Think In Truth
ชี้สังคมGen YกับGen M ใคร...? มีปัญหา มากที่สุด โดย ... ฅนข่าว 2499
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งได้มีการวิเคราะห์กันว่าระหว่างGen Y กับ Gen M อันไหนมีปัญหาสังคมก้มหน้ามากที่สุด อธิบายเพิ่มคือยุค Baby Boomer เป็นยุคที่มีชีวิตเพื่อการทำงานเกิดหลังสงคราม ประหยัด รอบคอบ อดออม ไม่ใส่ใจเทคโนโลยีมากเกินสังคม
Gen X หรือ Extraordinary Generation ให้ความสำคัญกับชีวิตที่สมดุล ไม่ค่อยพึงพาเทคโนโลยีจนเกินพอดี ชอบความสัมพันธ์กับครอบครัว สังคม ต่อสู้ มุ่งมั่น รักความก้าวหน้า
Gen Y หรือ Why Generation โตมาพร้อมเทคโนโลยีเบ่งบานคอมพิวเตอร์เริ่มพัฒนามีคุณภาพการใช้งาน รักความก้าวหน้า ชอบแสดงออก เป็นตัวของตัวเองสูง ชอบถามหาเหตุผลในมิติดั่งเดิม ชอบเปลี่ยนแปลง ติดเทคโนโลยี พึงพาชีวิตกับเทคโนโลยีในเกือบทุกมิติ
Gen M หรือ Millennium Generation ส่วนใหญ่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เกิดมาพร้อมเทคโนโลยีที่ทันสมัย ยุคนี้จะถูกสั่งสอนเรื่องความเลวร้ายของสิ่งที่ยุคต่างๆ ทำผิดพลาดมา ยาเสพติด สุรา พฤติกรรมรุนแรง เอดส์ เป็นยุคความหวังจะสอนให้มีระเบียบการใช้เทคโนโลยี เป็นยุคเรียนรู้เร็ว และเป็นตัวของตัวเองสูง
ยุคนี้ติดเทคโนโลยีสูงมากและขาดวิจารณญาณในการใช้ เราขับเคลื่อนเรื่องของเทคโนโลยีอย่างเต็มกำลัง สำคัญที่สุด การไม่เรียนรู้ถึงการป้องกันและแก้ไขไม่นับเนื่องเรื่องการรับสัญญาณโทรศัพท์ที่มีผลต่อสุขภาพหรือไม่ แต่ที่เรื่องปวดหัวในสังคมโลกคือเราไม่มีกฎกติกา มารยาทสากลเพียงพอที่จะมายึดโยงใช้ในมารยาทสากลในที่ทำงาน สถานที่ราชการ สถานศึกษา สถานที่สาธารณะ แม้ยามอยู่ในงานวาระต่างๆ กับคนในครอบครัว สร้างกฎสังคมชนิดใครทำเสียมารยาทกันดีไหม แต่ผู้เขียนพบเห็นห้องประชุมหลายแห่งที่กากบาท โทรศัพท์มือถือ (ห้ามใช้) บางที่ computer ถูกห้ามด้วย ร้านอาหารหลายร้านยังมีอยู่น้อยมากที่ห้าม
สรรพสิ่งมีสองด้านเสมอ ข้อดีเทคโนโลยีก็มากมาย ทำให้ชีวิตง่ายต่อการประสานติดต่อเชื่อมโยง ทางธุรกิจธุรกรรมการค้า การจัดการส่งข้อมูลข่าวสาร การส่งผ่านการติดต่อประสานงานในระดับประเทศและระดับโลก ทำชีวิตในทุกด้านให้ง่ายต่อการทำงานติดต่อเชื่อมโยง การป้องกันภัยพิบัติที่เกิดขึ้น การใช้ป้องกันอาชญากรรม การใช้นำเส้นทาง การใช้ศึกษาหาความรู้ ใช้สำหรับสาระบันเทิงนานาประการ
แต่ข้อเสียหากใช้เกินตัวไปไหน ก้มหน้าก้มตาใช้ ทั้งงาน ประชุม สนทนา นั่งรถ กินข้าว อยู่กับใคร ใช้ทั้งหมด อยู่กับใครก็ก้มๆ เงยๆ เป็นโรคติดโทรศัพท์อย่างหนัก สิ่งนี้ต้องระวังอย่างมาก
