In Thailand

'ประภัตร'เปิดฉีดวัคซีนลัมปีสกินเข็มแรก



มหาสารคาม-รมช.ประภัตร ประเดิมฉีดวัคซีน (LSDV) เข็มแรก/ล็อตแรก ป้องกันโรคลัมปี - สกิน ช่วยเกษตรกรมหาสารคาม ยืนยันวัคซีนกระจายครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงอย่างทั่วถึง

(12 มิ.ย.64) นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เทศบาลตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม Kick off และกำกับดูแลการฉีดวัคซีนป้องกัน โรคลัมปี – สกิน  (Lumpy Skin Vaccine :  LSDV) พร้อมมอบสารกำจัดแมลงพาหะ แร่ธาตุก้อน และหญ้าแห้งอัดฟ่อน   แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโค - กระบือ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคดังกล่าว โดยมีนายธญัญวัฒน์ ชาญพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ตลอดจนผู้นำภาคประชาชนเข้าร่วม

มาตรการหลักในการควบคุมโรคของกรมปศุสัตว์ 1.หมั่นสังเกตอาการสัตว์เลี้ยง 2.กางมุ้ง - เก็บกวาด   ทำความสะอาดคอกเป็นประจำ 3.กำจัดแมลง แยกสัตว์ป่วยออกจากฝูง เพื่อดูแลเฉพาะ และห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์  อย่างเด็ดขาด 4.รักษาสัตว์ป่วยตามอาการ 5.บริหาร "วัคซีน" ให้ตรงเป้าและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามระเบียบกรมปศุสัตว์ ว่าด้วยการฉีดวัคซีนลัมปี - สกิน ในสัตว์ชนิดโค - กระบือ พ.ศ.2564 เพื่อให้เป็นแผนเดียวกัน มีความปลอดภัยต่อสัตว์และเป็นไปตามหลักวิชาการ มีการประเมินความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนในพื้นที่ และประเมินประสิทธิภาพความคุมโรคหลังจากฉีดวัคซีน

 " สำหรับมาตรการเยียวยาเกษตรกรจากกรณีโค - กระบือเสียชีวิตจากโรคลัมปี - สกินนั้น มาตรฐานเดิมสำหรับอัตราเงินชดเชยรายได้ให้เกษตรกรเจ้าของโค - กระบือ ตามจริง แต่ไม่เกินรายละ 2 ตัวเป็นเงินสดผ่านบัญชีเงินฝากเกษตรกร สัตว์อายุ น้อยกว่า 6 เดือน โคจ่ายเงินเยียวยา 6,000 บาทต่อตัว กระบือเยียวยา 8,000 บาทต่อตัว จ่ายตามจริง แต่ไม่เกินรายละ 2 ตัวต่อราย, อายุ 6 เดือนถึง 1 ปี โคจ่ายเงินเยียวยา 12,000 บาทต่อตัว กระบือเยียวยา 14,000 บาทต่อตัว, อายุมากกว่า 1 ปี ถึง 2 ปี โคจ่ายเงินเยียวยา 16,000 บาทต่อตัว กระบือเยียวยา 18,000 บาทต่อตัว, อายุมากกว่า 2 ปี โคจ่ายเงินเยียวยา 20,000 บาทต่อตัว กระบือเยียวยา 22,000 บาทต่อตัวนั้น ตนกำลังพิจารณานำเรื่องหารือ        กับกรมบัญชีกลาง เพื่อขอปรับเรทการจ่ายเงินชดเชยให้เพิ่มมากขึ้นจากมาตรฐานเดิม และจากเดิมจ่ายเงินชดเชย         ต่อการตายเพียงไม่เกิน 2 ตัว ก็จะเสนอให้ปรับจ่ายตามจำนวนการเสียชีวิตจริง" รมช.ประภัตร กล่าว

รมช.ประภัตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์ได้มีการนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคลัมปีสกิน (LSDV) มาแล้ว ล็อตแรก 60,000 โด๊ส ล็อตที่สอง 300,000 โด๊ส และขณะนี้มีภาคเอกชน พร้อมสนับสนุนการนำเข้าวัคซีนเพิ่มอีกนับล้านโด๊ส เพื่อให้เพียงพอ และสามารถหยุดการระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกรมปศุสัตว์ก็พร้อมผลักดันภาคเอกชนในการนำเข้าวัคซีน เพื่อประโยชน์ของเกษตรกร ทั้งนี้ วัคซีนล็อตแรกได้ถูกกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศตามความเหมาะสมแล้ว

นอกจากนี้ รมช.ประภัตรยังได้แนะนำโครงการประกันโค - กระบือ ของกรมปศุสัตว์ ให้กับเกษตรกร ในพื้นที่ โดยจ่ายเบี้ยเพียงเดือนละ 100 บาท จ่ายทั้งสิ้น 4 เดือน คุ้มครองการตายทุกกรณี จ่ายเงิน 30000 บาทต่อตัว และโครงการเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ ล้านละร้อย โดยเกษตรกรต้องรวมกลุ่มให้ได้ 7 คน จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน  ทำเกษตรกรรม โดยมีตลาดรองรับผลผลิต ก็สามารถยื่นกู้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) โดยหากเกษตรกรสนใจโครงการดังกล่าว สามารถติดต่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานปศุสัตว์หรือธกส. ในพื้นที่

นายนพดล   พินิจ ปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่าสถานการณ์การระบาดพื้นที่จังหวัดมหาสารคามพบการระบาดกระจายอยู่ใน 13 อำเภอจังหวัดมหาสารคาม โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดฯ จึงประกาศให้ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล และทุกอำเภอเป็นเขตโรคระบาดสัตว์ชนิดโรค lumpy Skin ในโค กระบือ เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์เข้า-ออก ในพื้นที่ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคซึ่งในเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยภาพรวมถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถควบคุมได้

พิเชษฐ ยากรี - มหาสารคาม