Health & Beauty
ระวัง!ผู้ใช้สื่อโซเชียลส่งผลต่อสุขภาพจิต W9แนะองค์กรช่วยพนง.ทำงานเชิงบวก
กรุงเทพฯ-W9 Wellness Center ชี้ปัญหาสุขภาพทางจิตกำลังเป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญที่สังคมให้ความสนใจ หลายบริษัทเริ่มหันมาใส่ใจกับสุขภาพจิตของพนักงาน ซึ่งอาจเกิดจากภาระงานที่หนักเกินไป รวมถึงสภาวะการทำงานที่กดดันพอดี จนทำให้เกิดความเครียดสะสม รวมถึงปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตและการทำงาน จนอาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ เช่น เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น เปิดรับข่าวสารด้านซ้ำ ๆ ฯลฯ จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตแบบไม่รู้ตัว ดังนั้นเพื่อป้องกันและ ช่วยลดปัญหาระยะยาว แนะนำทุกคนดูแลสุขภาพเชิงเวลเนส เน้นสร้างสมดุลสุขภาพทั้งกายและใจ แบบตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ที่เน้นทำกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างอารมณ์ความรู้สึก
เชิงบวก ช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพแบบองค์รวม
นายแพทย์พิจักษณ์ วงศ์วิศิษฎ์ แพทย์ผู้อำนวยการ W9 Wellness Center กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาสุขภาวะ ทางใจกำลังเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตพบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับ บริการเพิ่มขึ้น จาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 เป็น 2.9 ล้านคน ในปี 2566 สอดรับกับข้อมูลของ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 รายงานแรงงานอายุ 20 - 59 ปี ขอรับบริการเรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงาน สูงอันดับ 1 และข้อมูลของ Jobsdb by SEEK ชี้ความเครียดในที่ทำงานทำให้พนักงานลาออกสูงถึง 33% รวมถึงข้อมูลของ สลิงชอท กรุ๊ป ระบุว่าพนักงานเจนใหม่ 73% ใช้วันลาหยุดเพื่อฟื้นฟูจิตใจ นอกจากนี้ ปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและการทำงาน เพื่อการติดต่อและอัปเดตข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้ง่ายและรวดเร็วจากสื่อสังคมออนไลน์ (Social media) เช่น Facebook Twitter Instagram จนอาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ เช่น เปรียบเทียบไลฟ์สไตล์และชีวิตตัวเองกับคนอื่นจากสื่อโซเชียลมีเดีย จนทำให้รู้สึกไม่พอใจตัวเอง เปิดรับข่าวสารด้านลบย้ำ ๆ จนทำให้จิตตกเกิดความหดหู่ จนเป็นภาวะเครียดสะสม ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ส่งกระทบต่อสุขภาพจิตได้โดยไม่รู้ตัว
ด้วยเหตุนี้ปัญหาสุขภาพทางจิตใจนับเป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญที่ องค์กร หน่วยงาน บริษัทภาคธุรกิจได้หันมา ตระหนักถึงความสำคัญ สนใจ และมีนโยบายในการดูแลสุขภาพจิตใจ เพราะการมีสุขภาพจิตที่ดีเป็นหนึ่งในดัชนี ชี้วัดคุณภาพชีวิต และเป็นหัวใจสำคัญต่อการการขับเคลื่อนองค์กร ทั้งยังเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันบริษัทชั้นนำหลายแห่งได้ดำเนินนโยบายสวัสดิการที่มุ่งเน้นเรื่อง Work Life Balance และส่งเสริมการดูแลสุขภาพทางด้านจิตใจ เช่น มีสวัสดิการฟิตเนสที่มี Personal Trainer และนักกายภาพบำบัดประจำออฟฟิศไว้ดูแล สวัสดิการรักษาด้านสุขภาพจิต รวมถึงอนุญาตให้พาสัตว์เลี้ยงมาที่ทำงาน มีสวัสดิการลาหยุดที่เกี่ยวกับความเห็นอกเห็นใจ หรือ Compassionate Leave สำหรับการยุติความสัมพันธ์รัก การสูญเสีย ซึ่งรวมไปถึงการสูญเสียสัตว์เลี้ยง เนื่องจากความโศกเศร้าจากการสูญเสียคน หรือสิ่งที่รักอาจนำไปสู่การกระทบกระเทือนทางอารมณ์และความรู้สึกอย่างรุนแรง ซึ่งสุขภาพจิตที่ย่ำแย่จากการสูญเสียคนสำคัญส่งผลต่อประสิทธิภาพทำงาน เพราะฉะนั้นการได้หยุดพักเพื่อให้บุคลากรได้มีเวลาทำใจและจัดการความรู้สึก รวมถึงเป็นการแสดงออกขององค์กร ที่มีความเห็นอกเห็นใจ รู้สึกเสียใจต่อการสูญเสียดังกล่าว เป็นการสนับสนุนการป้องกันปัญหาสุขภาพจิต และบริการ Mental Clinic โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยรับฟังและช่วยแก้ปัญหาสุขภาพจิตให้กับพนักงาน เป็นต้น
