In Bangkok

ผู้ว่าฯกทม.ร่วมงาน60ปีของศาลเจ้าพ่อหนู หนุนท่องเที่ยวย่านพระนคร



กรุงเทพฯ-60 ปีงานประเพณีศาลเจ้าพ่อหนู ร่วมอนุรักษ์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวย่านพระนคร แหล่งสำคัญทางเศรษฐกิจของ กทม.

(9 พ.ย. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ พล.ต.ท.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานร่วมพิธีเปิดงานประเพณีศาลเจ้าพ่อหนู ครั้งที่ 60 ประจำปี 2567 โดยมี ดร.ธัชวิน สุรเศรษฐ ประธานคณะขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาเขตพระนคร และประธานคณะกรรมการจัดงานประเพณีศาลเจ้าพ่อหนู พร้อมด้วย นายโกศล สิงหนาท ผู้อำนวยการเขตพระนคร คณะกรรมการจัดงานประเพณีศาลเจ้าพ่อหนู คณะกรรมการและที่ปรึกษาศาลเจ้าพ่อหนู ศิษยานุศิษย์ศาลเจ้าพ่อหนู ประชาชน และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ บริเวณปะรำพิธีจัดงานประเพณีศาลเจ้าพ่อหนู เขตพระนคร

“จุดนี้เป็นแหล่งสำคัญทางเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร เพราะมีทั้งสถานที่สำคัญหลายที่ อาทิ วัดบวรฯ ถนนข้าวสาร ศาลเจ้าพ่อหนู คลองบางลำพู เชื่อมเข้ากับคลองโอ่งอ่าง ซึ่งสามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดี ต้องขอขอบคุณงานนี้ อยากจะให้จัดให้เป็นอัตลักษณ์ของกรุงเทพมหานครต่อเนื่องทุกปีไปเรื่อย ๆ เพื่อให้อนาคตสามารถเป็นงานระดับโลกที่ต่างชาติต้องมาเยี่ยมชม ขอขอบคุณท่านผู้จัดงานทุกท่านที่ทำให้งานนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างสำเร็จ ขออวยพรให้ทุกท่านได้รับบารมีจากองค์เจ้าพ่อหนู มีความสุข มีสุขภาพแข็งแรง มีความเจริญก้าวหน้า มีความเจริญรุ่งเรืองทางธุรกิจ เฮง เฮง เฮง และประสบความสำเร็จทุกประการ ขอบคุณครับ” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

สำหรับ “องค์เจ้าพ่อหนู” ขนาดหน้าตักกว้าง 8.5 นิ้ว สูง 11 นิ้ว ผู้เชี่ยวชาญทางโบราณวัตถุให้ความเห็นว่าเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ตอนตัน พระพักตร์คล้ายเด็กยิ้ม เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวตลาดนานา บางลำพู ได้ให้ความเคารพ นับถือสักการะ บูชากราบไหว้ มาโดยตลอดกว่าร้อยปี ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า องค์ท่านลอยน้ำมาติดริมฝั่งคลองโอ่งอ่าง ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าคลองบางลำพู ชาวตลาดนานา บางลำพู จึงพร้อมใจกันอัญเชิญขึ้นมาบูชาที่ศาลเล็ก ๆ ที่สร้างไว้บนดาดฟ้าของตลาดนานา โดยสิ่งของที่ชาวบ้านนิยมนำมาสักการะ ได้แก่ ว่าว ของเล่น ขนม น้ำเป๊ปซี่ เป็นต้น

 

ต่อมา ราว ๆ พ.ศ. 2503 ได้เกิดอัคคีภัยขึ้น ชาวบ้านเห็นเด็กผู้ชายแต่งกายชุดสีชมพูยืนโบกธงอยู่บนหลังคาที่ตลาดนานา เพื่อไม่ให้อัคคีภัยลุกลาม และสงบลงโดยเร็ว ทั้งนี้ ชาวบ้านที่ทำมาค้าขายในย่านบางลำพูซึ่งเป็นคนจีนเข้าใจว่าเด็กชายที่เห็นนั้นเป็นเทพยดา จึงพร้อมใจกันขนานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “เจ้าพ่อหนู” (คำว่า หนู เป็นคำเรียกแทน เด็ก)

ในส่วนของศาลเจ้าพ่อหนูแห่งแรก (ไม่ทราบปีแน่ชัด - พ.ศ. 2531) เป็นศาลขนาดเล็กตั้งอยู่บนดาดฟ้าตลาดนานา ศาลเจ้าพ่อหนูแห่งที่ 2 (พ.ศ. 2531 - 2546) เป็นศาลไม้ทรงไทย เล็ก ๆ ชั้นเดียวยกสูง ตั้งอยู่ริมคลองแนวเดียวกับศวลเจ้าพ่อหนูในปัจจุบัน คณะกรรมการ (ในขณะนั้น) และพ่อค้าแม่ค้าตลาดนานามีจุดประสงค์ร่วมกันเพื่อที่จะสร้างศาลเจ้าพ่อหนูที่ถาวร จึงได้รวบรวมเงินกันและหาซื้อที่ดินอันเป็นที่ตั้งของ “ศาลเจ้าพ่อหนู” ปัจจุบัน

โดยศาลเจ้าพ่อหนูในปัจจุบัน เกิดขึ้นด้วยแรงศรัทธาของลูกศิษย์เจ้าพ่อหนู เป็นศาลที่สร้างขึ้นใหม่โดยตั้งอยู่บริเวณเชิงสะพานนรรัตน์สถาน ซึ่งสร้างแล้วเสร็จและทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2546

การจัดงานประเพณีศาลเจ้าพ่อหนูจัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2507 และได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอดจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นปีที่ 60 การจัดงานประเพณีเจ้าพ่อหนูถือเป็นกิจกรรมอนุรักษ์ประเพณีและส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกกิจกรรมหนึ่งของประชาชนชาวพระนคร โดยกิจกรรมในงานประกอบด้วย พิธีสรงน้ำ ปิดทององค์เจ้าพ่อหนู เมื่อคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 เวลา 19.19 น. พิธีอัญเชิญองค์เจ้าพ่อหนูมาประทับในปะรำพิธีจัดงาน เมื่อคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 เวลา 21.45 น. เพื่อให้ชาวไทยและชาวต่างชาติได้สักการะขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล ส่วนในวันนี้ (9 พฤศจิกายน 2567) จะมีพิธีเปิดงานและแห่องค์เจ้าพ่อหนู การแสดงโชว์มังกรอวยพรโชคลาภบริเวณพิธี ประมูลตะเกียงเทวดาและสิ่งของมงคลต่าง ๆ มอบทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียน การแสดงบนเวที จากนั้น ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2567 จะมีพิธีไหว้ขอบคุณองค์เจ้าพ่อหนูและทวยเทพทุกพระองค์ การทำบุญเลี้ยงพระ การมอบทุนการศึกษาแก่บุตรหลานในพื้นที่เขตพระนคร การแจกข้าวสารอาหารแห้งจำนวน 1,000 ชุด การแสดงโชว์สิงโตดอกเหมย และพิธีอัญเชิญองค์เจ้าพ่อหนูจากปะรำพิธีกลับยังศาลเจ้าพ่อหนู