกิจกรรมและเรียนรู้ถึงการใช้เวลาว่างและการมีงานอดิเรก

ประการที่สาม สื่อสารกับลูกตั้งแต่เล็กในรูปแบบการมีปฏิสัมพันธ์ที่ควรจะมีการสื่อสารผ่าน

ความรู้สึก สีหน้า ท่าทาง แววตา และมีการพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เล็กจนโต

ประการที่สี่ กำหนดกฎ กติกาตามวัย ให้เขาได้เรียนรู้การมีกฎกติการ่วมกันภายในบ้าน เริ่มจากเรื่องเล็กๆ ในเรื่องอื่นๆ โดยดูให้เหมาะสมกับวัย จนกระทั่งมาถึงเรื่องมือถือในวัยที่เหมาะสม ก็ต้องมีกฎกติกาว่าจะใช้เมื่อไร ควบคุมเรื่องเวลา และพูดคุยให้ฟังถึงประโยชน์และโทษของมันให้ลูกได้รับรู้ หรืออาจมีข้อตกลงร่วมกัน เช่น มื้ออาหารห้ามใช้มือถือ ฯลฯ

ประการที่ห้า พยายามกำหนดกิจกรรมที่อยากให้ลูกทำ หรือเป็นกิจกรรมเรื่องโปรดของเขาอยู่แล้ว แต่พอมีมือถือก็ทำให้เขาห่างไป เช่น การอ่านหนังสือ ก็อาจใช้วิธีกำหนดเวลาให้เขาหยุดใช้มือถือช่วงเวลาไหน และต้องให้เวลากับกิจกรรมอ่านหนังสือก่อนนอน ถ้าทำเป็นประจำ เขาก็จะติดเป็นนิสัย

ประการที่หก พ่อแม่ต้องทำให้ได้ด้วย ถ้าไม่อยากให้ลูกเป็นเด็กก้มหน้า พ่อแม่ก็ต้องไม่มัวแต่ก้มหน้าด้วยASTV ผู้จัดการออนไลน์28 สิงหาคม 2556 :รายงานว่าทางการไต้หวันออกกฎหมายใหม่ หวังจะให้ผู้ปกครองควบคุมบุตรหลานมิให้เล่นโทรศัพท์เป็นเวลานานเกินไป โดยคาดโทษปรับผู้ปกครองที่ละเลยเรื่องดังกล่าวสูงสุดกว่า 50,000 บาท

กฎใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายป้องกันสิทธิ์และสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชนในไต้หวัน ซึ่งแต่เดิมมีการห้ามมิให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปีสูบบุหรี่, ดื่มสุรา, เคี้ยวหมาก และใช้ยา โดยตอนนี้ได้ครอบคลุมมาถึงพฤติกรรมด้านการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ซึ่งครอบคลุมทั้งโทรศัพท์, แท็บเล็ต, คอมพิวเตอร์ รวมทั้งเครื่องเกมคอนโซลต่างๆ)

เนื้อความในกฎหมายใหม่นี้ระบุให้ผู้ปกครองควบคุมเด็กมิให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเวลานานเกินไป ทว่าระยะเวลาที่ว่า "นานเกินไป" นี้มิได้ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนว่ากี่ชั่วโมงต่อวัน

กฎหมายนี้ยังระบุโทษปรับสำหรับผู้ปกครองที่ละเลยการควบคุมการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไว้สูงสุดถึง 50,000 NTD (ประมาณ 52,000 บาท) หากพบว่าผู้ปกครองอนุญาตให้เด็กใช้งานอุปกรณ์เหล่านั้นไว้นานเกินไปจนส่งผลเสียต่อเด็กไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพทางกายหรือทางด้านจิตใจ

ตอนนี้เกิดกระแสถกเถียงกันถึงเรื่องความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติสำหรับการบังคับใช้กฎหมายใหม่นี้ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดขอบเขตเรื่องเวลาที่เหมาะสมของการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนการตีความว่าเรื่องนี้มีผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเด็กจริงหรือไม่นั้นจะตัดสินกันอย่างไร

โรคเท็กซ์เนคหรือโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม

โรคเท็กซ์เนคเป็นอาการของสังคมก้มหน้าซึ่งตอนนี้มันกำลังกลายเป็น “โกลบอลซินโดรม” คือ ออกอาการกันแพร่หลายไปทั่วโลก ตามการแพร่ระบาดของอุปกรณ์พกพาสารพัดตั้งแต่ สมาร์ทโฟนแท็บเล็ต เรื่อยไปจนถึงอีบุ๊กรีดเดอร์