หลายองค์กรตระหนักแล้ว แต่หลายที่หัวหน้าขอความร่วมมือ เชิญชวนให้ถือเป็นการผิดมารยาทหากต้องใช้เทคโนโลยีในห้องสัมมนา ห้องเรียน ห้องประชุม การสนทนาอย่างเป็นทางการทุกระดับ ไม่เดินส่งข้อความทางโทรศัพท์ อุบัติเหตุเกิดง่ายมาก มีเขตแบ่งที่ให้ใช้โทรศัพท์ในที่ดั่งคนสูบบุหรี่
พ่อแม่สามีภรรยาควรเป็นตัวอย่างลูกหลาน บางครอบครัวก่อนทานข้าว หลังทานข้าว ก้มหน้ากับจอโทรศัพท์ ไม่ค่อยคุยกัน ทำให้เสียความสัมพันธ์ในครอบครัว
ฝากถึงสังคมไทย ผู้ใหญ่สำคัญมาก บารมีที่กำลังคืนความสุขให้คนไทย
1.สังคมให้ความสำคัญกับเรื่องการก้มหน้ากับมือถือ computer ต้องตระหนักในการใช้สื่ออย่างพอดี ใช้มากมึนหัว ตาลาย สมองเครียด รณรงค์ดั่งการสูบบุหรี่-ดื่มเหล้า ใช้มือถือแต่พอดี ชีวีสดใส
2.วางมาตรการการใช้สื่อมีเดียต่างๆ ให้ใช้ถูกต้อง ถูกสถานที่ ถูกเวลา อยู่ต่อหน้าผู้อื่นแม้จะอยู่กับใครเล็กใหญ่ต้องให้เกียรติ คนโทร.มา ติดต่อกลับไปภายหลัง
3.ในรถเป็นกฎหมายแล้ว รอเวลาเดิน ก้มหน้าพิมพ์สนทนา หากอยู่คนเดียวในที่ใดๆ ตามสบาย แต่อยากให้เงยหน้ามองมนุษย์อยู่รอบท่านบ้าง ฟ้าสวย แดดใส ของทานอร่อย บรรยากาศร้านดี นี่คือสังคมมนุษย์
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เป็นที่น่าตกใจของการพบเห็น คนนั่งในสถานที่ทั่วไป ก้มหน้ามากกว่าครึ่ง มองหน้า สบตา ยิ้มแบบมิตรภาพหายจากคนรอบข้าง ไปส่งยิ้มกับใครคนแดนไหน
เงยหน้ามองฟ้า ก้มหน้ามองดิน ส่งยิ้มให้คนรอบข้าง จินตภาพกับสิ่งน่าสนใจรอบตัว อยู่กับใครๆ อย่างมีคุณภาพ ชีวิตไม่ยาว ให้ความสำคัญกับที่อยู่หน้า เมื่อว่างจากคนอยู่ต่อหน้าไปหาคนที่อยู่ในเครื่องสี่เหลี่ยมได้อย่างมีสติและสบายใจ ใครอยู่ที่ไหน โทร.หาใครโปรดอย่ารำคาญและอารมณ์เสียยามคนที่เราโทร.หาไม่รับโทรศัพท์
ถามตัวเองดูดีๆ ที่เราไปดูอะไรหลายที่ที่ถ่ายไว้นำกลับมาดูกี่ภาพ พิพิธภัณฑ์ที่ญี่ปุ่นหลายที่ห้ามถ่ายรูป เขาแจ้งว่าไม่ได้หวงแต่อยากให้ดูด้วยตาอย่างมีความสุข ซึมซาบของสูงค่าด้วยตาและจิตวิญญาณท่าน
ฝากถึงทุกวัย ทุกตำแหน่งหน้าที่ ทุก Generation ทุกครั้งที่จะใช้โทรศัพท์ เทคโนโลยี ท่านกำลังทำอะไรอยู่ อยู่กับใครที่ไหน ทำไม แบ่งเวลากับผู้ติดต่อมา เมื่อถึงเวลาเหมาะสม สังเกตให้ดีคนมีมารยาทที่ดีจะไม่ใช้โทรศัพท์ต่อหน้าคู่สนทนาท่านในทุกระดับ หากต้องใช้จะขอโทษและแจ้งปลายสายแล้วโทร.กลับ คนไทยมีมารยาท แต่บางทีลืมว่าเรื่องนี้เสียมารยาท
