In News

ภารกิจนายกฯร่วมประชุมโอเปคที่เปรูหารือ 'ปธน.เปรู-ติ๊กต๊อก-ไมโครซอฟท์-กูเกิล'



กรุงลิมา-นายกฯ กล่าวถ้อยแถลง ในงานเลี้ยงอาหารค่ำ APEC CEOs-Leaders Dinner ประเทศสมาชิก ระบุไทยพร้อมเสริมสร้างความร่วมมืออย่างรอบด้านระหว่างภูมิภาคผสมผสานมรดกวัฒนธรรม ก้าวสู่ความรุ่งโรจน์ในอนาคตร่วมกัน ก่อนหน้านี้ ายกฯจับเข่าคุยบิ๊ก Microsoft ร่วมกันเดินหน้าขับเคลื่อนความร่วมมือดิจิทัล มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลไทย ด้านบิ๊กโปรแกรม ชื่อดังมั่นใจไทยยังเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค และได้หารือTikTok มีความมั่นใจ ไทยแลนด์น่าลงทุน ยืนยันพร้อมสนับสนุนรัฐบาล นายกฯอิ๊งค์ ส่งเสริมการใช้สื่อสังคมอย่างรับผิดชอบ รวมทั้งกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยผ่านการสร้างคอนเทนต์สร้างสรรค์และ บิ๊ก Google ยืนยันมั่นใจจะร่วมมือด้านดิจิทัล-คลาวด์-AI กับไทย ด้านนายกฯขอบคุณ Google ที่ทุ่มงบกว่า 3.5 หมื่นล้านบาทในไทย มั่นใจสานต่อ ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับไทยแน่นอน นอกจากนี้สนายกฯ จับมือกระชับความสัมพันธ์ ปธน.เปรู ครบ 60 ปี มั่นใจ FTA ไทย- เปรูเสร็จปีหน้า เชื่อเพิ่มการค้าการลงทุนระหว่างกัน พร้อมเชิญชวนลงทุนในไทย มั่นใจแลนด์บริดจ์ จะเป็นประตูคมนาคมทางน้ำกับลาตินอเมริกาได้แน่ ด้านนายกสุดปลื้ม Soft power  ไทยมาไกลถึงเปรู คนลาตินชอบเพลงและหนังไทย เผยติดท็อปฮิตในเปรู 

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน 2567 เวลา 19.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงลิมา ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 12 ชม.) ณ พิพิธภัณฑ์ Amano กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ APEC CEOs-Leaders Dinner ร่วมกับผู้นำภาคธุรกิจของเอเปค อย่าง UNACEM Group (ยูเอ็นเอซีอีเอ็ม กรุ๊ป) บริษัทด้านโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานของเปรู และซีอีโอภาคเอกชนอื่น ๆ ที่สำคัญของเปรู 

โดยช่วงก่อนการรับประทานอาหาร นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของเปรู ซึ่งมีร้านขายผ้าลายต่าง ๆ โดยผ้าในร้านล้วนมีการสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำจากขนเบบี้อัลปากา ผสมเส้นใยไหมตัววิคูน่า (Vicuña) เคยใช้เป็นผ้าที่มอบให้ผู้นำในการประชุมเอเปคเมื่อปี 2016 และจะมอบให้ผู้นำในปีนี้ด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงถึงแนวทางการสร้างความร่วมมือระหว่างภูมิภาค โดยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของถ้อยแถลง ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวทักทายสมาชิกและแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน และขอบคุณ นายเปโดร แลร์-แนร์ ผู้บริหาร UNACEM Group ที่เป็นเจ้าภาพในการจัดเลี้ยงอาหารค่ำในวันนี้ ประทับใจกับความคิดริเริ่มด้านการอนุรักษ์ที่นำโดย UNACEM ซึ่งจะช่วยชะลอการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ถือเป็นก้าวสำคัญสู่ความยั่งยืน ความคิดริเริ่มนี้เป็นตัวอย่างที่ดีให้เห็นว่าภาคเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนส่งเสริมความยั่งยืนได้

