In Bangkok
กทม.ย้ำจัดทำร่างผังเมืองรวม(ปรับปรุง4) คำนึงถึงสิทธิ์-การมีส่วนร่วมของปชช.
กรุงเทพฯ-นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) กทม. กล่าวชี้แจงกรณีสภาผู้บริโภคตั้งข้อสังเกตการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่มีการให้รายละเอียดผลกระทบ และการจัดรับฟังความคิดเห็น กทม. ไม่ได้สร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงว่า การวางและจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) กทม. ได้คำนึงถึงสิทธิ์และการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการวางและจัดทำผังเมืองรวม ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 9 ของพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 โดยจัดให้มีการประชุม เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั้งก่อนมีร่างและหลังมีร่างผังเมืองรวม ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี 60-ปัจจุบัน ในการดำเนินการดังกล่าวได้ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องผ่านทางเว็บไซต์ของโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมฯ (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาข้อมูลก่อนการประชุม พร้อมเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมการประชุม โดยไม่ได้เลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่ม ซึ่งผู้เข้าร่วมการประชุมสามารถรับเอกสารประกอบ การประชุม รับฟังและซักถามรายละเอียดได้ในที่ประชุม หรือแจ้งเป็นหนังสือให้ กทม. ทราบ โดย กทม. ได้เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นต่อร่างผังเมืองรวมได้ตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค. 66 - 30 ส.ค. 67 รวมระยะเวลา 8 เดือน ซึ่งมากกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นแบบรายเขตทั้ง 50 เขตเพิ่มเติมด้วย โดยเป็นการจัดประชุมในสถานที่ ณ เขตต่าง ๆ ร่วมกับการประชุมแบบออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม การมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางและจัดทำผังเมืองรวมเป็นสิทธิ์ของประชาชนที่จะเข้าร่วมหรือไม่ก็ได้ บางส่วนรับรู้ข้อมูลแต่เนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบก็ไม่ได้เข้าร่วมการประชุม หรือแสดงความคิดเห็นต่อร่างผังเมืองรวมแต่อย่างใด บางส่วนได้รับผลกระทบ หรือได้รับข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนก็สามารถสอบถาม หรือแสดงความคิดเห็นต่อ สวพ. ได้ตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ การวางและจัดทำร่างผังเมืองรวมฯ ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ทุกประการ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้กรุงเทพมหานครมีผังเมืองรวมฉบับใหม่ที่เหมาะสมกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมของเมือง ที่เปลี่ยนแปลงไปและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ซึ่งการวางและจัดทำผังเมืองรวมถือเป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิ์ของประชาชนบางประการที่สามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลของการรักษาไว้ซึ่งสุขลักษณะ ความปลอดภัยของประชาชน และสวัสดิภาพของสังคม หากไม่มีข้อกำหนดในผังเมืองรวมจะทำให้ทุกคนสามารถพัฒนาอะไรก็ได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดการรบกวนผู้อื่นและเท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่นด้วยเช่นกัน ดังนั้น ผังเมืองรวมจึงเป็นเครื่องมือที่ป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิ์ซึ่งกันและกัน และเพื่อให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันโดยปกติสุข
สำหรับประเด็นการกำหนดถนนโครงการจำนวน 148 สาย การปรับปรุงคลอง การกำหนดบึงรับน้ำคู้บอน และปัญหาของเมืองในด้านต่าง ๆ สวพ. อยู่ระหว่างการรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพื่อประกอบการพิจารณาปรับปรุงร่างผังเมืองรวมให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ตรงตามข้อเท็จจริงของสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมของเมือง และเป็นไปตามหลักทางวิชาการผังเมือง ซึ่งขณะนี้ ยังไม่แล้วเสร็จ โดยหลังจากมีร่างผังเมืองรวมที่ปรับปรุงแก้ไขหลังจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว ขั้นตอนต่อไป กทม. จะเสนอต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร กรมโยธาธิการและคณะกรรมการผังเมืองจังหวัดกรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณา ก่อนนำไปปิดประกาศเป็นเวลา 90 วัน ให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียสามารถยื่นคำร้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อกำหนดได้อีกครั้งตามขั้นตอนของกฎหมาย โดย กทม. จะนำคำร้องดังกล่าวเสนอคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องพิจารณา ผลการพิจารณาถือเป็นที่สิ้นสุด และจะนำร่างผังเมืองรวมฯ เข้าสู่ขั้นตอนตามกฎหมาย เพื่อประกาศเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครใช้บังคับต่อไป