“เท็กซ์เนค” เป็นคำที่ นายแพทย์ดีนฟิชแมน แพทย์กายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญด้านบำบัดอาการของกระดูกสันหลังชาวอเมริกัน คิดขึ้นเพื่อใช้เรียกกลุ่มอาการของโรคที่เกิดขึ้นจากการก้มหน้า บ่อยๆ ซ้ำๆ และนานเกินปกตินี้ อาการที่เกิดขึ้นมีตั้งแต่ การปวดกล้ามเนื้อบริเวณไหล่ กล้ามเนื้อคอ ปวดศีรษะเรื้อรัง ปวดทุกวัน หนักเข้าก็อาจพาลไปถึงเกิดการอักเสบของข้อต่อกระดูกสันหลังส่วนบน ซึ่งถือว่าสาหัสเลยทีเดียว แต่ที่น่ากังวลคือ การก้มหน้าในลักษณะนี้บ่อยๆ นานๆ จะส่งผลต่อบุคลิกท่าทาง และการเติบโตของร่างกายในเด็กและวัยรุ่นให้ออกมาบิดเบี้ยวโค้งงอจนต้องมาหาทางแก้กันยุ่งยากในภายหลัง

ดร.ฟิชแมน เคยแสดงให้เห็นฟิล์มเอกซเรย์ของวัยรุ่นอเมริกันที่แสดงชัดเจนว่ากระดูกสองสามชิ้นบริเวณข้อต่อกระดูกสันหลังส่วนบนโค้งงอไปด้านหน้าแบบผิดธรรมชาติเพราะเหตุนี้มาแล้ว ข้อมูลที่ได้จากผลการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งเมื่อปี 2000 ระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้วศีรษะของคนเราจะหนักประมาณ 5 กิโลกรัม การก้มไปข้างหน้าทุกๆ 2 เซนติเมตร จะทำให้ไหล่ต้องแบกรับน้ำหนักมากขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ถ้าก้มลงไป 6 เซนติเมตร น้ำหนักของศีรษะที่ไหล่ คอ และกระดูกสันหลังที่ต้องรองรับนั้นจะเพิ่มมากขึ้นเป็น 20 กิโลกรัม

คำแนะนำของแพทย์เพื่อการป้องกันไม่ให้เราตกเป็นเหยื่อของเท็กซ์เนคอย่างง่ายๆ คือ ละสายตาจากจอ เปลี่ยนท่าจากการก้มหน้า ปล่อยให้ศีรษะกลับคืนสู่ท่าธรรมชาติในทุกๆ 15 นาที เงยหน้าขึ้น เหลียวไปรอบๆ ถ้ายังจำเป็นต้องจ้องจออยู่ก็ยกมันให้ขึ้นมาอยู่ในระดับสายตา เพื่อลดการแบกรับน้ำหนักของคอลงเป็นระยะๆ ถ้าเป็นไปได้ก็ควรออกกำลังกาย ในแบบที่จะช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณคอและไหล่ได้ผ่อนคลาย จะเป็นโยคะก็ได้ หรือจะเป็นกายบริหารแบบพิลาทีสที่มุ่งเน้นไปที่การทำให้ร่างกายของเราอยู่ในท่าทางที่ถูกต้องก็ได้ ทำให้ได้ทุกวันจะป้องกันปัญหานี้ได้

กระดูกคอประกอบด้วยกระดูก 7 ชิ้น ทำหน้าที่ในการพยุงศีรษะโดยรอบๆ กระดูกคอมีเส้นประสาทและกล้ามเนื้อจำนวนมาก ปกติกระดูกคอจะมีลักษณะโค้งตามธรรมชาติ แต่หากมีท่าทางที่ผิดปกติเป็นเวลานาน เช่น ก้มหน้านานซึ่งจะกดทับกระดูกคอ หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม กระดูกสันหลังโค้งหรืองอก เส้นประสาทถูกกดทับ ทำให้เกิดอาการปวดหรือชาบริเวณคอ ควรต้องระมัดระวัง เส้นประสาทที่ใกล้กระดูกคอเป็นเส้นประสาทหลักของแขนขา  หากกดทับเป็นระยะเวลานานแล้วไม่รักษา จะทำให้มีอาการปวดคอ แขนชา อาการอาจรุนแรงถึงขึ้นขาชา ตาพร่า แม้กระทั่งทำให้เกิดอัมพาต

