In Global
'สหรัฐฯ' ปิดกั้น'จีน'ทางเทคโนโลยีในที่สุด ก็จะส่งผลเสียต่อสหรัฐฯเอง
บทวิเคราะห์ สหรัฐฯ ปิดกั้นจีนทางเทคโนโลยีในที่สุดก็จะส่งผลเสียต่อสหรัฐฯเอง การเคลื่อนไหวล่าสุดของสหรัฐอเมริกาในการจำกัดการลงทุนด้านเทคโนโลยีระดับสูงในจีนนั้น จะส่งผลเสียขัดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเองในที่สุด ขณะเดียวกันยังเป็นภัยคุกคามต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบางอีกด้วย
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศกฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับการจำกัดการลงทุนในส่วนของเซมิคอนดักเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีควอนตัมในจีน โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคมปีหน้า
ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯแถลงนโยบายดังกล่าว บริษัท Intel ยักษ์ใหญ่ด้านเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยแผนการลงทุน 300 ล้านดอลลาร์ เพื่อขยายฐานการผลิตในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งแสดงให้เห็นอีกครั้งว่า นโยบายของวอชิงตันขัดแย้งกับการตัดสินใจ การเลือกหนทาง และผลประโยชน์ของบริษัทสหรัฐอเมริกาอย่างมาก
สำหรับยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา เช่น Intel, Apple, Tesla, Nvidia และ Qualcomm จีนเป็นตลาดที่ขาดไม่ได้ เพราะมีศักยภาพการสร้างผลกำไรอย่างมาก และในทางกลับกัน ก็สามารถช่วยผลักดันการวิจัยและพัฒนาอย่างกว้างขวางของพวกเขา อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบใหม่ที่เข้มงวดของรัฐบาลมีความเสี่ยงที่จะทำให้บริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาประสบความพ่ายแพ้ในตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และทำให้บริษัทสหรัฐอเมริกา เสียเปรียบในการแข่งขันระดับโลก
ขณะนี้ตลาดเซมิคอนดักเตอร์โลกกำลังฟื้นตัวอย่างยากลำบาก ส่วนใหญ่ขับเคลื่อนโดยผลงานที่แข็งแกร่งของจีน
ข้อมูลล่าสุดของสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐอเมริกา ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ของจีนเพิ่มขึ้น 19.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งแตกต่างกับยอดขายของญี่ปุ่นที่เติบโตเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ และยอดขายของยุโรปที่ลดลง 9 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาเดียวกัน
ผู้กำหนดนโยบายทั้งในสหรัฐอเมริกาและจีนต่างกำลังเฝ้ารอการปฏิวัติเทคโนโลยีที่จะมาช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม การแยกกับจีน ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกนั้นจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา ที่อยู่แถวหน้าของการปฏิวัติเทคโนโลยีดังกล่าว
นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าวของรัฐบาลสหรัฐฯยังสวนทางกับหลักการเศรษฐกิจแบบตลาดและการแข่งขันที่เป็นธรรม และขัดต่อคำมั่นสัญญาของประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐอเมริกา ที่ว่ารัฐบาลของเขาจะไม่ผลักดันวาระการ “แยก” กับจีน
ความวิตกกังวลของสหรัฐอเมริกาต่อการสูญเสียความได้เปรียบทางเทคโนโลยีนั้นเป็นเรื่องที่ชาวโลกเข้าใจได้ แต่อย่างไรก็ตาม การสร้างอุปสรรคที่ขัดขวางการพัฒนาของประเทศอื่นจะไม่สามารถช่วยสร้างความแข็งแกร่งของตนเอง การมองว่า จีนเป็น “คู่แข่งทางยุทธศาสตร์” และการใช้การค้าและการลงทุนเป็นอาวุธในการโจมตีจีนนั้น จะทำให้สหรัฐฯและจีนประสบความเสียหายทั้งคู่
จิตวิญญาณแห่งผู้ประกอบการที่เคยผลักดันให้สหรัฐอเมริกาก้าวสู่ความยิ่งใหญ่นั้นยังคงมีความสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จในอนาคตของสหรัฐอเมริกา รัฐบาลสหรัฐอเมริกา จึงต้องฟังเสียงของบรรดานักธุรกิจ มากกว่าจะสร้างอุปสรรคให้กับการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