Authority & Harm

เกษตรกระบี่ติดตามการระบาดของศัตรูพืช ยางพาราโรคใบร่วง(ชนิดใหม่)



กระบี่-22 พฤศจิกายน 2567นายประคอง อุสาห์มัน เกษตรจังหวัดกระบี่ มอบหมายให้ นายพันธนู ใจกว้าง หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช นางสาวธนภร ไชยวิเศษ หัวหน้ากลุ่มบริหารทั่วไป เจ้าหน้าที่กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอเหนือคลอง เจ้าหน้าที่จากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเจ้าหน้าที่จากการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดกระบี่ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การระบาดของศัตรูพืชยางพารา โรคใบร่วง (ชนิดใหม่) พร้อมให้คำแนะนำชี้แนะการดูแลรักษาพืชเมื่อเกิดโรค และมอบสารชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาแบบพร้อมใช้ ให้แก่เกษตรกรจำนวน 150 กิโลกรัม เพื่อใช้ในแปลงยางพารา ณ หมู่ 3 ตำบลเกาะศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่

สำหรับโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ เกิดจากเชื้อรา Pestalotiopsis sp. หรือ Colletotrichum sp. ในอาการเริ่มแรก จะเกิดจุดช้ำบริเวณใต้ใบ และด้านบนของใบบริเวณเดียวกันจะเป็นสีเหลืองลักษณะกลม ต่อมาจะขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นสีคล้ำ ขอบแผลดำ และกลายเป็นเนื้อเยื่อแห้งสีน้ำตาลจนถึงขีดขาวซีด รูปร่างจุดแผลค่อนข้างกลม รอบแผลไม่มีสีเหลืองล้อมรอบ จำนวนมากกว่า 1 จุด อาจซ้อนกันเป็นแผลขนาดใหญ่ เมื่ออาการรุนแรงจะเกิดใบเหลืองและร่วง

ในส่วนของการป้องกันกำจัด กรมส่งเสริมการเกษตรขอแนะนำดังนี้ 1) ใส่ปุ๋ยบำรุงสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้กับต้นยางพารา เมื่อเกิดอาการใบเหลืองและร่วง ต้นยางจะสามารถสร้างใบใหม่ออกมาทดแทนใบยางที่ร่วงเนื่องจากโรคได้อย่างรวดเร็ว 2) ใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ ได้แก่ เชื้อราไตรโครเดอร์มา ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคที่ติดมากับใบที่ร่วงลงดิน และจะช่วยส่งเสริมให้ต้นยางแข็งแรง 3) พ่นสารเคมีควบคุมโรค โดยฉีดพ่นบริเวณทรงพุ่มและพื้นดินให้ทั่วแปลงเมื่อพบการระบาดที่รุนแรง โดยฉีดพ่นพุ่มใบอย่างน้อย 2 ครั้ง ทำซ้ำทุก 7-15 วัน และฉีดพ่นพื้นสวนที่มีใบที่เป็นโรคร่วงหล่นด้วย

กระบี่/ณัฏฐพงษ์ ศรีปล้อง รายงาน