อาการแสดงเมื่อกระดูกคอมีปัญหา

              1. ปวดคอบ่าไหล่ ลามไปถึงศีรษะหรือแขน
              2. แขนไม่มีแรง นิ้วมือชา มือไม่มีแรงจับ บางครั้งมือปล่อยของตกโดยไม่รู้ตัว
              3. ขาไม่มีแรง จังหวะการเดินไม่มั่นคง ขาสองทั้งชา
              4. ผู้ที่อาการรุนแรงอาจมีอาการปัสสาวะเล็ด มีปัญหาสมรรถภาพทางเพศ อัมพาต
              5. ปวดศีรษะ คอบ่าไหล่และมือ  คอเคล็ด มีข้อจำกัดการเคลื่อนไหว
              6. เวียนศีรษะ ผู้ที่มีอาการรุนแรงอาจคลื่นไส้อาเจียน
              7. ผู้ป่วยบางรายที่โรคได้กระทบต่อระบบประสาทอัตโนมัติ อาจทำให้เกิดอาการ วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ตาฟาง ตาทั้งสองข้างบวม ผมแห้ง หูอื้อ หูตึง มีความไม่สมดุล หัวใจเต้นเร็วขึ้น บางรายอาจมีปัญหาท้องอืดหรือมีปัญหาการกลืน

น.ต.นพ.ชัยพฤกษ์ ปั้นดี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลังและข้อ ระบุว่าโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังและข้อไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ปัจจุบันพบว่าเริ่มมีผู้ป่วยวัยรุ่นมารักษามากขึ้น ซึ่งการใช้สมาร์ทโฟนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หมอนรองกระดูกและกล้ามเนื้อปวดเฉียบพลัน โดยต้องเฝ้าระวังอาการปวดร้าวลงตามแขน คอ บ่า ไหล่ นิ้วมืออ่อนแรง ขณะที่การรักษาจะต้องดูเป็นรายบุคคล มีทั้งการให้ยา กายภาพบำบัดและการผ่าตัด พร้อมแนะนำการใช้สมาร์ทโฟนว่าไม่ควรก้มหน้าเกิน 60 องศา สมาร์ทโฟนอยู่ระดับสายตา 1 ฟุต และไม่เล่นต่อเนื่องเกิน 2 ชม.

ทุกวันนี้สมาร์ทโฟนได้กลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตมนุษย์ ตามการคาดการณ์ของ eMarketerสหรัฐระบุว่า ในปี 2014 ผู้ใหญ่จะใช้เวลาโดยเฉลี่ย 2 ชั่วโมง 51 นาที ต่อวัน ไปกับโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน และใช้เวลาเฉลี่ยถึง 5 ชั่วโมง 46 นาที ไปกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย ซึ่งการก้มหน้าใช้โทรศัพท์นานมีแนวโน้มที่ทำให้กล้ามเนื้อรวมถึงเส้นเอ็นตึงเกร็ง เครียด นำไปสู่การเกิดโรคกระดูกคอตั้งแต่อายุยังน้อย

การใช้สมาร์ทโฟนตลอดเวลา อาจทำให้การรับรู้ภายนอกของคนเราลดลง โดยทั่วไปสมองของคนเราไม่สามารถแบ่งการทำงานหลายๆอย่างได้ในเวลาเดียวกัน จึงทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองคนเราต่ำลงขณะเล่นสมาร์ทโฟนอยู่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ทั้งกับตัวเราเองและผู้อื่น

เด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปีมีแนวโน้มที่จะเสพติดอุปกรณ์ไอทีมากผู้ปกครองควรขีดเส้น และตั้งกฎจำกัดการใช้งานไม่ควรให้เด็กใช้อุปกรณ์ในช่วงวันปกติหลังเลิกเรียนในวันหยุดสุดสัปดาห์ ควรให้เด็กใช้ iPhone, iPadได้ไม่เกิน 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมงต่อวัน

เด็กอายุ 10 – 14 ปีให้ใช้คอมพิวเตอร์ได้ในวันปกติ แต่เฉพาะทำการบ้านเท่านั้นแต่ก็มีพ่อแม่อีกหลายคนที่ใช้กฎที่ยืดหยุ่นกว่า เช่นห้ามเปิดจออุปกรณ์ทุกชนิดในห้องนอน แต่ใช้ได้ไม่จำกัดในห้องนั่งเล่น ที่พ่อแม่เห็นลูกอยู่ตลอด หรือจำกัดแค่บางแอพและห้ามใช้ Social Network เท่านั้น