ซึ่งก่อนหน้านี้ ในระหว่างการเดินทาง นายกรัฐมนตรีได้ไปชมงานศิลปะสิ่งทอที่มีความปราณีต แสดงถึงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันยาวนานของเปรู ซึ่งมีความใกล้เคียงกับรูปแบบงานศิลปะสิ่งทอของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ที่ถึงแม้ว่าทั้งสองประเทศจะอยู่ห่างกันหลายพันไมล์ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีรู้สึกยินดีที่ได้ทราบว่ามวยไทย ได้รับความนิยมอย่างมากในเปรูด้วย

ซึ่งแฟชั่นและมวยไทยถือเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย ที่เรียกว่า Soft Power โดยกระทรวงวัฒนธรรมได้มีการส่งเสริม Soft Power ของประเทศไทยภายใต้นโยบาย 5Fs  ได้แก่ อาหาร ภาพยนตร์ แฟชั่น เทศกาล และการต่อสู้ หรือมวยไทย โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ทุกฝ่ายจะสามารถสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อสร้างสรรค์ความงามของมรดกทางวัฒนธรรม จากการใช้ประโยชน์จากผ้าและลวดลายจากท้องถิ่น ไปจนถึงการเสริมสร้างความร่วมมือด้านกีฬา

นอกเหนือจาก Soft Power ประเทศไทยมีพร้อมที่จะสร้างความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อีกมากมาย ตั้งแต่ความมั่นคงทางอาหารไปจนถึงความเชื่อมโยง จากพลังงานสะอาดถึงความร่วมมือด้าน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อุตสาหกรรมยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล เพื่อสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและสังคมที่ครอบคลุมและยั่งยืน สานต่อผลประโยชน์ร่วมกันสำหรับประชาชน และคนรุ่นใหม่ ตลอดจนภูมิภาคของเราโดยรวม

นายกรัฐมนตรียังเน้นย้ำว่า ประเทศไทยได้เปิดกว้างสำหรับธุรกิจ และพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาค เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง โดยรัฐบาลมุ่งมั่นอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจในประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงโอกาสในการลงทุนต่างประเทศ โดยระหว่างงานเลี้ยงอาหารค่ำ นายกรัฐมนตรีมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยน พร้อมและยินดีที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ทุกคน

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณผู้บริหาร UNACEM Group สำหรับการต้อนรับที่อบอุ่น โดยนายกรัฐมนตรีได้เพลิดเพลินกับการลิ้มรสอาหารค่ำแบบเปรูในวันนี้ และยินดีที่ทราบว่าพ่อครัวฝีมือดีวันนี้เคยทำงานที่กรุงเทพฯ พร้อมหวังว่าจะได้ต้อนรับที่ประเทศไทย ไม่ว่าจะเพื่อธุรกิจหรือการพักผ่อน

ายกฯ แพทองธารจับเข่าคุยบิ๊ก Microsoft 

เวลา 15.00  น.นางสาวแพทองธาร พบหารือกับนาย Antony Cook รองประธานบริษัทและรองประธานที่ปรึกษาฝ่ายทั่วไปและบริการลูกค้าของบริษัท Microsoft (Corporate Vice President & Deputy General Counsel, Customer & Partner Solutions) สรุปสาระสำคัญดังนี้ นายกรัฐมนตรียินดีที่บริษัท Microsoft ที่มีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดกับประเทศไทย พร้อมสานต่อจากการพบหารือระหว่างอดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐาฯ กับนาย Satya Nadella ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Microsoft เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 เพื่อเดินหน้าประเทศไทยสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค  และกล่าวย้ำถึงการให้ความสำคัญและลงทุนในระบบนิเวศดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐาน และทักษะแรงงาน โดยหวังว่าบริษัท Microsoft จะเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและความร่วมมือในด้านดิจิทัล ทั้งนี้ รัฐบาลไทยเดินหน้านโยบายอย่างครอบคลุมเพื่อเป้าหมายดังกล่าว โดย “Go Cloud First” ถือเป็นนโยบายในการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลภายใต้แพลตฟอร์มเดียว จึงหวังที่จะกระชับความร่วมมือกับ Microsoft ในเรื่องนี้