Gen ไหนๆ ผู้น้อยผู้ใหญ่ ขอให้มีสติการใช้สิ่งที่เรียกว่าเทคโนโลยี คืนความสุขให้คนรอบข้าง สร้างวัฒนธรรมใหม่ในสังคมไทย ไม่เป็นสังคมก้มหน้า สร้างปัญหากับความสัมพันธ์ กลับมามองหน้า สบตา ยิ้ม พูดคุย อยู่กับปัจจุบัน อยู่กับผู้ที่อยู่ต่อหน้าทุกมิติ ทุกการเจรจาคืนความสุขให้กันและกัน เรื่องนี้ดูไม่เป็นปัญหาทางสังคมแต่เป็นปัญหาทางจิตวิทยา หาแนวทางแก้ปัญหา ออกกฎ กติกา ก่อนจะเกิดภาวะเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก (ที่มา:มติชนรายวัน4 กันยายน 2557)
Light Phone :จบปัญหาสังคมก้มหน้า
ในยุคที่มนุษย์มีโทรศัพท์อัจฉริยะที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต มีแอปเจ๋งๆ ให้ใช้งาน เล่นโซเชียลมีเดียได้ ชำระค่าสินค้า ถ่ายภาพได้ด้วยกล้องที่มีความคมชัดสูง ฯลฯ อยู่ในครอบครอง แต่มนุษย์หลายคนที่ได้ครอบครองโทรศัพท์อัจฉริยะดังกล่าวก็ไม่ได้มีความสุขอย่างที่คิด นั่นจึงทำให้มีนักพัฒนากลุ่มหนึ่งที่มองว่า การพัฒนาโทรศัพท์ที่ตรงข้ามต่อสิ่งที่เป็นอยู่ในแวดวงสมาร์ทโฟนทุกวันนี้อาจเป็นทางออกที่ทำให้คนมีความสุขมากขึ้น
Joe Hollierและ Kaiwei Tang สองดีไซเนอร์ที่อยู่ในสายงานการพัฒนาสมาร์ทโฟนได้ตัดสินใจส่ง Light Phone ผลงานที่พวกเขาต้องการสื่อสารให้โลกหันมาตระหนักถึงการเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด ซึ่งพวกเขาเล็งเห็นว่า ทุกวันนี้มนุษย์ไม่ค่อยมีโอกาสอยู่กับปัจจุบัน และได้ทำความเข้าใจต่อจิตใจของตนเองมากนัก เนื่องจากพวกเขาติดอยู่กับโลกภายนอกผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟน
“Light Phone” จึงเป็นโทรศัพท์ที่ทำได้ตรงข้ามกับสมาร์ทโฟนในปัจจุบันแทบทุกข้อ มันไม่มีเกม ไม่มี NFC ไม่มีโซเชียลเน็ตเวิร์ก ไม่มีกล้องถ่ายภาพ แต่สิ่งที่มาแทนที่ก็คือ การมีน้ำหนักเบา รูปร่างบาง แถมชาร์จหนึ่งครั้งอยู่ได้นาน 20 วัน
ที่สำคัญมันทำได้เพียงแค่รับสายเข้า กับโทร.ออกเท่านั้น ทั้งหมดนี้มาในราคา 100 เหรียญสหรัฐ การใช้งานก็เพียงแค่ใส่ซิมการ์ดเข้าไป และสามารถโทร.ออกได้เลย ไม่ต้องตั้งค่าตัวเครื่องใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งทางผู้พัฒนามีแผนจะแถมเวลาในการโทร.ให้ 500 นาทีด้วย
“ทุกวันนี้เราใช้เวลาในแต่ละวันไปกับการเชื่อมต่อเข้ากับโลกภายนอกผ่านทางหน้าจอสมาร์ทโฟน และเราหลงลืมการให้ความสำคัญต่อปัจจุบันไปมากทีเดียว สาเหตุที่เราสร้าง Light Phone เพราะเราตระหนักดีกว่าความสุขที่แท้จริงคือ การได้อยู่กับปัจจุบัน ดังนั้น ผู้ที่ต้องการหาสมดุลในชีวิต รวมถึงสร้างการใช้งานเทคโนโลยีที่ให้ความสุขอย่างยั่งยืน อาจกำลังมองหาโทรศัพท์ในลักษณะดังกล่าว” Hollierกล่าว
“เป้าหมายสูงสุดของโครงการนี้คือ การใช้โทรศัพท์ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ซึ่งเราไม่ได้ต่อต้านเทคโนโลยี ไม่ได้ต้องการให้ผู้คนเลิกเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนของพวกเขา แค่อยากให้พักบ้างเท่านั้น”
