In News
เตือนข่าวปลอมหลอกทำงานฟาร์มออสซี่ ย้ำรัฐบาลยังไม่ความร่วมมือส่งแรงงาน
กรุงเทพฯ-รัฐบาลเตือนภัยอย่าหลงเชื่อกลุ่มมิจฉาชีพใช้โซเชียลหลอกทำงานฟาร์มออสเตรเลีย ย้ำรัฐบาลออสเตรเลีย ยังไม่มีความร่วมมือกับประเทศไทยด้านการส่งแรงงานและยังไม่มีนโยบายการออกวีซ่าเกษตรให้กับคนไทย
วันนี้ (21 พฤศจิกายน 2567 ) เวลา 08.00 น. นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพใช้สื่อออนไลน์ทั้งเว็บไซต์ และเพจเฟซบุ๊กโฆษณาชักชวนคนไทยไปทำงานฟาร์มในออสเตรเลีย โดยแอบอ้างว่ารัฐบาลออสเตรเลียและกระทรวงแรงงานร่วมมือจัดหาคนไทยไปทำงานในออสเตรเลีย โดยจะได้รับวีซ่าประเภททำงานเป็นระยะเวลา 3-5 ปี ได้รับค่าจ้างเดือนละ 90,000 - 120,000 บาท และนายจ้างจะจ่ายค่าดำเนินการ ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าวีซ่า พร้อมจัดหาที่พักให้ตลอดระยะทำงาน
“เมื่อมีผู้สนใจหลงเชื่อจะให้ส่งข้อมูลส่วนตัว ชื่อ สกุล ที่อยู่ พร้อมเอกสารสำคัญ อาทิ บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือเดินทาง ทะเบียนบ้าน อ้างว่าจะใช้ในการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมและยื่นขอวีซ่าทำงานจากนั้นจะให้โอนเงินเป็นค่ามัดจำหรือเป็นค่าดำเนินการด้านเอกสารเป็นเงินประมาณ 100,000 - 200,000 บาท และเมื่อชำระเงินครบแล้ว จะไม่มีการติดต่อหรือดำเนินการตามที่สัญญาไว้ และผู้เสียหายจะไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้ตามกำหนดเวลา และยังมีกรณีการชักชวนให้คนไทยยื่นขอวีซ่าท่องเที่ยวแทนวีซ่าทำงานโดยมีการสัญญาว่าจะช่วยยื่นขอวีซ่าทำงานภายหลังจากการเดินทางไปถึงออสเตรเลีย และเมื่อเดินทางถึงแล้ว ผู้ที่เสียหายจะไม่สามารถติดต่อกับตัวแทนหรือได้รับการช่วยเหลือตามที่สัญญาไว้” นายคารม ระบุ
นายคารม เน้นย้ำว่า รัฐบาลออสเตรเลียยังไม่มีความร่วมมือกับประเทศไทยด้านการส่งแรงงานและยังไม่มีนโยบายการออกวีซ่าเกษตรให้กับคนไทย เตือนคนไทยที่กำลังหางานในต่างประเทศก่อนตัดสินใจโอนเงินให้สายนายหน้าหรือผู้แทนบริษัทรายใดขอให้ตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตให้จัดส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศจากกรมการจัดหางาน เว็บไซต์ กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน doe.go.th/ipd ปัจจุบันมิจฉาชีพมีกลวิธีสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อหลอกลวงคนหางานหลายวิธี โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีการดำเนินคดีสาย นายหน้าเถื่อนแล้ว 452 ราย หลอกลวงคนหางานทั้งสิ้น 608 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 44,223,300 บาท ซึ่งประเทศที่พบคนหางานถูกหลอกลวงไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี สหรัฐอเมริกา และไอซ์แลนด์ ตามลำดับ