In Bangkok
กทม.แก้ปัญหาสัตว์จรจัดในที่สาธารณะ ป้องกันการแพร่ระบาดโรคพิษสุนัขบ้า
กรุงเทพฯ-นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจรองผู้อำนวยการสำนักอนามัย(สนอ.) กทม. รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัยกล่าวกรณีมีข้อสังเกตพบประชาชนทิ้งสุนัขในที่สาธารณะมากขึ้น เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยข้อมูลในคนไม่พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้ามาเป็นเวลา8 ปีแล้ว โดยพบผู้เสียชีวิตรายสุดท้ายเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 59 ที่เขตบางนา ส่วนข้อมูลในสัตว์ปี 63 และปี 64 ไม่พบสุนัขบ้า ปี 65 พบ 2 ตัว ปี 66 พบ 15 ตัว และปี 67 ขณะนี้พบ 1 ตัว เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 67 เขตหนองจอก ซึ่งพื้นที่พบโรคเป็นเขตรอยต่อกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ยังคงเป็นพื้นที่เฝ้าระวังและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า
สำหรับแนวทางการปฏิบัติเมื่อมีรายงานคนหรือสัตว์สงสัยติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า สนอ. จะลงพื้นที่โดยประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรูปแบบทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SSRT) ภายใน24ชั่วโมง ระหว่างศูนย์บริการสาธารณสุขในเขตพื้นที่ สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักงานเขต สำนักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร และอาสาสมัครสาธารณสุข เพื่อร่วมกันสอบสวน ควบคุม เฝ้าระวัง และป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ค้นหาผู้สัมผัสและสัตว์สัมผัสโรคฯ เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฯให้ครบตามโปรแกรม ส่วนผลการสำรวจสุนัขและแมวในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยอาสาสมัครสาธารณสุขในปี 67 พบว่ามีจำนวนสุนัขที่มีเจ้าของ 53,991 ตัว แมวมีเจ้าของ 115,827 ตัว สุนัขจรจัด 8,945 ตัว และแมวจรจัด 19,925 ตัว (ข้อมูล ณ วันที่ 8 ส.ค.67)
ทั้งนี้ กทม. มีนโยบายแก้ไขปัญหาสัตว์จรจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วยการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงตลอดช่วงชีวิต และการแก้ไขปัญหาสัตว์จรผ่านการจัดการอย่างเป็นระบบ โดยมีแนวทางการแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจรจัดซึ่งเป็นสัตว์พาหะนำโรคพิษสุนัขบ้า โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคสถาบันการศึกษาภาคเอกชน และมูลนิธิองค์กรต่างๆที่เกี่ยวกับสัตว์ อาทิ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขสัตวแพทยสภาสมาคมผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทยคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆสมาคมสงเคราะห์สัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอยมูลนิธิ SOS Animal Thailandมูลนิธิ The Voice มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิรักษ์แมว บริหารจัดการแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจรจัดอย่างเป็นระบบและมีความครอบคลุมตั้งแต่ต้นทางตลอดจนถึงปลายทาง ดังนี้1) ป้องกันการทอดทิ้งสัตว์มีเจ้าของ โดยขับเคลื่อนการจดทะเบียนสุนัขมีเจ้าของเลี้ยงในพื้นที่กรุงเทพฯ
ตั้งแต่ต้นทางตามข้อบัญญัติ กทม. เรื่องการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ.2548 ซึ่งนอกจากจะสามารถติดตามหาเจ้าของเมื่อสุนัขพลัดหลงแล้ว ยังช่วยป้องกันการทิ้งสุนัข รวมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงสัตว์ที่ถูกต้องเหมาะสม “คิดก่อนเลี้ยง เลี้ยงด้วยความรู้ ดูแลด้วยความรักและรับผิดชอบ และเลี้ยงดูตลอดจนสิ้นอายุขัย” 2) ควบคุมการเพิ่มจำนวนเละแก้ไขปัญหาจากสัตว์จรจัด โดยการออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ผ่าตัดทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเชิงรุกในพื้นที่ 50 เขต ให้บริการที่คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 8 แห่ง ซึ่งผลการดำเนินงานของ กทม. และเครือข่ายในปีงบประมาณ 67 ผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมว 64,669 ตัวฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 209,085 ตัว และแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสุนัขและแมว ขับเคลื่อนการสร้างสัตว์ชุมชนเพื่อให้เกิดความมีส่วนร่วมของคนและสัตว์ในการอยู่ร่วมกันในชุมชน โดย กทม. ดำเนินการแก้ไขปัญหาแมวจรจัดด้วยการผ่าตัดทำหมัน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคและปล่อยกลับคืนพื้นที่เดิมโดยไม่เพิ่มจำนวนและเมื่อเวลาผ่านไปจำนวนจะลดลงจากการเสียชีวิตตามอายุขัย ตามแนวทาง TNVR (Trap-Neuter-Vaccinate-Return) ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาสัตว์จรจัดตามหลักสวัสดิภาพสัตว์อย่างยั่งยืน3) การดูแลสัตว์จรจัดที่เข้ามาในศูนย์ควบคุมและพักพิงสุนัขกทม.ให้เป็นตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ และขับเคลื่อนการหาผู้อุปการะให้แก่สัตว์จรจัดแทนการซื้อหาสัตว์ใหม่มาเลี้ยง (Adopt not Shop) โดยดำเนินการร่วมกับเครือข่ายมูลนิธิ สมาคม และชมรมต่างๆ เช่น มูลนิธิ SOS Animal Thailandสมาคมสงเคราะห์สัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชมรมรักสัตว์โอซีดี ทำกิจกรรมหาผู้อุปการะสุนัขและแมวจรจัดจากศูนย์ควบคุมสุนัข กทม. ในแคมเปญ “OOH4Paws” ผ่านสื่อโฆษณา เพื่อเพิ่มโอกาสในการหาบ้านใหม่ให้กับสุนัขและแมวจรจัด
นอกจากนี้ สนอ. ยังจัดหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ผ่าตัดทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเชิงรุกทุกวันทำการและในวันหยุดราชการ ซึ่งประชาชนสามารถติดตามแผนการออกหน่วยฯได้ที่เฟซบุ๊ก“กลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย” และสำนักงานเขตพื้นที่ รวมทั้งลงพื้นที่ร่วมกับชุมชนนำสุนัขและแมวจรจัดเข้ารับการผ่าตัดทำหมัน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และทำสัญลักษณ์ ก่อนปล่อยกลับคืนพื้นที่เดิมเพื่ออยู่ร่วมกับชุมชน พร้อมประชาสัมพันธ์พบเห็นสัตว์จรจัดสงสัยหรือสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าสามารถติดต่อกลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุขโทร. 02248 7417 หรือสายด่วน กทม. 1555 และกรณีสุนัขและแมวจรจัดกัดทำร้ายคน มีพฤติกรรมดุร้ายมีความเสี่ยงไม่ปลอดภัย หรือก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญสามารถติดต่อได้ที่กลุ่มควบคุมและพักพิงสุนัข สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข โทร. 02328 7460