In Bangkok
เนรมิตสวนสายใหม่เธียรสวนกสบ.พัฒนา ริมคลองสอง/จับตาฝุ่นจิ๋วจตุโชติ
กรุงเทพฯ-ปั้นสวนสายไหมเธียรสวน กสบ. ร่วมใจพัฒนาริมคลองสอง ชมคัดแยกขยะชุมชนประชานุกูล ส่องถนนสวยเฉลิมพงษ์พร้อมปลูกต้นพิกุล จับตาฝุ่นจิ๋วไซต์งานก่อสร้างแสนสิริถนนจตุโชติ
(28 ต.ค.67) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตสายไหม ประกอบด้วย
พัฒนาสวน 15 นาที สวนสายไหมเธียรสวน กสบ. ร่วมใจพัฒนา (คลองสอง) ซอยพหลโยธิน 54/1 แยก 2 ซึ่งเขตฯ ได้ปรับปรุงพื้นที่ ออกแบบวางแผนผังสวน ปลูกต้นไม้เพิ่มเติม รวมถึงอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่เดิมภายในสวน ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 1 แห่ง คือ สวนสายไหมสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พื้นที่ 14,000 ตารางเมตร สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ 1.สวนสายไหมชุมชนวัชรพล 3 พื้นที่ 4,800 ตารางเมตร 2.สวนสายไหมวังอ้ายแป้ง พื้นที่ 400 ตารางเมตร 3.สวนสายไหม-ทางหลวง พื้นที่ 1,558 ตารางเมตร 4.สวนสายไหม-จิตภาวรรณ 1 ร่วมใจ (สวนเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567) พื้นที่ 800 ตารางเมตร 5.สวนสายไหม-เทพรักษ์ 1 พื้นที่ 400 ตารางเมตร 6.สวนสายไหมเธียรสวน กสบ. ร่วมใจพัฒนา (คลองสอง) พื้นที่ 2,200 ตารางเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 7.สวนสายไหมชุมชนหมู่บ้านพัฒนา 1 พื้นที่ 260 ตารางเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 8.สวนสายไหมประตูกรุงเทพ พื้นที่ 200 ตารางเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจพื้นที่ว่าง เพื่อจัดทำสวน 15 นาทีให้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมของพื้นที่ การออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของประชาชนที่จะเข้ามาใช้บริการ เพื่อให้การจัดทำสวน 15 นาที เป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนประชานุกูล พื้นที่ 30 ไร่ มีประชากร 739 คน บ้านเรือน 340 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2567 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะภายในครัวเรือน โดยนำขยะเศษอาหารมาทำปุ๋ยหมักชีวภาพ สมาชิกชุมชนที่ขายผลไม้รถพ่วงข้างจะนำขยะเปลือกผลไม้มาส่งที่ศูนย์สวนเกษตรชุมชน เพื่อทำปุ๋ยหมักไว้ใช้ในแปลงปลูกผักปลอดภัยในครัวเรือน ส่วนขยะเศษใบไม้มีจุดทิ้งในสวนแปลงปลูกผัก 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกขยะรีไซเคิล โดยแต่ละบ้านจะนำไปจำหน่ายเอง มีการนัดผู้รับซื้อประจำมารับที่จุดรับศูนย์สวนเกษตรชุมชน การรับบริจาคล้อยางรถเก่าเพื่อนำมาใช้เป็นฐานปลูกในแปลงผักศูนย์สวนเกษตรชุมชน 3.ขยะทั่วไป จัดถังรับขยะตามจุดพักขยะที่กำหนดจุดต่างๆ ในชุมชน เขตฯ จัดเก็บสัปดาห์ละ 2 ครั้ง 4.ขยะอันตราย ชุมชนรวมไว้ที่จุดพักขยะอันตรายบริเวณศูนย์สวนเกษตรชุมชน แจ้งเขตฯ จัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 4,000 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 3,000 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 2,000 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 1,500 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 2,000 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 500 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 500 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำแก่ชุมชนในการคัดแยกประเภทต่างๆ เพื่อให้การคัดแยกเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ได้มอบหมายให้เขตฯ บริหารจัดการใช้รถเก็บขนมูลฝอยให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งรถเก็บขนมูลฝอย 1 คัน ควรใช้งานให้ได้ระยะทาง 200 กิโลเมตร/วัน หรือ 16 ชั่วโมง/วัน เพื่อจัดเก็บขยะให้ได้มากที่สุด ป้องกันปัญหาขยะตกค้างในชุมชน
ติดตามโครงการถนนสวย ถนนเฉลิมพงษ์ ความยาว 950 เมตร ซึ่งเขตฯ ได้พัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์ตัดแต่งกิ่งไม้ที่ยื่นคลุมถนน ปลูกต้นกระดุมทองคลุมดินรอบโคนต้นราชพฤกษ์ ตรวจสอบระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ทาสีขอบทางเท้าตลอดแนวคันหิน ในโอกาสนี้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขตฯ ได้ร่วมกันปลูกต้นพิกุล เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่น เพิ่มความร่มรื่นและสวยงามบริเวณถนนดังกล่าว
ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้างหมู่บ้านแสนสิริ ถนนจตุโชติ ซึ่งเป็นการก่อสร้างบ้านเดี่ยว ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด ฉีดล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกก่อนออกจากโครงการ ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกตามรอบที่กำหนด นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน ประเภทแพลนท์ปูน ประเภทสถานที่ก่อสร้าง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมสถานประกอบการไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน
ในการนี้มี นายอภิชาต แสนมาโนช ผู้อำนวยการเขตสายไหม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตสายไหม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล