In Thailand

สสจ.อุดรฯแจงติดโควิดอินเดียเน้นกักตัว



อุดรธานี-รองสสจ.อุดรแจงยังไม่เน้นฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงคลัสเตอร์สายพันธุ์อินเดีย จากกรณี หลังจากที่อุดรธานี พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย มากถึง 17 ราย สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ พบว่าส่วนใหญ่ติดมาจากหลักสี่ กทม. มาขยายวงคลัสเตอร์บายศรีสู่ขัญที่อุดร และมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย  

วันที่ 8 มิถุนายน 2564 เวลา 14.00 น.  นายอุเทน หาแก้ว รอง สสจ.อุดรธานี เปิดเผยว่า ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า หรือ สายพันธุ์อินเดีย ใน จ.อุดรธานี ก่อนหน้ามีรายงานแล้ว 7 ราย คือ ที่ อ.กุมภวาปี 1 ราย เป็นคนงานก่อสร้างที่มาจากหลักสี่ กทม. , อ.กุดจับ เป็นเด็ก 1 ราย ที่พ่อแม่ทำงานก่อสร้างที่หลักสี่ , อ.โนนสะอาด 1 ราย ที่กลับมาจากหลักสี่ , อ.บ้านดุง 4 ราย ที่มาจากหลักสี่ทั้งหมด และชุดหลังที่เป็นการส่งตรวจแยกสายพันธุ์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จากกลุ่มที่มีการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มเป็นก้อน ของคลัสเตอร์งานสู่ขวัญ ที่จัดงานตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค.ได้ตรวจหาเชื้อและเข้าสู่กระบวนการรักษาแล้วช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยบางส่วนได้หายกลับบ้านแล้ว แต่เนื่องจากการส่งผลตรวจล่าช้า เพิ่งได้รับแจ้งยืนยันเมื่อ 2 วันก่อนว่า ในกลุ่มนื้มีสายพันธุ์อินเดีย  

โดยคนกลุ่มนี้มีกิจกรรมร่วมกัน คือ ไปงานสังสรรค์ดื่มกินด้วยกัน ที่มีคนร่วมงานทั้งหมด 18 คน และมีคนติดเชื้ออยู่ภายในวงที่ตอนนี้ติดทั้งหมด 17 คน รวมทั้งผู้ที่ติดเชื้อในคลีนิคเสริมความงาม ที่มีคนในกลุ่มนี้ไปใช้บริการ โดยมีการรักษาที่โรงพยาบาลและหายป่วยไปแล้วส่วนใหญ่ แต่มีผู้เสียชีวิต 1 ราย เนื่องจากมีอาการหนักที่เข้ามารักษาด้วยอาการปอดอักเสบ ปอดบวม นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุ 73 และ 61 ปี ที่มีอาการหนักอีก 2 ราย ที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และยังมีผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องออกซิเจนแรงดันสูงอีก 2 ราย ที่มีอายุ 69 และ 51 ปี อยู่ในระหว่างการรักษาในโรงพยาบาล ส่วนอีก 1 ราย อายุ 61 ปี ที่อาการดีขึ้น จะได้กลับบ้านในวันพรุ่งนี้ 

สำหรับในการสอบสวนควบคุมโรค ของคลัสเตอร์สายพันธุ์อินเดียในงานสู่ขวัญ ที่เราพบผู้ป่วยรายล่าสุดตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.จากนั้นเราไม่พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์อินเดียเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ป่วยแต่ละราย ก็มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่เรามีการกักตัวอยู่ และตรวจหาเชื้อในแต่ละรายอย่างน้อย 2 ครั้ง สำหรับรายล่าสุดยังไม่ครบ 14 วัน อยู่ในระหว่างการกักตัวของผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งสำหรับคนกลุ่มนี้เราเน้นเรื่องของการกักตัวอย่างเข้มงวดเมื่อกลับบ้านไปแล้ว เพราะเราไม่ต้องการให้เกิดการแพร่ระบากไปสู่ชุมชนได้อีก เพราะสายพันธุ์อินเดียนี้ สามารถติดต่อแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว และเชื้อยังลงสู่ปอดและลงสู่ทางเดินหายใจส่วนล่างได้อย่างค่อนข้างเร็ว สังเกตได้จากมีผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงอยู่หลายรายด้วยกัน  

สำหรับแนวทางต่อไปในการป้องกัน คือ การให้ความรู้แก่ประชาชน และเรื่องของป้องงกันด้วยมาตรการส่วนบุคคล DMHTT อย่างเข้มงวด และสุกท้าย คือ เรื่องของวัคซีน ที่เราเน้นให้วัคซีนในกลุ่ม อ.เมือง มากที่สุด ในตอนนี้ที่มีการฉีดวัคซีนอยู่ และหากมีวัคซีนส่งมาให้อีกตามที่มีการจองไว้ ในเขต อ.เมือง จะได้มากที่สุด แต่สำหรับในครอบครัวเอง เราไม่ได้ไปเน้นในการฉีดวัคซีนให้ครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง หรือในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เราเน้นฉีดไห้ในวงกว้าง ที่คอดว่าเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้แก่ประชาชน ในเขตพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดมาก โดยเฉพาะ อ.เมือง  

