In Bangkok

พลิกหลักเกณฑ์ดูเงื่อนไขทำการค้าปี67 คุมเข้มผู้ค้าถนนวรจักรเขตป้อมปราบฯ



กรุงเทพฯ-พลิกหลักเกณฑ์ส่องเงื่อนไขทำการค้าปี 67 คุมเข้มผู้ค้าถนนวรจักรเขตป้อมปราบฯ เล็งย้ายแผงค้าซอยทิพย์วารีเขตพระนคร พร้อมผลักดันตลาดตรอกหม้อเข้าสู่ตลาดนัดชุมชนย่านเมืองเก่า จี้ผู้รับจ้างเร่งปรับปรุงโรงเรียนวัดราชบูรณะ 

(2 พ.ย.67) เวลา 08.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าบริเวณหน้าตลาดวรจักร ถนนวรจักร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย บริเวณซอยทิพย์วารี และซอยเทศา ตลาดตรอกหม้อ ถนนราชบพิธ เขตพระนคร พร้อมทั้งติดตามงบประมาณการปรับปรุงโรงเรียนวัดราชบูรณะ เขตพระนคร 

“เช้าวันนี้ได้ลงพื้นที่ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ซึ่งในแต่ละจุดจะมีสภาพพื้นที่และปัญหาแตกต่างกันออกไป ในขณะเดียวกันในช่วงเวลาดังกล่าว จะมีประชาชนออกมาจับจ่ายซื้อของเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้บริหารเขตและเจ้าหน้าที่เทศกิจได้เห็นถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริง สามารถนำไปพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67” รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าว 

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า จุดแรกเป็นพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผันบริเวณถนนวรจักร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีผู้ค้า 28 ราย ตั้งแต่แยกวรจักรถึงธนาคารกรุงเทพ ผู้ค้าจะจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทาน ขนมครก ปาท่องโก๋ ผลไม้สด ผลไม้ดอง ตั้งวางแผงค้าบนทางเท้าอยู่ติดกับช่องทางจราจร โดยได้มอบหมายให้เขตฯ จัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าใหม่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 นอกจากนี้ให้เขตฯ พิจารณาจัดระเบียบวินรถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ โดยกำหนดรูปแบบตัวอย่างให้ชัดเจน ประสานสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผลบันทึกข้อมูลลงในระบบ ส่วนพื้นที่ทำการค้าบริเวณถนนดำรงรักษ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีผู้ค้า 71 ราย ซึ่งสำนักการโยธา มีโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์และทางเท้าบริเวณถนนดำรงรักษ์ทั้ง 2 ฝั่ง ตั้งแต่ถนนดำรงรักษ์ตัดถนนจักรพรรดิพงษ์ ถึงถนนดำรงรักษ์ตัดถนนกรุงเกษม ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ออกประกาศเพื่อให้ผู้ค้าหยุดทำการค้าตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป โดยให้เขตฯ ประสานสำนักการโยธาและผู้รับจ้างในการเข้าพื้นที่ทำงาน และจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างต่อเนื่อง 

สำหรับเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 2 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 52 ราย ได้แก่ 1.ถนนวรจักร ตั้งแต่แยกวรจักร ถึงธนาคารกรุงเทพ ผู้ค้า 28 ราย (ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-15.00 น. ผู้ค้า 25 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-24.00 น. ผู้ค้า 3 ราย) 2.ถนนเจริญกรุง ตั้งแต่หน้าโรงพยาบาลกว๋องสิว ถึงแยกหมอมี ผู้ค้า 24 ราย (ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-16.00 น. ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-24.00 น. ผู้ค้า 12 ราย) ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 12 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 216 ราย ได้แก่ 1.ดำรงรักษ์ ฝั่งโบ๊เบ๊ทาวเวอร์ ผู้ค้า 43 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-17.00 น. 2.ดำรงรักษ์ ฝั่งกระทรวงพัฒนาสังคม ผู้ค้า 28 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-17.00 น. 3.ถนนพะเนียง ฝั่งวัดโสมนัส ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-15.00 น. 4.ถนนเฉลิมเขต 2 ฝั่งธนาคารกรุงไทย ผู้ค้า 4 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 5.วงเวียน 22 กรกฎาคม (หน้าอาคารหมอมี) ผู้ค้า 5 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-24.00 น. 6.ถนนยุคล 2 ผู้ค้า 4 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 7.สวนมะลิ 1 ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 8.ถนนเจริญกรุง (ตรอกอิสรานุภาพ) ผู้ค้า 54 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. 9.ถนนพลับพลาไชย ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. 10.ถนนเจริญกรุง (ปากซอยศรีธรรมาธิราช) ผู้ค้า 4 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-16.00 น. 11.ถนนมหาจักร ตั้งแต่ถนนเจ้าคำรบ ถึงถนนเจริญกรุง ผู้ค้า 27 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-16.00 น. 12.ถนนเจ้าคำรบ ตั้งแต่ถนนวรจักร ถึงถนนมหาจักร ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-16.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้าแล้ว 3 จุด ได้แก่ 1.ถนนเจริญกรุง ตั้งแต่ซอยถนนมังกร ถึงแยกแปลงนาม ผู้ค้า 3 ราย 2.ถนนมังกรตัดถนนเจริญกรุง ผู้ค้า 4 ราย 3.ถนนมังกร ตั้งแต่ถนนพลับพลาไชย ถึงถนนเจ้าคำรบ ผู้ค้า 21 ราย 