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เห็นว่า เศรษฐกิจดิจิทัลถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงหวังที่จะใช้ศักยภาพและข้อได้เปรียบด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะการพัฒนาและยกระดับทักษะของมนุษย์เพื่อเตรียมกำลังแรงงานให้มีทักษะเพียงพอ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเศรษฐกิจในอนาคต ทั้งนี้ ไทยพร้อมร่วมมือกับ Microsoft เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมดิจิทัลและการเติบโตทางเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายจิรายุ กล่าวต่อไป ว่า ”ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Microsoft  ได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์และศักยภาพของไทย ในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังพร้อมที่จะร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในประเทศไทย ในการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลให้กำลังแรงงานไทย ซึ่งจะเพิ่มความประสิทธิภาพและความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยให้สูงขึ้นอีกด้วย “

ยักษ์ใหญ่ TikTok มั่นใจ ไทยแลนด์น่าลงทุน

วันนี้ (14 พ.ย. 2567) เวลา 14.30  น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงลิมาซึ่งช้ากว่าไทย 12 ชั่วโมง) ณ โรงแรม Swissotel กรุงลิมา ประเทศเปรู นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบหารือกับนายโซว จือ ชิว (Mr. Shou Zi Chew) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท TikTok ในระหว่างเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 31 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องสรุปสาระสำคัญดังนี้ นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TikTok พร้อมกล่าวถึงอิทธิพลและความนิยมของ TikTok ในประเทศไทย ซึ่งมีเกือบ 50 ล้านผู้ใช้งานและขอบคุณที่ TikTok ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการชาวไทย โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (MSMEs) ผ่านทางอีคอมเมิร์ซและการสร้าง digital content

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TikTok ชื่นชมนโยบายของรัฐบาลที่เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ นายกรัฐมนตรีและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TikTok ยังเห็นพ้องถึงความสำคัญในการเสริมทักษะดิจิทัลให้แก่ผู้ประกอบการและเยาวชน โดยนายกรัฐมนตรีเชิญชวน TikTok ร่วมมือกับรัฐบาลสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่นของไทย นำเสนอสินค้าไทยผ่านแพลตฟอร์ม รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผ่านการสร้างเนื้อหา content ด้านการท่องเที่ยวสู่เวทีโลกและสายตาคนทั่วโลกด้วย 

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TikTok ยังเห็นพ้องสนับสนุนการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์อย่างปลอดภัยในทุกกลุ่มอายุ โดยนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอย่างรับผิดชอบและสร้างสรรค์ รวมทั้งการใช้ประโยชน์ของสื่อสังคมออนไลน์ที่มีความปลอดภัย เพื่อสร้างผู้ผลิตเนื้อหา (content creator) ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

บิ๊ก Google ยืนยันมั่นใจจะร่วมมือด้านดิจิทัล-คลาวด์-AI กับไทย

เวลา 14.00 น.นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบหารือกับนาย Karan Bhatia รองประธานบริษัท ด้านการดูแลและกำหนดนโยบายสาธารณะและความสัมพันธ์กับรัฐบาล จากบริษัท Google ในระหว่างเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 31 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องสรุปสาระสำคัญดังนี้ นายกรัฐมนตรียินดีที่ Google ได้เคยประกาศการลงทุนจำนวน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้าง Data Center และ Cloud Region ในไทย ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของไทย

นาย Karan Bhatia กล่าวชื่นชมนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมการใช้ดิจิทัล และพร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาล ทั้งการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีสำหรับการศึกษา และแรงงานไทย รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการทำงานของภาครัฐ การขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Go Cloud First Policy) ของรัฐบาลด้วย  นอกจากนี้ รองประธานบริษัท ฯ ยังกล่าวภูมิใจที่สินค้าและบริการของ google เช่น ระบบการค้นหา (Search engine) แผนที่ (Google map) ซึ่งเป็นบริการไม่มีค่าใช้จ่าย และ YouTube ซึ่งคนไทยในทุกระดับได้ใช้ประโยชน์รวมไปถึงผู้ประกอบการและคนไทย ใช้สร้างงาน สร้างอาชีพใหม่ๆ สร้างรายได้ให้กับคนไทยด้วย

