In Bangkok

กทม.ขับเคลื่อนแผนป้องกันฝุ่น PM2.5 ตรวจสถานประกอบการ-จุดกำเนิดมลพิษ



กรุงเทพฯ-นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศว่า ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาวโดยสมบูรณ์แล้วว่า  สสล. ได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยเพิ่มมาตรการเขตมลพิษต่ำในพื้นที่กรุงเทพฯ (Low Emission Zone) เพื่อเป็นมาตรการที่จะช่วยป้องกันและลดผลกระทบของฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงที่ฝุ่นสูงอยู่ในขั้นวิกฤต โดยการห้ามรถบรรทุก 6 ล้อ ขึ้นไป เข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก ยกเว้นรถประเภท EV,  NGV,  EURO 5 - 6 และรถที่มีการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรองอากาศต้องลงทะเบียนใน “บัญชีสีเขียว (Green List)” ซึ่งเปิดให้ผู้ประกอบการรถบรรทุกลงทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 67  ด้วยการกรอกข้อมูลทาง Google Form ที่ลิงก์ https://bit.ly/47RK0Yy และจะมีผลบังคับใช้จริงเมื่อสถานการณ์ฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ในขั้นวิกฤต ตามเงื่อนไข คือ ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง คือ มากกว่า 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มค.ก./ลบ.ม.) จำนวน 5 เขต ประกอบกับมีการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้า 2 วัน ว่าค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 จะอยู่ในระดับสีแดง 5 เขต หรือระดับสีส้ม 15 เขต และมีอัตราการระบายอากาศน้อยกว่า 3,000 ตารางเมตร/วินาที รวมถึงมีทิศทางลมมาจากทางตะวันออก โดยจะมีการออกประกาศให้ทราบ

นอกจากนี้ กทม. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งในสภาวะปกติและช่วงวิกฤตอย่างต่อเนื่องตามอำนาจหน้าที่ เพื่อรองรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชน ประกอบด้วย มาตรการติดตามเฝ้าระวัง กำจัดต้นตอ และป้องกันประชาชน มาตรการเชิงรุกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะการตรวจจับรถยนต์ควันดำ การตรวจสอบสถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม และพื้นที่โครงการก่อสร้างต่าง ๆ เป็นประจำแห่งละ 2 ครั้ง/เดือน การเฝ้าระวังและป้องกันการเผาหญ้าและเผาขยะในที่โล่งเป็นประจำทุกวันโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงต่อการเผา

รวมทั้งส่งเสริมให้หน่วยงานในสังกัดจัดซื้อจัดจ้างรถพลังงานไฟฟ้า (EV) ทดแทนรถราชการที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปที่เสื่อมสภาพ เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศจากยานพาหนะและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน อีกทั้งยังได้กำชับทุกหน่วยงานในสังกัดนำรถเข้าตรวจสภาพรถตามรอบการเช็กระยะและตรวจวัดมลพิษรถของราชการ เพื่อควบคุมการปล่อยมลพิษจากท่อไอเสียให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

ขณะเดียวกันยังได้รณรงค์ส่งเสริมความรู้และให้คำแนะนำประชาชนดูแลสุขภาพและป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM2.5 โดย สสล. ได้รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ประจำทุกวัน รวมถึงให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพและป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะการสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกประเภทและถูกวิธี เพื่อป้องกันฝุ่น PM2.5 เข้าสู่ร่างกาย

และในช่วงที่ฝุ่นสูงจะแจ้งเตือนสถานการณ์เพิ่มเป็น 3 รอบเวลาทุกวัน สำหรับประชาชนทั่วไป ขอให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร จำกัดระยะเวลาการทำกิจกรรม หรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก ควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ส่วนประชาชนกลุ่มเสี่ยงขอให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร เลี่ยงการทำกิจกรรม หรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ รวมทั้งเชิญชวนภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนร่วมกันวางแผนทำงานที่บ้าน (Work From Home) เพื่อช่วยลดจำนวนยานพาหนะบนท้องถนน ตลอดจนร่วมกับโรงเรียนในสังกัด กทม. สถานศึกษาสังกัด สพฐ. และสถานศึกษาเอกชน จัดกิจกรรมธงคุณภาพอากาศในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นักเรียนเกิิดความรู้ความเข้าใจต่อสถานการณ์มลพิษทางอากาศ สามารถปกป้องตนเองอย่างปลอดภัยและสามารถส่งต่อองค์ความรู้ให้กับสมาชิกในครอบครัว เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพได้อย่างทันท่วงที

นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ. ได้ขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมกำกับสถานประกอบกิจการ โรงงาน สถานที่ก่อสร้าง ถมดิน/ท่าทราย เชิงรุก ตรวจสอบมาตรการลดฝุ่นละอองและระบบบำบัดมลพิษอากาศให้กำจัดมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปีงบประมาณ 2568 สนอ. และสำนักงานเขตมีเป้าหมายตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษอากาศ จำนวน 9,000 ครั้ง ตั้งแต่เดือน ต.ค. 67 เน้นกิจการที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองสูง เช่น กิจการคอนกรีตผสมเสร็จ (แพลนท์ปูน) กิจการหลอมโลหะ และกิจการที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (ที่มีการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลและน้ำมัน) สถานที่ก่อสร้าง ถมดิน/ท่าทราย ซึ่งแต่ละแห่งจะดำเนินการตรวจสอบอย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือน กรณีที่พบข้อบกพร่องได้แนะนำให้ปรับปรุงแก้ไขและตรวจติดตามกวดขันให้ปฏิบัติตามมาตรการในช่วงที่มีฝุ่นละอองสูงอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนตรวจแนะนำกิจการคอนกรีตผสมเสร็จให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสุขลักษณะ

นอกจากนี้ สนอ. ยังได้จัดหาหน้ากากอนามัย โดยส่งผ่านไปให้สำนักงานเขต 50 เขตและศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักถึงภัยจากฝุ่น PM2.5 โดยมอบให้กลุ่มเปราะบางและกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ กลุ่มที่มีโรคระบบทางเดินหายใจและโรคหัวใจ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ผู้ค้า และประชาชนทั่วไปที่ใช้ชีวิตนอกอาคารที่ต้องสัมผัสกับฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ  เพื่อเป็นการป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในช่วงที่ค่าฝุ่น PM2.5 มีค่าสูงขึ้น รวมทั้งมอบหมายศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. จัดทีมออกหน่วยฯ ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ หรือพื้นที่ศูนย์สุขภาพชุมชน กรณีฝุ่น PM2.5 มีค่าระหว่าง 37.6 - 75 มค.ก./ลบ.ม. ติดต่อกัน 3 วัน ให้ออกหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่และจัดทีมปฏิบัติการลงพื้นที่ชุมชนและเยี่ยมติดตามผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง โรคเยื่อบุตาอักเสบ โรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อให้ความรู้ให้คำแนะนำ คัดกรองผู้ป่วย แจกหน้ากากอนามัย เป็นต้น