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า จุดต่อมาเป็นพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผันบริเวณซอยทิพย์วารี เขตพระนคร มีผู้ค้า 61 ราย ส่วนใหญ่จะขายอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ตกแต่งรถ ประดับยนต์ ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงซอยทิพย์วารี จากถนนบ้านหม้อถึงถนนตรีเพชร โดยสร้างบ่อพักและวางท่อระบายน้ำเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.80 เมตร ทั้ง 2 ฝั่งบนผิวจราจร สร้างคันหินความสูง 18.5 เซนติเมตร เทผิวจราจรแอสฟัลต์คอนกรีต ความหนาเฉลี่ย 0.10 เมตร เททางเท้าคอนกรีตพิมพ์ลาย ความหนา 0.10 เมตร ตีเส้นจราจรและทาสีขอบทางเท้า ในขณะเดียวการประปานครหลวง ได้ขุดวางท่อประปาบริเวณดังกล่าว ปัจจุบันการปรับปรุงซอยทิพย์วารีเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยเขตฯ ได้ตรวจรับงานเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ในช่วงเวลาที่ปรับปรุงซอยดังกล่าว ผู้ค้าที่ทำการค้าบริเวณซอยทิพย์วารี ได้หยุดทำการค้าชั่วคราว โดยผู้ค้าส่วนหนึ่งได้เข้าไปทำการค้าในพื้นที่เอกชน บางส่วนเลิกทำการค้า ซึ่งในจุดนี้ เขตฯ มีแนวคิดอยู่ 2 ทาง คือย้ายผู้ค้าไปทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดเตรียมไว้ กับปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นย่านการค้า โดยเขตฯ จะเชิญผู้ค้ามาประชุมสร้างความเข้าใจในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าใหม่ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 อีกครั้งหนึ่ง 

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า ในจุดสุดท้ายเป็นพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผันถนนราชบพิธ บริเวณซอยเทศา หรือตลาดตรอกหม้อ เขตพระนคร มีผู้ค้า 219 ราย เริ่มทำการค้าในช่วงเช้าตรู่ตั้งแต่เวลา 05.00 น. ไปจนถึงช่วงบ่ายเวลา 14.00 น. ส่วนใหญ่จะตั้งวางแผงค้าอยู่ในตรอกหม้อ จำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทาน ขนมไทย อาหารสด อาหารทะเล ผักสดและผลไม้ตามฤดูกาล ในส่วนของถนนราชบพิธ จะมีผู้ค้าอยู่เพียง 15 ราย โดยเขตฯ จะย้ายผู้ค้าเข้าไปในซอยเทศาหรือตรอกหม้อทั้งหมด อย่างไรก็ตามบริเวณตลาดตรอกหม้อ ถือว่าเป็นตลาดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ย่านเมืองเก่าของกรุงเทพมหานคร โดยได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 ซึ่งในข้อ 3 ไม่ใช้บังคับกับพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์ วิถีชุมชน ตลาดชุมชน ย่านพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเขตฯ จะเชิญผู้ค้ามาประชุมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 โดยพิจารณาหาแนวทางจัดระเบียบให้เป็นตลาดนัดชุมชนหรือวิถีชุมชนในย่านดังกล่าวต่อไป 