สำนักยุทธศาสตร์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) สังกัดกระทรวงไอซีที รายงานว่า ค่าเฉลี่ยของการใช้อินเตอร์เน็ตและระบบการสื่อสารออนไลน์ต่อสัปดาห์ของคนไทยอยู่ที่ 50.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นั่นหมายความว่า คนไทยใช้เวลากับหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน เฉลี่ยประมาณ 7.2 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ เพราะแสงบนหน้าจอประกอบด้วยแสงสีฟ้า ส่งผลเสียต่อจอประสาทตาโดยตรง อาจทำให้ดวงตาเสื่อมสมรรถภาพ เสี่ยงต่อโรคออฟฟิสซินโดรม และโรคนิ้วล็อคเพราะคุยแชทหรือเล่นสมาร์ทโฟนมากๆอีกด้วย

การรักษาด้วยแพทย์แผนจีน
ปัญหาโรคกระดูกคอ ก่อให้เกิดอาการต่างๆ มากมาย เป้าหมายสำคัญของการรักษาของแพทย์แผนจีน คือ ขจัดต้นเหตุของความเสื่อมถอย และรักษาอาการที่แสดงออกมา ฟื้นฟูสมรรถภาพและเสริมความแข็งแรงของร่างกาย เพื่อลดผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน วิธีการรักษาประกอบด้วย การฝังเข็ม ครอบกระปุก กวาซา ทุยหนาและการใช้ยาจีน

การฝังเข็มช่วยทะลวงเส้นลมปราณ กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต คลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ ลดความเจ็บปวด นอกจากนี้การทุยหนากระดูกและหัตถการของแพทย์แผนจีน ยังสามารถแก้ไขพยาธิสภาพของกระดูกและเส้นเอ็น อาทิ ข้อต่อผิดปกติ กระดูกคอเคลื่อน เนื้อเยื่ออ่อนติด และกระดูกคอโค้งผิดรูป ให้กลับเป็นปกติ จึงช่วยลดสาเหตุของโรคกระดูก การแพทย์แผนจีนยังมีเทคนิคเฉพาะโดยการใช้ยาทั้งจากภายนอกและภายใน ซึ่งสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ทันที เสริมความแข็งแรงของกระดูกและชะลอความเสื่อม 

เล่อคังคลินิกได้ใช้เทคนิคใหม่ล่าสุดนี้เพื่อรักษาโรคกระดูกคอ และอาการปวด ชา ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยการผลักยาจีนเข้าสู่ระบบเส้นลมปราณบริเวณที่เป็นโรค ช่วยระงับปวดลดการอักเสบ เป็นการรักษาวิธีหนึ่งที่ได้ผลทันทีสอบถามเพิ่มเติม การผลักยาจีนและการฝังเข็มเพื่อรักษาโรคกระดูกคอโทร. 02-168-7288  มือถือ081-355-8736

โรคนิ้วล็อก

เพราะความสะดวกจากการใช้สมาร์ทโฟน-แท็บเล็ตในปัจจุบัน ที่คนส่วนใหญ่ใช้เป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสาร ทำงาน และให้ความบันเทิง แพทย์เตือนพิมพ์เยอะส่งผลกระทบต่อเส้นเอ็น หากอาการหนักอาจถึงขั้นต้องผ่าตัดรักษา

นายแพทย์ภัทร จุลศิริ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อทั่วไป โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า อันดับแรกต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเส้นเอ็นของคนเราจะถูกหุ้มด้วยปลอกหุ้มเส้นเอ็น (A1 pulley) เหมือนกับสายไฟในท่อร้อยสายไฟ เมื่องอหรือเหยียดนิ้ว เส้นเอ็นจะขยับอยู่ในปลอกหุ้ม ซึ่งการเล่นเกม แชต หรือกดหน้าจอสมาร์ทโฟนที่ค่อนข้างเล็กบ่อยๆ จะทำให้นิ้วโป้งมีการงอมากกว่าปกติ และยังเกิดการเสียดสีระหว่างปลอกหุ้มกับเส้นเอ็นจนอักเสบ บวม ทำให้เอ็นผ่านปลอกหุ้มได้ไม่สะดวก ก่อให้เกิดอาการปวดบริเวณที่โคนนิ้วโป้ง หรือหากเป็นมากก็อาจเกิดนิ้วล็อก เหยียดไม่ออกในที่สุด