โดยนายกรัฐมนตรีย้ำ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัลของไทย โดยเฉพาะด้านการศึกษาของเยาวชน รวมทั้งพัฒนาทักษะแรงงานในการ upskills/ reskills เพื่อรองรับการทำงานสมัยใหม่ด้วย 

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและนาย Karan Bhatia เห็นพ้องถึงความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัล และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์และ AI การเสริมทักษะด้านดิจิทัล/AI ให้กับคนไทย ต่อยอดจากบันทึกความเข้าใจ (MoU) ที่ Google ได้ลงนามกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อปี 2566 โดยเฉพาะการส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนที่รัฐบาลมุ่งแก้ไขปัญหาโดยเร็ว เพราะกระทบกับพี่น้องประชาชนคนไทยจำนวนมาก นายจิรายุกล่าว

มั่นใจเอฟทีเอไทย-เปรูทันกระชับสัมพันธ์60ปีนายกเชิญชวนลงทุนไทยมั่นใจแลนด์บริดจ์ประตูสู่ลาติน

เวลา 10.00 น.นางสาวแพทองธาร ได้รับเกียรติจากผู้นำเปรู ในการพบปะหารือทวิภาคีกับ นางดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา (H.E. Mrs. Dina Ercilia Boluarte Zegarra) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเปรู ก่อนการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 31 อย่างเป็นทางการ โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้ 

นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเปรู ต่างรู้สึกยินดี ที่ได้พบหารือกันเป็นครั้งแรกระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจที่เป็นสุภาพสตรี เพียง 2 ท่านในเวทีเอเปคครั้งนี้  โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีต่อความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพของเปรู นอกจากนี้ ไทยและเปรูยังมีแนวคิดเดียวกันในการส่งเสริมประชาธิปไตย และพร้อมเสริมสร้างความร่วมมือด้านต่าง ๆ ของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะการเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและเปรูในปีหน้านี้อีกด้วย

ทั้งนี้ผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกัน ที่จะร่วมกันผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-เปรู ให้แล้วเสร็จภายในปีหน้านี้ ซึ่งปัจจุบันได้บรรลุความตกลงไปแล้วถึง 70 เปอร์เซ็นต์และเชื่อว่า หากสามารถจัดทำ FTA ให้สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว จะยิ่งสามารถเพิ่มการค้าการลงทุนจากภาคเอกชนของทั้งสองฝ่ายได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความยินดีต่อความสำเร็จของเปรู ในการเปิดท่าเรือ “ชางใค”(chancay) ซึ่งจะทำให้ เปรู กลายเป็นประตูการค้าในภูมิภาคลาตินอเมริกา อีกด้วย“

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึง โครงการ แลนด์บริดจ์ ของไทย ซึ่งจะเป็นโครงสร้างพี้นฐานการคมนาคมขนส่งที่สำคัญ และจะทำให้ไทยเป็นประตูการค้าในภูมิภาคอาเซียนที่จะเชื่อมโยงการขนส่งสินค้ากับเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ในลาตินอเมริกาได้  ทั้งนี้ขอเชิญชวนเปรูให้เข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ เปรู มีศักยภาพและสอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย เช่น superfoods, ซีรีย์ไทย, เพลงไทย (T-Pop) ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวเปรู ทำให้รัฐบาลไทยมีแนวคิดที่จะเพิ่มความร่วมมือด้านแฟชั่น ที่แปรเปลี่ยนมาเป็นสินค้าได้ โดยเปรู มีผ้าที่ทำจากขนสัตว์อัลปากา กับ ผ้าไหมของไทย ที่สามารถนำมาผสมผสานเป็นสินค้าสำคัญได้

นายจิรายุ กล่าวอีกว่า “การหารือครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายพร้อมส่งเสริมความร่วมมือในกรอบพหุภาคี ในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ซึ่งไทยสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของเปรูได้ ขณะที่ ประธานาธิบดีเปรูขอบคุณไทยที่สนับสนุนการเป็นเจ้าภาพเอเปค และยินดีสนับสนุนความร่วมมือระหว่างกันทั้งในกรอบทวิภาคี และพหุภาคีอื่น ๆ เช่น อาเซียน และกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกด้วย” นายจิรายุ กล่าว