In News
เพจ Government Office Region ดีอียืนยันของปลอมอย่าเชื่อ-แชร์เด็ดขาด
กรุงเทพฯ-ดีอี เตือน เพจปลอมโจรออนไลน์ “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเปิดเพจเฟซบุ๊กใหม่ ชื่อ Government Office Region” อย่าเชื่อ-แชร์ ระวังสูญเงิน-ข้อมูลส่วนบุคคล
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจพบข่าวปลอมที่เกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์รายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเปิดเพจเฟซบุ๊กใหม่ ชื่อ Government Office Region” รองลงมาคือเรื่อง “บางจากฯ เปิดจองหุ้น รับปันผลสูงถึง 20% ต่อวัน รับรองโดย ก.ล.ต.” โดยขอให้ประชาชน ระวังการหลอกลวงของมิจฉาชีพ อย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นสร้างความเสียหาย ความสับสน เข้าใจผิด และส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 8-14 พฤศจิกายน 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 851,065 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 773 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 735 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 27 ข้อความ Website จำนวน 10 ข้อความ และช่องทาง Facebook จำนวน 1ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 286 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 112 เรื่อง โดยเป็นข่าวปลอมที่เกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเปิดเพจเฟซบุ๊กใหม่ ชื่อ Government Office Region
อันดับที่ 2 : เรื่อง บางจากฯ เปิดจองหุ้น รับปันผลสูงถึง 20% ต่อวัน รับรองโดย ก.ล.ต.
อันดับที่ 3 : เรื่อง ติดต่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้ทางไอดีไลน์ pea1168
อันดับที่ 4 : เรื่อง ธนาคารกรุงไทยเปิดเฟซบุ๊ก สินเชื่อ เพื่อธุรกิจ
อันดับที่ 5 : เรื่อง บัญชีไลน์ฝ่ายบริการ1 เป็นไลน์ของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
อันดับที่ 6 : เรื่อง ปปง. เปิดลงทะเบียนยื่นคำร้องขอรับเงินคืน ผ่านเพจ Publicize news online 3.0
อันดับที่ 7 : เรื่อง ปปง. เปิดเพจเฟซบุ๊กใหม่ชื่อ Anti-Money Laundering Office
อันดับที่ 8 : เรื่อง กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเปิดเว็บไซต์ใหม่
อันดับที่ 9 : เรื่อง กรมการจัดหางาน เปิดเฟซบุ๊ก สำนักงานจัดหางานแห่งประเทศไทย
อันดับที่ 10 : เรื่อง กรมการขนส่งทางบก เปิดเพจเฟซบุ๊ก DLT.Online.PR รับทำใบขับขี่ออนไลน์
“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่าเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐ และหน่วยงานที่น่าเชื่อถือทั้งหมด ซึ่งมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด โดยเฉพาะการอ้างเป็นสถาบันการเงินของรัฐ เปิดช่องทางบริการด้านสินเชื่อ หรืออ้างเป็นหน่วยงานรัฐ เปิดบริการให้ความช่วยเหลือ อาจทำให้ประชาชน ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ สร้างความเสียหายทั้งทรัพย์สินและข้อมูลส่วนบุคคลได้ ซึ่งส่งผลกระทบกับประชาชนทั่วประเทศเป็นวงกว้าง หากมีการแชร์ส่งต่อกันไปในสังคม” นายเวทางค์ กล่าว
สำหรับอันดับ 1 เรื่อง “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเปิดเพจเฟซบุ๊กใหม่ ชื่อ Government Office Region” ซึ่งเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงดีอีโดยตรง พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยเพจดังกล่าวมีการแอบอ้างชื่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม MDES ซึ่งเป็นเพจปลอมที่มิจฉาชีพจัดทำขึ้นมาเพื่อหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อ โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย มีเพจเฟซบุ๊กเดียวเท่านั้น คือ เพจชื่อ Anti-Fake News Center Thailand ที่มีสัญลักษณ์ติ๊กถูกสีฟ้าต่อท้ายชื่อเพจ (https://www.facebook.com/AntiFakeNewsCenter)
ดังนั้นขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และหากประชาชนสนใจติดตามข้อมูลข่าวสารจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.mdes.go.th หรือโทร. 02-141-6747
อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด
สามารถแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.)| Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com