โรคดังกล่าวมักจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบในกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวต่างๆ หรือคนที่งอนิ้วบ่อยๆ เป็นระยะเวลานาน เช่น พิมพ์งาน, หิ้วถุงใส่ของ, หรือกำมือหยิบของ เป็นต้นสำหรับอาการที่กลุ่มคนเหล่านี้จะมาพบแพทย์ คือ ปวดบริเวณโคนนิ้วด้านในฝ่ามือ มีอาการนิ้วสะดุดหรืองอเหยียดนิ้วได้ไม่สุด มีอาการปวดช่วงเช้าและจะดีขึ้นเมื่อขยับมือสักพัก ในการรักษาโรคดังกล่าวแพทย์ต้องประเมินก่อนว่าผู้ป่วยอยู่ในระยะใดของอาการ แค่การอักเสบ หรือถึงขั้นเป็นโรคนิ้วล็อกแล้ว

หากเป็นมากต้องผ่าตัด! สถานเดียวโดยแพทย์จะเริ่มต้นการรักษาด้วยการให้หยุดพักการใช้งานนิ้วมือ ร่วมกับการทานยาต้านการอักเสบของเส้นเอ็นหรือยาแก้ปวด และการกายภาพเอ็นข้อนิ้ว โดยใช้หนังยางหนาใส่นิ้วและถ่างออก โดยทำอย่างน้อยวันละ 30-60 รอบ หากอาการยังไม่ดีขึ้น อาจต้องฉีดยาลดการอักเสบสเตียรอยด์ หรือต้องเข้ารับการผ่าตัดขยายปลอกหุ้มเส้นเอ็น เพื่อทำให้เอ็นเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะต้องทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และพยายามหลีกเลี่ยงการเล่นสมาร์ทโฟนที่บ่อยเกินไป

โรคตาสถิติเพิ่มสูง

ปัจจุบันพบว่าคนไทยมีปัญหาโรคตาที่มีสาเหตุจากการใช้คอมพิวเตอร์และจอต่างๆเพิ่มมากขึ้นทุกปี ผลพวงจากความสะดวก และความทันสมัยของการสื่อสารในปัจจุบันทำให้เราเสพติดการสื่อสาร ไม่ว่าจะทำอะไร อยู่ที่ไหน เราก็มันจะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาพิมพ์บอกเพื่อนผ่านโปรแกรมแชท และผ่านทางโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คอยู่เสมอจนติดเป็นนิสัย จนทำให้เราลืมไปว่าดวงตาของเรากำลังถูกใช้งานอย่างหนักเกินความจำเป็น เพราะการมองหน้าจอต่างๆไม่ว่าจะเป็นจอสมาร์ทโฟนจอแทปเล็ต จอคอมพิวเตอร์ และจอโทรทัศน์ ตลอดเวลา และติดต่อกันเป็นเวลานาน ดวงตาของเราจะต้องเจอกับแสงจ้าจากหน้าจอดังกล่าว เกิดอนุมูลอิสระสะสม จนอาจจะทำให้เกิดความผิดปกติเกิดขึ้นกับดวงตาของเราได้

จากพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนและแท็ปเล็ตที่เพิ่มขึ้นยังทำให้ให้เกิดปัญหาแก่ดวงตา เพราะการเพ่งจ้องนาน จะทำให้เกิดปัญหาตาแห้ง กระพริบตาน้อยลง แสบตา การมองเห็นผิดปกติ มองไม่ชัด กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง ซึ่งเป็นอาการเริ่มต้นของโรคคอมพิวเตอร์วิชชั่นซินโดรม

จากการศึกษาในประเทศญี่ปุ่นพบว่าผู้ที่ใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์นานหลายชั่วโมงติดต่อกันมีความเสี่ยงต่อการเกิดคอมพิวเตอร์วิชชั่นซินโดรม แล้วยังมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคต้อหินในประชากรที่เพิ่มมากขึ้นดังนั้นญี่ปุ่นจึงไม่ให้ใช้โทรศัพท์บนรถไฟเพราะจะได้ไม่มีเสียงที่รบกวนออกมา หรืออีกข้อดีระบบที่สื่อสารกันเป็นระหว่างคน 2 คน ไม่เหมือนการพูดคุยโทรศัพท์ในที่สาธารณะที่คนอื่นจะได้ยินว่าเราคุยอะไรกัน นอกจากนี้ยังเป็นการสื่อสารที่ทำให้คนเราเริ่มค้นพบมุมที่เป็นความสนใจของตัวเองที่เมื่อก่อนอาจจะไม่มีพื้นที่มาก แต่ตอนนี้เริ่มเห็นมีการรวมตัวกัน