ข้อดีอีกข้อหนึ่งคือ โทรศัพท์เครื่องนี้จะไม่ถูกแทนที่ด้วยรุ่นใหม่แน่นอน เพราะโปรเจกต์นี้เราทำขึ้นเพื่อต้องการสื่อสารให้โลกรู้ว่า เทคโนโลยีควรอยู่ในที่ที่เหมาะสม และทำให้ชีวิตมนุษย์มีความสุขอย่างยั่งยืน มนุษย์ควรมีเวลาได้คิดว่า เทคโนโลยีแบบไหนที่เหมาะสมต่อพวกเขา และทำให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งสำหรับเราตระหนักดีว่าความสุขที่ยั่งยืนคือ การได้อยู่กับปัจจุบันนั่นเองLight Phonอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย หากแต่เป็นก้าวแรกของสิ่งที่เราต้องการสื่อสาร
Light Phone เป็นมือถือรุ่นใหม่ที่เปิดตัวออกมาสำหรับแก้ไขเรื่องของสังคมก้มหน้าได้เป็นอย่างดี Light Phone ไม่มีจอภาพขนาดใหญ่ที่มาพร้อมกับความคมชัด ไม่มีกล้องดิจิตอลสำหรับถ่ายรูป ไม่รองรับ Wi-Fi ไม่สามารถเล่นโซเชียลเน็ตเวิร์คหรือรองรับการแจ้งเตือนใดๆได้ สามารถใช้งานได้นาน 20 วันต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง ตัวเครื่องมีความบางเพียง 4 มิลลิเมตร ราคาอยู่ที่ประมาณ 100 ดอลลาร์ หรือ 3,350 บาท
Light Phone มาพร้อมกับคีย์บอร์ดที่เป็นตัวเลขและแสงไฟในตัวสำหรับใช้งานในตอนกลางคืน Light Phone สามารถทำได้เพียงรับสายและโทรออกเท่านั้นในขณะนี้กำลังเข้าสู่ขั้นตอนการระดมทุนใน kickstarterสำหรับใครที่สนใจและอยากจะให้ทุนกับโครงการนี้ก็สามารถเข้าไปที่ www.kickstarter.com
5 วิธีแก้ไม่ให้ติดมือถือเกินขนาด
ในยุคที่ใครๆ ก็มีสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตแบบนี้ดูเหมือนว่าการมองหน้าจอนั้นจะสำคัญกว่าการมองหน้าจริงไปแล้ว หลายๆ ครั้งที่เรานัดเพื่อนเก่ามาทานข้าวแต่กลับเอาแต่ถ่ายภาพโพสลงIG แชร์ภาพให้เพื่อนและคอเม้นต์ภาพกันผ่านทาง facebookและเมื่อเงยหน้าขึ้นมาก็ได้เวลาแยกย้ายกันแล้ว จนมีหลายๆ คนตั้งคำถามว่าการเสพติดเทคโนโลยีแบบนี้นั้นทำให้คนใกล้กลายเป็นคนไกลและเป็นการลดทอนความสำคัญของคนสำคัญหรือไม่
นักจิตวิทยาอย่าง Dr. Deepika Chopra กล่าวว่าการติดโซเชียลมีเดียและการติดสมาร์ทโฟนนั้นมีความเกี่ยวข้องกัน และนอกจากที่มันจะทำให้เราเสียเวลาแล้วยังอาจจะทำให้เรามีความสุขน้อยลง, เหงามากขึ้น, ลดการเข้าสังคมลง และยังทำให้เกิดการพัฒนาการที่ช้าลงในเด็กอีกด้วย
ถ้าจะว่าไปแล้วการใช้เทคโนโลยีนั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่การเสพติดเกินพอดีคงไม่ดีแน่ต่อทั้งต่อสุขภาพ เช่น การปวดคอจากการก้มมองหน้าจอ และด้านสังคม แล้วจะดีกว่าไหมถ้าเรากลับมาใช้ชีวิตให้พอดี ให้ความสำคัญกับสิ่ง offline รอบๆตัวมากขึ้น
