In Global

จีนคาด‘นโยบายการเงินส่วนเพิ่ม’หนุนศก. ให้แกร่งหลังสินเชื่อโตช่วง3ไตรมาสแรก



ปักกิ่ง,1 พ.ย. (ซินหัว) - เมื่อวันที่ 15 ต.ค. อีโคโนมิก อินฟอร์เมชัน เดลี (Economic Information Daily) ในสังกัดของสำนักข่าวซินหัว รายงานว่าเครื่องมือทางนโยบายการเงินส่วนเพิ่ม (incremental policy) ของจีน คาดว่าจะมีบทบาทที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในการสนับสนุนภาคเศรษฐกิจจริง (real economy) หลังจากที่ธนาคารกลางจีนเผยข้อมูลการเงินทางสังคมที่เติบโตร้อยละ 8 เมื่อเทียบปีต่อปี เมื่อนับถึงสิ้นเดือนกันยายน

ข้อมูลระบุว่าการให้กู้ยืมเงินสกุลเงินหยวนขยายตัวร้อยละ 8.1 ส่วนปริมาณเงินตามความหมายกว้าง (M2)  เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบปีต่อปี สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในตลาดการเงินที่หวนกลับมาสืบเนื่องจากการสนับสนุนนโยบายดังกล่าว

ต่งซีเหมี่ยว หัวหน้าฝ่ายวิจัยของบริษัท เมอร์แชนตส์ ยูเนียน คอนซูเมอร์ ไฟแนนซ์ (Merchants Union Consumer Finance) ระบุว่าแม้จะมีความท้าทายหลายประการ เช่น ความต้องการทางการเงินที่ลดลงและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น แต่ข้อมูลทางการเงินในเดือนกันยายนยังคงอยู่ในช่วงที่เหมาะสม ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนมองว่ามีทรัพยากรสินเชื่อที่ไหลเข้าสู่ภาคส่วนสำคัญเพิ่มขึ้น โดยสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของจีนที่เกิดขึ้นหลายปีที่ผ่านมา

เมื่อเทียบปีต่อปีนับถึงสิ้นเดือนกันยายน สินเชื่อรวมสำหรับธุรกิจขนาดเล็กพุ่งสูงขึ้นร้อยละ 14.5 แตะ 32.9 ล้านล้านหยวน (ราว 156.05 ล้านล้านบาท) ส่วนสินเชื่อระยะกลางถึงระยะยาวสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 แตะ 13.88 ล้านล้านหยวน (ราว 65.83 ล้านล้านบาท) ขณะที่สินเชื่อสำหรับธุรกิจเฉพาะทางและธุรกิจนวัตกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 แตะ 4.26 ล้านล้านหยวน (ราว 20.21 ล้านล้านบาท)

เหวินปิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารไชน่า หมินเชิง แบงก์ ระบุถึงคาดการณ์ว่าการดำเนินนโยบายการเงินใหม่จะช่วยให้สินเชื่อจะไหลเข้าสู่ภาคส่วนที่สำคัญและอ่อนแอได้ราบรื่นยิ่งขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจภาคจริงได้รับการสนับสนุนอย่างมั่นคง

นอกจากนี้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทก็ลดลงเช่นกัน เช่น บริษัทปิโตรเคมีแห่งหนึ่งในกว่างตง (กวางตุ้ง) มีต้นทุนการจัดหาเงินทุนลดลงจากร้อยละ 3.2 เหลือร้อยละ 2.85 ในช่วงต้นปีนี้ ช่วยให้สามารถใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาและขยายตลาดได้มากขึ้น

ผู้สังเกตการณ์ตลาดคาดว่าอุปสงค์ทางสังคมจะฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเมื่อนโยบายใหม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางการเงินที่มั่นคง โดยเวินระบุว่านโยบายการเงินของจีนได้ปรับตัวตามสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และจะยังคงผลักดันอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภค เพื่อสร้างสมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์

(เรียบเรียงโดย Duan Jing, Xinhua Silk Road, https://www.xinhuathai.com/silkroad/474647_20241101 , https://en.imsilkroad.com/p/342627.html)