ล่าสุดมีคลิปที่เกี่ยวกับค่านิยมคนยุคนี้ และกำลังเป็นที่รับชมกันอยู่บน Youtubeในคลิป(https://www.youtube.com/watch?v=PsH9wGB_Acs) แสดงให้เห็นถึงค่านิยมของสังคมในยุคปัจจุบันหรือ สังคมก้มหน้า ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียที่ตามมาอย่างมากมาย

ถึงแม้การใช้สมาร์ทโฟนจะส่งผลเสียได้มากมายทั้งต่อสุขภาพคนเรา และสังคมทั่วโลก แต่สมาร์ทโฟนก็มีข้อดีอยู่มากมายและมีส่วนช่วยเหลือพัฒนาได้ด้วยอีกเช่นกัน เพียงแค่รู้จักใช้งานให้ถูกหลัก รู้จักแบ่งเวลา และมีสติในการใช้งาน สมาร์ทโฟนก็จะกลายเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์สูงสุดและเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเหลือเราได้มากที่สุดเช่นกัน

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา  อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต เนื่องจากสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทุกสถานที่ ทุกเวลาผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งพฤติกรรมการเพ่งหน้าจอเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ใช้สายตามากขึ้นโดยไม่รู้ตัว   ส่งผลให้เกิดปัญหาสายตาได้ เช่น ปวดตา ตามัว ตาแห้ง สายตาล้า สายตาสั้น หรือผลข้างเคียงอื่นๆ เช่น อาการปวดหัว ปวดหลัง และเมื่อยคอ สำหรับวิธีถนอมสายตาเมื่อใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเป็นระยะเวลานาน คือ ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ เพื่อไม่ให้ก้มคออยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานเกินไป พักสายตาเป็นระยะทุกครึ่งชั่วโมง ด้วยการทอดสายตาไปไกลๆ มองสิ่งของที่ห่างไปไม่น้อยกว่า  20 ฟุตหรือหลับตานิ่งๆ ประมาณห้านาที ไม่ฝืนอ่านตัวอักษรที่มีขนาดเล็กเกินไป ควรปรับขนาดตัวอักษรให้อ่านง่ายและสบายตา  หลีกเลี่ยงการใช้งานหน้าจอในขณะอยู่บนยานพาหนะที่มีการสั่นสะเทือน ปรับความสว่างของหน้าจอให้สบายตา ไม่สว่างจ้าเกินไป

ผู้ที่มีปัญหาสายตาผิดปกติ ควรมีแว่นที่เข้ากับค่าสายตาและเหมาะสมกับระยะในการมองหน้าจอ โดยอยู่ห่างจากศีรษะ และสายตาประมาณ 30 เซนติเมตร ควรหาตำแหน่งในห้องหรือสถานที่ที่เรากำลังใช้งานหน้าจอให้แสงสว่างตกกระทบเฉียงๆ กับหน้าจอ เพื่อลดแสงสะท้อนรบกวนเข้าสายตาโดยตรง อย่าใช้งานหน้าจอติดต่อกันนานเกิน 1 ชั่วโมง ควรหมั่นพักสายตาและกะพริบตา อย่างน้อย 10-15 ครั้งต่อนาที ควรสังเกตว่าการใช้งานหน้าจอนานเท่าใด ที่ทำให้รู้สึกตาล้า และมีตาพร่า กะพริบตาบ่อยๆ เพื่อลดอาการตาแห้ง และหลีกเลี่ยงการใช้สายตานานๆ ในที่ที่มีอากาศแห้ง หรือลมพัดเข้าสู่ดวงตา

 “ผู้ที่ทราบอยู่แล้วว่า ตาแห้งหรือผู้ที่ใส่คอนแทกต์เลนส์ควรใช้น้ำตาเทียมหยอดตา เมื่อต้องใช้งานหน้าจอสมาร์ทโฟน หรือเเท็บเล็ตเป็นเวลานานๆ จะช่วยลดปัญหาตาแห้งได้ ที่สำคัญควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟน หรือเเท็บเล็ต โดยการแบ่งเวลาทำกิจกรรมอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น พักผ่อน ออกกำลังกาย ทำงานบ้าน ไม่เพ่งอยู่กับหน้าจอนานๆ จะทำให้รักษาสุขภาพตาได้ ”อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

รอติดตามตอนต่อไป