“ปัญหาทางจิตใจถูกยกขึ้นมาเป็นหัวข้อพูดคุยมากขึ้นในวงกว้าง โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดจากที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็น ภาวะเครียดสะสม ที่หลายคนเป็นแต่ไม่รู้ตัวจากการทำงานบนความตึงเครียด ความกดดัน และมีความคาดหวังสูง จนส่งผลถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น นอนไม่หลับ ตื่นกลางดึก เบื่อหน่ายชีวิต หดหู่เศร้า เป็นต้น ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) มักเกิดจากภาวะเครียดสะสมที่กลายเป็นปัญหาเรื้อรังในที่ทำงาน ขาดความสุข หมดแรงจูงใจ จนส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน รู้สึกไม่อยากทำงานในที่สุด และเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้า ภาวะรู้สึกไม่พึงพอใจในตนเอง (Low self esteem) รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า สูญเสียความรู้สึกที่ให้เกียรติตัวเอง มักกล่าวโทษตัวเองเป็นต้นเหตุของปัญหา ตัวเองไม่ดีพอ ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อทำงานร่วมกับคนอื่น นอกจากนี้ยังมี ภาวะวิตกกังวลและอาการแพนิค อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันจิตแพทย์ถูกจองคิวเต็มข้ามปี หลายคนต้องพึ่งพายา หลายคนไม่อยากพึ่งพายา แต่พยายามหาทางเลือก ในการรักษา เพื่อช่วยควบคุมอาการโดยไม่ใช้ยา” นายแพทย์พิจักษณ์ กล่าว
ปัจจุบันการแพทย์องค์รวม และการดูแลสุขภาพเชิงเวลเนส เป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้าง เป็นอีกทางเลือก ในการดูแลรักษาสุขภาพจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายทางจิต (Mindfulness exercise) ร่างกายต้องการการออกกำลังกายเพื่อความแข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ จิตใจก็ต้องการด้วยเช่นเดียวกัน โดยวิธีการจดจ่อไปที่อารมณ์ ความคิด และความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะหนึ่งอย่างตั้งใจ ด้วยการฝึกการหายใจ เปลี่ยนมุมมองความคิด และทัศนคติเชิงบวก ผ่านการทำกิจกรรมสันทนาการตามไลฟ์สไตล์ในปัจจุบัน เช่น การฝึกโยคะร่วมกับสัตว์เลี้ยงบำบัด Puppy Yoga คลาสโยคะที่มีน้องหมามาร่วมเล่นด้วย ดนตรีบำบัด โดยมีนักดนตรีบำบัดมาพูดคุยและวางแผนกิจกรรมดนตรีบำบัดด้วยการฟัง หรือเล่นดนตรี ร้องเพลง แต่งเพลง หรือเล่นเครื่องประกอบจังหวะต่าง ๆ เป็นต้น ศิลปะบำบัด ผ่านการสร้างงานศิลปะ วาดภาพ พับกระดาษ หรือการจัดดอกไม้ รวมถึงมีโภชนบำบัด ด้วยการปรับอาหารและการใช้ วิตามินเสริมเฉพาะบุคคล (Personalized Compounding Supplements) โดยอาจเลือกการรักษาเป็นแนวทางหลัก หรือใช้ควบคู่กับการแพทย์ปัจจุบันอย่างบูรณาการ
ด้วยวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน ปัญหาทางสุขภาวะทางกายและใจอาจมีสาเหตุหลายปัจจัยซ้อนทับกัน และส่งผลกระทบกัน การปรับสมดุลสุขภาพทางกาย และสร้างสมดุลทางใจช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพแบบองค์รวม สร้างปัจจัยป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงของสาเหตุปัญหาสุขภาพจิตด้านต่าง ๆ ทั้งการส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เสริมสร้างศักยภาพให้เซลล์และอวัยวะภายในร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิ ภาพมากที่สุดด้วยการหมั่นออกกำลังกาย และปัจจัยที่สำคัญมากคือ การปรับสมดุลฮอร์โมน เนื่องจากภาวะฮอร์โมนไม่สมดุลอาจเกิดได้ทุกวัยและมักส่งผลต่อความผิดปกติ อาจไม่ใช่โรคร้ายแรงแต่เป็นโรคเรื้อรังที่รบกวนการดำเนินชีวิต เช่น อารมณ์แปรปรวน นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ไม่สดชื่น หากปล่อยไว้โดยไม่แก้ไขอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า เครียดสะสม นอกจากนี้ต้องดูแลตัวเองให้ สมบูรณ์ด้วยโภชนาการ เพราะวิตามินและแร่ธาตุสาร อาหารบางชนิด เช่น กรดไขมันโอเมก้า 3 วิตามินดี วิตามินบี 12 และแร่ธาตุสังกะสี มีส่วนสำคัญในการผลิตสารสื่อประสาท เช่น เซโรโทนิน โดพามีน และนอร์เอพิเนฟริน ซึ่งเกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความคิด นายแพทย์พิจักษณ์ กล่าวทิ้งท้าย