In News
'พายุจ่ามี'ขึ้นฝั่งอีสานเฝ้ารับมือฝนถล่ม 'ชม.-ชร.'เตรียมแต่งตัวรับเที่ยวฤดูหนาว
กรุงเทพฯ-นายกฯ ขอบคุณศปช.ส่วนหน้า สำเร็จตามเป้าหมาย พรุ่งนี้ มอบรอง นรม.และรมว.กห. นายภูมิธรรม ฯ ส่งคืนพื้นที่พร้อมขอ อปท.ฟื้นฟูระยะต่อไป ส่วน เชียงใหม่-เชียงราย เตรียมเปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวในโครงการไทยแลนด์วินเทอร์
วันนี้ (27 ตุลาคม 2567) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตรขอบคุณรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและเจ้าหน้าที่ส่วนราชการและเอกชนทุกภาคส่วน ในการร่วมแรงร่วมใจเข้าฟื้นฟูให้กับพี่น้องที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย โดยขณะนี้การฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัย ระยะที่ 1 ที่จังหวัดเชียงราย ทั้งที่ อ.แม่สาย และเทศบาลเมืองเชียงราย ดำเนินการเรียบร้อยแล้วหลังจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และจิตอาสา ระดมกำลังช่วยเหลือตลอดช่วงเวลากว่า 1 เดือนที่ผ่านมา
โดยในวันพรุ่งนี้ (28 ต.ค.) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.ศปช. พร้อมด้วย น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (ประธาน ศปช.ส่วนหน้า) จะเดินทางไป อ.แม่สาย พร้อมด้วย พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม (ที่ปรึกษา ศปช.ส่วนหน้า) เตรียมส่งมอบคืนพื้นที่ให้หน่วยงานท้องถิ่น สานต่อภารกิจฟื้นฟูระยะต่อไป จากนั้นจะเข้าสู่การดำเนินนโยบาย “แอ่วเหนือ คนละครึ่ง” จ.เชียงรายพร้อมต้อนรับฤดูกาลท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยเตรียมจัดกิจกรรมตลอดฤดูกาล เช่น เทศกาลลอยกระทง, เทศกาล Lanna Winter Wonderland , งานเชียงรายดอกไม้งามปีที่ 21 และตักบาตรดอกไม้
นายจิรายุ กล่าวด้วยว่า จ.เชียงใหม่ก็พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วงไฮซีซันแล้วเช่นกัน ซึ่งบรรยากาศการท่องเที่ยวในพื้นที่เริ่มคึกคัก เช่น งานเชียงใหม่เมืองแห่งเทศกาลบอลลูน ที่สวนดอกไม้ป้านกเอี้ยง เปิดให้ชมวันนี้วันสุดท้าย นักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินชมความสวยงามของบอลลูนมากถึง 28 ลูก กลางทุ่งดอกไม้หลากสี พร้อมเปิดประสบการณ์บินบอลลูน รวมทั้งที่บ้านป่าบงเปียง อ.แม่แจ่ม ใกล้อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ นักท่องเที่ยวแห่ไปสัมผัสทะเลหมอกสุดงามตา ที่โอบล้อมด้วยนาขั้นบันไดที่สวยที่สุดในเชียงใหม่ และล่าสุดได้รับรายงานจาก นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ว่าได้โอนเงินเยียวยา 9,000 บาทเข้าบัญชีผู้ประสบอุทกภัยแล้ว 10,863 ครัวเรือนใน 10 อำเภอ รวมเป็นเงิน 97,767,000 บาท ทั้งนี้ หลังประชาชนยื่นเอกสารขอรับเงินเยียวยาแล้ว เจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบ หากเอกสารครบข้อมูล ถูกต้องก็พร้อมอนุมัติให้ประชาชนได้ทันที
ส่วนสภาพอากาศวันพรุ่งนี้ (28ต.ค.) นายจิรายุ กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยายังเฝ้าติดตามพายุโซนร้อน "จ่ามี" ที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าใกล้ชายฝั่ง เมืองดานังของเวียดนาม แต่จะไม่พัดเข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากมีมวลอากาศเย็นจากจีนแผ่ลงมาปกคลุม แต่อาจส่งผลให้ไทยมีเมฆเพิ่มขึ้น และจะมีฝนตกหนักบางแห่งกับมีลมแรง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งในระบบชลประทานในภาคอีสาน จะเป็นผลดีต่อการเก็บกักน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำมูลที่ยังมีน้ำกักเก็บไว้สำหรับหน้าแล้งปีหน้าไม่มากนัก ส่วนภาคตะวันออกและภาคใต้ (ฝั่งอันดามัน) จะมีฝนตกเพิ่มขึ้น ขณะที่วันที่ 29 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป ประเทศไทยตอนบน อากาศเริ่มเย็นลงและเข้าสู่ฤดูหนาว อย่างเป็นทางการ
“ระยะนี้ แม้ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเริ่มเข้าสู่หน้าหนาวแต่ยังมีฝนในภาคอีสาน ที่ จ.สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานีและศรีสะเกษ แต่จะไม่ส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง เนื่องจากระดับน้ำ ณ สถานีวัดระดับต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ลดลงและทรงตัว มีเพียงสถานีโขงเจียมมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 20 ซม. ทั้งนี้ยังต้องติดตามสภาพอากาศกับหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด เนื่องจาก มีการประเมินว่าพายุโซนร้อน“จ่ามี”แม้จะเคลื่อนตัววกกลับไปในทะเลจีนใต้ จากแรงดึงดูดของพายุ "กองเร็ย"ที่เคลื่อนตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกและมวลอากาศเย็นที่แผ่ลงมา แต่ยังจำเป็นที่ต้องเฝ้าระวังและฟังคำเตือนจาก ศปช.อย่างใกล้ชิด “นายจิรายุ กล่าว
และกล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ถึงวันที่ 29 ตุลาคมนี้ กรมทรัพยากรธรณี เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ในภาคใต้ 6 จังหวัด ที่ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล , ภาคตะวันออก ที่ จ.ตราด และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จ.อุบลราชธานีและศรีสะเกษ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและจุดเสี่ยง เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำและกำลังพล เพื่อเข้าพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที ส่วนสถานการณ์น้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง กรมชลประทาน ยังคงการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาอัตราเดิม 1,699 ลบ.ม./วินาที