ส่วนเขตพระนคร มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 22 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 1,024 ราย ดังนี้ 1.ซอยท่ากลาง ผู้ค้า 35 ราย 2.ถนนบ้านหม้อ ตั้งแต่แยกถนนบ้านหม้อ ถึงแยกสี่กั๊ก ผู้ค้า 10 ราย 3.ถนนจักรเพชร ตั้งแต่สะพานลอย ถึงเชิงสะพานภาณุพันธ์ ถนนเยาวราช ผู้ค้า 6 ราย 4.ซอยทิพย์วารี ฝั่งซ้าย ฝั่งถนนตรีเพชร ถึงซอยทิพย์วารี ผู้ค้า 61 ราย 5.ซอยจินดามณี ผู้ค้า 36 ราย 6.ถนนจักรพงษ์ ผู้ค้า 55 ราย 7.ซอยรามบุตรี ผู้ค้า 46 ราย 8.ถนนรามบุตรี ผู้ค้า 11 ราย 9.ถนนพระสุเมรุ (แยกสิบสามห้าง-แยกบางลำพู) ผู้ค้า 7 ราย 10.ถนนสามเสน ผู้ค้า 96 ราย 11.ถนนสิบสามห้าง (กลางคืน) ผู้ค้า 50 ราย 12.ถนนรามบุตรี ฝั่งโรงแรมไอบิท (กลางคืน) ผู้ค้า 26 ราย 13.ถนนรามบุตรี ผู้ค้า 51 ราย 14.ท่าพระจันทร์ ผู้ค้า 22 ราย 15.ริมคลองหลอด ถนนราชินี ผู้ค้า 11 ราย 16.ซอยท่ากลางปากคลองตลาด ถนนเฟื่องนคร ผู้ค้า 44 ราย 17.ซอยท่ากลางปากคลองตลาด ถนนมหาไชย ผู้ค้า 18 ราย 18.อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ผู้ค้า 99 ราย 19.ซอยเทศา (ตลาดตรอกหม้อ) ถนนราชบพิธ ผู้ค้า 219 ราย 20.ปากคลองตลาด (กลางคืน) ผู้ค้า 50 ราย 21.ท่าพระจันทร์ ถนนมหาราช (กลางคืน) ผู้ค้า 44 ราย 22.ถนนราชินี (กลางคืน) ผู้ค้า 27 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 8 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 972 ราย ดังนี้ 1.ถนนข้าวสาร ผู้ค้า 178 ราย 2.ถนนไกรสีห์ ผู้ค้า 224 ราย 3.ถนนตานี ผู้ค้า 228 ราย 4.ถนนจักเพชร-พาหุรัด-ตรีเพชร ผู้ค้า 222 ราย 5.ถนนพาหุรัด ฝั่งไชน่าเวิลด์ ผู้ค้า 48 ราย 6.แพร่งนรา ผู้ค้า 16 ราย 7.ถนนอัษฎางค์ ผู้ค้า 43 ราย 8.ถนนสามเสน ผู้ค้า 13 ราย โดยในปี 2567 เขตฯ ดำเนินการยกเลิกพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 9 จุด รวมผู้ค้า 150 ราย ได้แก่ 1.ถนนอัษฎางค์ ผู้ค้า 9 ราย ยกเลิกวันที่ 1 ก.พ.67 2.ซอยดำเนินกลางเหนือ ผู้ค้า 8 ราย ยกเลิกวันที่ 1 ก.พ.67 3.ถนนราชดำเนินกลาง (ข้างกองสลากเก่า) ผู้ค้า 7 ราย ยกเลิกวันที่ 1 ก.พ.67 4.ถนนพระสุเมรุ (ซอยกสิกรไทย) ผู้ค้า 9 ราย ยกเลิกเดือนเม.ย.67 5.ถนนดินสอ (หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา) ผู้ค้า 9 ราย ยกเลิกเดือนเม.ย.67 6.ท่าพระจันทร์ (บนลานท่าพระจันทร์) ผู้ค้า 22 ราย ยกเลิกเดือนเม.ย.67 โดยยุบรวมกับถนนมหาราชบางส่วน 7.ถนนมหาราช ผู้ค้า 50 ราย ยกเลิกเดือนเม.ย.67 8.ท่าเตียน ผู้ค้า 24 ราย ยกเลิกวันที่ 21 เม.ย.67 และ 9.ข้างศูนย์เบนซ์ ผู้ค้า 11 ราย ยกเลิกเดือนก.พ.67 โดยยุบรวมกับผู้ค้าบริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center (ศูนย์อาหาร) บริเวณริมคลองบางลำพู ผู้ค้า 26 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-20.00 น. ทั้งยังได้จัดทำ Hawker Center บริเวณข้างศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ริมคลองหลอดวัดราชนัดดา ผู้ค้า 60 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-14.00 น. 

พร้อมกันนี้ ได้ติดตามงบประมาณการปรับปรุงโรงเรียนวัดราชบูรณะ ประกอบด้วย งานปรับปรุงพื้นสนามอเนกประสงค์ งานสร้างรางระบายน้ำ งานปรับปรุงโครงสร้างและแผ่นหลังคาอเนกประสงค์ ซึ่งสิ้นสุดสัญญาเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2567 ปัจจุบันผู้รับจ้างดำเนินการแล้วเสร็จ 60% โดยมีค่าปรับวันละ 1,250 บาท ปรับจนถึงวันที่ทำงานแล้วเสร็จ ซึ่งผู้รับจ้างมีหนังสือยินยอมเสียค่าปรับตามสัญญา โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กำชับผู้รับจ้างให้เร่งทำงานในส่วนเหลืออยู่ ซึ่งเป็นงานสร้างรางระบายน้ำเชื่อมต่อกับท่อระบายน้ำด้านหน้าถนนตรีเพชรให้แล้วเสร็จโดยเร็ว 

ในการนี้มี นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายเพ็ชร ภุมมา ผู้อำนวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย นายโกศล สิงหนาท ผู้อำนวยการเขตพระนคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักเทศกิจ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพระนคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล