Travel Sport & Soft Power

อุดรฯจัดประกวดควายสวยงามชิงถ้วยฯ แห่ชิงทั่วไทยกว่า500ตัวมูลค่า1.5พันล.



 อุดรธานี พร้อมต้อนรับกองทัพควายสวยงามจากทั่วไทยกว่า 500 ตัว มูลค่าควายร่วมงานกว่า 1,500 ล้านบาท สอดคล้องนโยบายรัฐบาล 5F Soft power ในกิจกรรมประกวดควายสวยงามชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี “อุดรธานี วิถีคน วิถีควาย มรดกไทย มรดกโลก” ครั้งที่ 3 ประจำปี 2567  วันที่ 16-19 พฤศจิกายนนี้ ณ โคกหนองโกสาธารณะ อ.ทุ่งฝน  จ.อุดรธานี 

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่สวนสาธารณะโคกหนองโก ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานี   นายพิสิษฐ์ชัย อภัยปิยกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พร้อมด้วย นายประเทือง เพชรโรจน์ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ปฏิบัติหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี นายกำธร วิเชฎฐพงศ์ นายอำเภอทุ่งฝน นายศุภวัฒน์ ศรีเชษฐา หัวหน้าลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ แทนปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี พันตำรวจเอกสุรชิต ฤทธิลี ผู้กำกับการสสถานีตำรวจภูธรอำเภอทุ่งฝน นายบัญชา  กันหาสินธุ์ ประชาสัมพันธ์อุดรธานี นายพงษ์เทพ เลิศประเสริฐ นายกสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทยจังหวัดอุดรธานีในพระอุปถัมภ์ ร่วมกันแถลงข่าว การจัดงานประกวดควายสวยงาม ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ครั้งที่ 3 “อุดรธานี วิถีคน วิถีควาย มรดกไทย มรดกโลก”

ซึ่งกำหนดจัดขี้นระหว่างวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2567 ณ พื้นที่สาธารณประโยชน์ห้วยโป่งวัว (โคกหนองโกสาธารณะ) ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานี โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกษตรกร ภาคเอกชน  และสื่อมวลชน ร่วมงาน โดยได้นำควายสวยงามพ่อพันธุ์มาโชว์ภายในงานด้วย

จังหวัดอุดรธานี ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี  กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงควายในจังหวัดอุดรธานี สมาคมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทยจังหวัดอุดรธานีในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี  ศูนย์อนุรักษ์และพัฒนาควายในจังหวัดอุดรธานี กำหนดจัดการประกวดควายสวยงาม “อุดรธานี วิถีคน วิถีควาย มรดกไทย มรดกโลก” โดยได้รับพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ จากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในการเสด็จเป็นองค์ประธาน ประทานถ้วยรางวัลแก่เกษตรกรเจ้าของควายที่ชนะเลิศ  ในรุ่นควายยอดเยี่ยม (Grand champion) เพศผู้ เพศเมีย และรุ่นรองควายยอดเยี่ยม (Reserve champion) เพศผู้ เพศเมีย รวม 4 รางวัล สร้างความปลาบปลื้มเป็นล้นพ้นแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงควายที่ร่วมประกวด ซึ่งเดินทางมาจากทั่วประเทศ รวมถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงควายในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี โดยในการประกวดครั้งนี้มีเกษตรกรแจ้งความจำนงส่งควายเข้าร่วมการประกวดถึง 497 ตัว 

จังหวัดอุดรธานี เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและวัฒนธรรม ที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิถีชีวิตและอัตลักษณ์พื้นถิ่นอีสาน ที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านกสิกรรม ที่อาศัยวิถีธรรมชาติมาอย่างยาวนาน เช่น การปลูกข้าว โดยใช้แรงงานจากควายไทย มีการส่งเสริมการเลี้ยงควาย ทั้งโครงการจากรัฐ รวมถึงท้องถิ่น จากข้อมูลปี 2567  จังหวัดอุดรธานีมีผู้เลี้ยงควายทั้งจังหวัดรวม 13,253 ราย ควาย 69,340 ตัว จังหวัดอุดรธานี มีการส่งเสริมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย สืบสานวัฒนธรรมวิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นถิ่นอีสาน การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้ง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนด้านการท่องเที่ยวที่เป็นกลไกการขับเคลื่อนของจังหวัดในทุกมิติ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นการเสริมสร้างจุดแข็งของการท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุดรธานีได้รับการยอมรับว่าสามารถรองรับการท่องเที่ยวเมืองรองให้เป็นฐานด้านวัฒนธรรม นวัตวิถี กระตุ้นให้เกษตรกรและผู้สนใจหันกลับมาเลี้ยงควายเพิ่มมากขึ้น เป็นการสืบสาน รักษา ต่อยอดตำนานควายโบราณบ้านเชียง สืบสานตำนานวิถีคนวิถีควาย ส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีไทย เชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา วิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์พื้นถิ่นอีสานและเพื่ออนุรักษ์ควายไทยให้เป็นมรดกของคนไทย และอยู่คู่วิถีสังคมไทยอย่างยั่งยืน แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอใกล้เคียงเช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง  กราบหลวงพ่อคำ อำเภอทุ่งฝน วังนาคินทร์คำชะโนด วัดป่าคำเจริญ วังนาคีวัดศรีดาราม เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดโพธิ์ศรีใน ระหว่าง พ.ศ. 2546-2548 ได้พบโครงกระดูกที่มีความสมบูรณ์ เช่น กระดูกควาย กระดูกปลาและกระดูกสุนัข ส่วนของโครงกระดูกควายนั้นไม่พบส่วนหัว โดยสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย และ ศาสตราจารย์ ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยข่อนแก่น ได้นำโครงกระดูกควายจากแหล่งโบราณคดีจากบ้านเชียง ไปตรวจพบผลตรวจดีเอ็นเอ เป็นกระดูกควายจริง   แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่เลี้ยงควายไว้ใช้งานที่จังหวัดอุดรธานี กว่า 3,000 ปีมาแล้ว

การจัดงานครั้งนี้ ตั้งเป้าที่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งธุรกิจโรงแรม ร้านค้าร้านอาหาร สินค้าการเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องนโยบายของรัฐบาล 5F Soft power ปลูกต้นกล้าสร้างรายได้ กระตุ้นการท่องเที่ยวมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับจังหวัดอุดรธานีอย่างยั่งยืน จึงขอเชิญชวนประชาชนชาวอุดรธานี ร่วมเป็นเจ้าบ้านที่ดีต้อนรับนักท่องเที่ยว และเกษตรกรที่จะมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ พร้อมเชิญชวนประชาชนและนักท่องเที่ยวร่วมงาน “อุดรธานี วิถีคน วิถีควาย มรดกไทย มรดกโลก” วันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2565 ณ พื้นที่สาธารณประโยชน์ห้วยโป่งวัว (โคกหนองโกสาธารณะ) ต.ทุ่งใหญ่ อ.ทุ่งฝน จ.อุดรธานี ตั้งแต่เวลา 09.00-21.00 น.เข้าชมฟรี 

กฤษดา จันทร์ดวง ผู้สื่อข่าวอุดรธานี