In Bangkok
กทม.ยันเกณฑ์จัดระเบียบหาบเร่แผงลอย ปฏิบัติได้จริง-ลดการใช้ดุลยพินิจเทศกิจ
กรุงเทพฯ-นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยตามหลักเกณฑ์ใหม่อาจทำให้ผู้ค้าในจุดผ่อนผันเดิมเสี่ยงที่จะสูญเสียอาชีพว่า เป้าหมายหลักของการแก้ไขปัญหาหาบเร่แผงลอยคือ การทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกปลอดภัยในการใช้ทางเท้าสัญจร ซึ่งอาจจะกระทบกับการทำการค้าหาบเร่แผงลอย แต่ต้องเข้าใจว่า ทางเท้ามีวัตถุประสงค์เพื่อการสัญจร การอนุญาตให้ทำการค้าบนทางเท้าต้องคำนึงถึงประโยชน์และการเสียประโยชน์ของการใช้ทางด้วย ทั้งนี้ กทม. มีนโยบายจัดระเบียบการค้าหาบเร่แผงลอยและต้องไม่กระทบกับการสัญจร ความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง สร้างการมีส่วนร่วมของเอกชน ภาคส่วนต่าง ๆ การจัดทำข้อมูลผู้ค้า รวมถึงการพัฒนา
ศักยภาพผู้ค้าให้ดีขึ้น จึงต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขาย หรือจำหน่ายสินค้าบนถนน หรือสถานสาธารณะขึ้นเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 67
สำหรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขฯ ดังกล่าว ได้ปรับปรุงจากฉบับเดิมให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์และบริบทในปัจจุบัน ในบางประเด็นมีการผ่อนปรนมากขึ้น เช่น จำนวนช่องการจราจรไม่ได้เป็นข้อจำกัด เพียงแต่เมื่อจัดแผงค้าแล้วต้องมีที่ว่างให้ประชาชนสัญจรได้อย่างสะดวก ขนาดแผงค้าเพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 3 ตารางเมตร (ตร.ม.) จากไม่เกิน 2 ตร.ม. แต่บางประเด็นจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มขึ้น เช่น การรักษาความสะอาด คุณสมบัติผู้ค้าที่ให้ผูกโยงกับระบบภาษีเงินได้ เนื่องจากต้องการให้บ้านเมืองมีความสะอาด และลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ในการคัดกรองผู้ค้า
นอกจากนี้ ในการจัดระเบียบพื้นที่และการทำการค้าหาบเร่แผงลอย กทม. ยังดำเนินการในด้านอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เพื่อพัฒนาการทำการค้า การให้ความช่วยเหลือผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบ เช่น ในบริเวณที่มีการจัดระเบียบ เนื่องจากพื้นที่ไม่มีความเหมาะสม มีปัญหาการจราจร ความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง และเรื่องอื่น ๆ กทม. ได้ประสานจัดหาพื้นที่รองรับ ทั้งตลาดเอกชน ตลาดของ กทม. Hawker Center ซึ่งในปี 66 มีจำนวน 39 แห่ง ปี 67 มีจำนวน 28 แห่ง และยังพัฒนาหาพื้นที่รองรับให้ต่อไป ขณะเดียวกัน ยังได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย ในการพัฒนาและช่วยเหลือผู้ค้าในด้านแหล่งเงินทุน การส่งเสริมการขาย และอื่น ๆ ส่วนในพื้นที่ที่มีความโดดเด่น มีอัตลักษณ์ หรือมีวิถีของชุมชน กรุงเทพมหานครมีแนวคิดที่จะยกระดับให้เป็นพื้นที่อัตลักษณ์ วิถีชุมชน ตลาดชุมชน เพื่อส่งเสริมการทำการค้าสำหรับแหล่งอัตลักษณ์นั้น ๆ ซึ่งได้มีการยกเว้นเงื่อนไขไว้ในประกาศฉบับดังกล่าวแล้ว