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมเราไม่เน้นในการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์อินเดีย นายอุเทน ตอบว่า ที่เราไม่เน้นเพราะว่า เรามีการกักตัวไว้แล้ว และมีการตรวจหาเชื้ออยู่แล้ว เพราะกลุ่มนี้ถึงแม้จะฉีดวัคซีนตอนนี้ ก็ไม่สามารถสร้าง๓มิคุ้มกันขึ้นมาได้ทัน เพราะเป็นผู้ที่สัมผัสเสี่ยงสูงมาก่อนหน้านี้แล้ว ที่มีโอกาสที่จะติดเชื้ออยู่แล้ว แต่การที่เ ราสังเกตอาการและเฝ้าระวังติดตามตรวจดูก่อนว่า กลุ่มนี้จะมีการติดเชื้ออยู่ก่อนหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง รวมทั้งมาตรการที่จะต้องกักตัวให้ครบ 14 วันอย่างเข้มข้น จากนั้นการฉีดวัคซีนในวงกว้างก็จะมีการฉีดทุกคนอยู่แล้ว ทำให้กลุ่มครอบครัวกลุ่มนี้ที่มีทั้งผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ อยู่แล้ว ที่จะได้รับการฉีกวัคซีนภายในเดือนมิถุนายนนี้เป็นส่วนใหญ่ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการฉีกวัคซีนอยู่แล้ว  

ส่วนการที่ จ.อุดรธานี มีผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ เป็นมาจาก 1 อุดรธานี มีคนเข้าไปทำงานที่ กทม.มาก โดนเฉพาะไซด์งานก่อสร้างที่หลักสี่ ที่มีค่อนข้างมาก 2 จากการที่มีคลัสเตอร์ของงานสู่ขวัญ ที่มีการรวมกลุ่มกันหลายคน เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อมาจากหลักสี่ 1 คน ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน มาร่วมงาน โดยก่อนหน้าได้ไปที่หัวหิน กทม.แถวลาดพร้าวและหลักสี่ ก่อนที่จะกลับมาอุดรธานี ในช่วงปลายเดือนเมษายน ซึ่งรายนี้ก็เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายแรก ที่เป็นคนขับรถสองแถว จึงเป็นรายนี้ที่นำเชื้อเข้ามา โดยเฉพาะเข้ามาสู่ผู้ป่วยที่เสียชีวิต ทั้งสามีและภรรยาได้ไปร่วมในงานสู่ขวัญ ส่วนรายที่ไป กทม.หลับมา ก็เป็นหลานของสามีภรรยาคู่นี้ แต่ไม่ได้ไปร่วมงานสู่ขวัญ แต่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาก จึงทำให้เกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มนี้ จึงทำให้อุดรธานี มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสายพันธุ์อินเดียค่อนข้างที่จะเยอะ โดยในงานสู่ขวัญจึงมีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์อินเดียประมาณ 10 คน  

นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.อุดรธานี เปิดเผยว่า ภาพรวมทั้งจังหวัดวันนี้จะมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 5,649 คน มีทั้งแอสตราซินิก้าและซิโนแวค แบ่งเป็น ที่ ม.ราชภัฎอุดรธานี 2,768 คน ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา 300 คน  รพ.มะเร็ง 450 คน รพ.ค่ายประจักษ์ฯ 131 คน และประชาชนในต่างอำเภอเฉพาะผู้ที่มีรายชื่อตามคณะกรรมการอำเภอกำหนด อำเภอละ 100 คน ยกเว้น อ.กุมภวาปี 200 คน สำหรับที่ ม.ราชภัฎอุดรธานี ถือว่าบริหารจัดการกันได้ตามแผน

แบ่งการรับวัคซีนไว้ 2 ส่วน หากเป็นยี่ห้อแอสตราซินิก้าจะติดสติกเกอร์สีเขียว ยี่ห้อซิโนแวคจะติดสติกเกอร์สีแดง ซึ่งเป็นไปตามการจัดสรรจากทางรัฐบาล ขึ้นอยู่กับการจัดลำดับในการลงทะเบียน ทราบว่ามีบางรายที่ต้องการเปลี่ยนยี่ห้อในการฉีด เราไม่ได้มีการบังคับฉีดอยู่แล้ว หากต้องการเปลี่ยนก็แจ้งเปลี่ยนได้ แต่จะไม่ได้รับการฉีดในทันที ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ลงทะเบียนใหม่ ต้องรอคิวในการฉีดอีกครั้ง ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของแต่ละคน 

กฤษดา  จันทร์ดวง ผู้สื่อข่าว จ.อุดรธานี