สำหรับวิธีการที่จะช่วยลดการติดสมาร์โฟน มีดังนี้
1.สำรวจตัวเองดูว่าใช้มือถือมากแค่ไหนต่อวัน
ก่อนที่จะเริ่มแก้ก็ต้องมาเรียนรู้พฤติกรรมของตัวเองกันก่อนว่าเสพติดสมาร์ทโฟนถึงขั้นไหนแล้ว โดยให้ลองเข้าไปดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเพื่อจับเวลาในการใช้งานมือถือของเราพร้อมทั้งตั้งเวลาเพื่อแจ้งเตือนหากเราใช้เวลาจ้องหน้าจอมากเกินไป แอพพวกนี้ก็มีหลายตัวอย่างเช่น QualityTimeบน Play Store หรือ Moment บน Apple App store และหากพบว่าเราใช้สมาร์ทโฟนมากเกินพอดีแล้วหละก็ให้ลองมาดูวิธีการที่จะลดการใช้งานในข้อต่อๆ ไปได้เลย
2.ปิดการแจ้งเตือนต่างๆ บนมือถือ
เชื่อว่าหลายๆ คนคงเป็นกันเวลาที่เราจะวางมือถือลงแล้วแต่กลับมี notification ต่างๆ เด้งเข้ามา ก็เป็นธรรมดาที่เราจะอดรนทนไม่ไหวต้องหยิบมือถือขึ้นมาเช็คดูว่ามีใครแชทอะไรมาหรือเม้นต์อะไรไว้ ดังนั้นจึงขอแนะนำให้ปิดการแจ้งเตือนที่ไม่จำเป็นทิ้งไปเลย แล้วถ้ามีเวลาว่างจริงๆ ค่อยมาไล่ดูย้อนหลังเอา
3.ตั้งเวลาออฟไลน์ตัวเองในทุกๆ วัน
ถ้าลองคิดดูมีหลายช่วงเวลาในชีวิตที่เราไม่จำเป็นต้อง online อย่างเช่น ช่วงเวลาทานอาหารเย็นกับครอบครัว, เวลาออกไปเที่ยวกับเพื่อนๆ หรือแม้แต่เวลาแช่น้ำเพื่อผ่อนคลาย ลองกำหนดให้ช่วงเวลาเหล่านี้เป็นช่วง offline ดู อย่างเช่นลองปิดเสียงมือถือเมื่อกลับบ้านแล้วก่อนจะเปิดอีกครั้งหลังออกจากบ้านเพื่อไปทำงาน ง่ายๆ แค่นี้ก็จะช่วยลดอาการติดมือถือลงได้แล้ว
4.อย่าใช้มือถือเป็นนาฬิกาปลุก
ถ้าจะให้ดีก็คืออย่าเอามือถือเข้าห้องนอนเพราะการวางมือถือไว้ข้างเตียงเพื่อใช้เป็นนาฬิกาปลุกแบบนี้สุดท้ายก็จะทำให้เราอดไม่ได้ที่จะหยิบมาดูนั่นดูนี่ก่อนนอน หรือหลังตื่นนอนอยู่ดี ซึ่งมีการพบว่าเล่นโทรศัพท์ก่อนนอนจึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องการนอนหลับทั้งยังมีผลต่อระดับความเครียดและอาจทำร้ายดวงตาจนอาจไปสู่ภาวะจอประสาทตาเสื่อมได้อีกด้วย
5.ฝึกฝนตัวเองให้พักบ้าง
ถ้าทำตามวิธีข้างต้นแล้วยังไม่ได้นั้น Dr. Larry D. Rosen นักจิตวิทยาจาก California State University ได้แนะนำว่าให้ลองฝึกตัวเองดู โดยวิธีการคือให้เราเปิดมือถือ ดูว่ามีอะไรบ้างที่ปกติเราจะต้องเช็ค เช่น ใครโทรมาบบ้าง, ข้อความใหม่, chat, social จากนั้นให้ปิด notification ทุกอย่างเอาไว้ ตั้งจับเวลาบนมือถือสัก 15 นาที คว่ำหน้ามือถือลง เมื่อครบตามเวลาที่กำหนดให้พลิกหน้าจอขึ้นมาดูได้สักสองสามนาทีว่ามีการแจ้งเตือนไหนเข้ามาบ้างไหม และให้ทำปบบเดิมซ้ำๆ แต่ค่อยๆ เพิ่มเวลาคว่ำหน้าจอไปเรื่อยๆ จนกว่าจะชินและไม่รู้สึกกังวลเมื่อต้องอยู่ห่างมือถือ.