In Bangkok
กทม.เน้นปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล เฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคไอกรนในรร.
กรุงเทพฯ- นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวกรณีพบการระบาดของโรคไอกรนในนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งในเขตปทุมวันว่า สนอ. ได้รับรายงานผู้ป่วยยืนยันไอกรนจากโรงพยาบาลจำนวน 1 ราย และศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ได้ลงพื้นที่สอบสวนโรค ค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิด และเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งในทางเดินหายใจจากผู้ใกล้ชิดส่งตรวจ พบผู้ป่วยยืนยันเพิ่มเติมรวม 20 ราย โดยผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มนักเรียนที่มีการสัมผัสใกล้ชิดและทำกิจกรรมร่วมกัน จึงได้ให้ยารักษาผู้ป่วยและยาป้องกันผู้สัมผัสใกล้ชิดที่มีอาการทุกราย แยกกักผู้ป่วยจนรับประทานยาครบ 5 วัน เน้นย้ำการปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล ได้แก่ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือเป็นประจำ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงการติดเชื้อโรคไอกรน รวมทั้งให้แนวทางและมาตรการการป้องกันควบคุมโรคกับผู้บริหารโรงเรียน ขณะเดียวกันยังดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรคไอกรนในสถานศึกษาสำหรับโรงเรียนทุกสังกัด เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง
นอกจากนี้ ได้ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับลักษณะอาการและวิธีป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคไอกรน รวมถึงคำแนะนำการสังเกตอาการและเน้นย้ำมาตรการป้องกันโรคสำหรับประชาชน การรับวัคซีนให้ครบ หากมีประวัติใกล้ชิดผู้ป่วย หรือมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไอกรนควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งมีความเสี่ยงติดเชื้อได้ง่ายและหากบุคคลกลุ่มเสี่ยงนี้เป็นโรคไอกรนจะมีอาการรุนแรงได้มาก
นางสาวพิศมัย เรืองศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการรายงานพบการระบาดและผู้ป่วยโรคไอกรนในโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้งจากโรงเรียนสังกัด กทม. สำนักงานเขต 50 เขต โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. หรือสถานพยาบาลสังกัด กทม. อย่างไรก็ตาม สนศ. เล็งเห็นความสำคัญในสุขภาพและความปลอดภัยของนักเรียน กทม. เป็นสำคัญ จึงได้จัดทำแบบสำรวจข้อมูลสถานการณ์โรคไอกรน ในโรงเรียนสังกัด กทม. ในรูปแบบออนไลน์ (Google Form) เพื่อให้ทราบข้อมูลเชิงพื้นที่รายโรงเรียนแบบทันท่วงทีจากโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้ง 437 โรงเรียน โดยหากพบกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วย หรือการระบาดดังกล่าว กำหนดให้โรงเรียนรายงานจำนวนนักเรียนที่มีความเสี่ยง หรือพบการติดเชื้อ พร้อมทั้งกำชับให้โรงเรียนเฝ้าระวังและสังเกตอาการของนักเรียนในโรงเรียนทุกคน รวมทั้งดำเนินการตามมาตรการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ซึ่ง สนศ. ได้กำหนดมาตรการความปลอดภัยในการตรวจสอบความพร้อมอาคารเรียน ห้องเรียน เครื่องเล่นเด็ก ด้านสภาพแวดล้อม ความสะอาด สุขาภิบาล วัสดุการเรียนการสอน พร้อมทั้งให้สำนักงานเขตกำกับดูแลโรงเรียน เพื่อดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ยังได้ประสาน สนอ. เรื่องมาตรการและแนวทางการเฝ้าระวังและดูแลนักเรียนที่มีความเสี่ยงติดเชื้อจากโรคไอกรน เพื่อจัดทำแนวทางปฏิบัติให้โรงเรียนในสังกัด กทม. ทราบและดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการป้องกันโรค ดูแลรักษา และการส่งต่อผู้ป่วยโรคไอกรน ตลอดจนกำชับให้โรงเรียนสังกัด กทม. จัดการเรียนการสอนในบรรยากาศพื้นที่ที่โปร่งโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก รวมทั้งกำหนดแผนบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการสื่อสารและประสานงานเตรียมความพร้อม สถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข มาตรการการเข้ารับวัคซีนทั้งผู้ปกครอง นักเรียน ข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียน เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไอกรน ทั้งนี้ สนศ. ได้ประสานบุคลากรจากสถานพยาบาลในพื้นที่เขต ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณโรงเรียนร่วมชี้แจงสิทธิการรักษา การเข้ารับวัคซีนในวันประชุมผู้ปกครองและนักเรียน ตลอดจนสนับสนุนพื้นที่ภายในโรงเรียนให้เป็นสถานที่เผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและให้เป็นสถานที่สำหรับการบริการทางเลือก เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักเรียน ครู ผู้ปกครอง บุคลากร และประชาชนกลุ่มเสี่ยงในชุมชนโดยรอบโรงเรียนเข้ารับบริการฉีดวัคซีนจากสถานพยาบาลสังกัด กทม.