In News

ถกบอร์ดประมงเห็นชอบแผนปี2566-70กับ 4ยุทธศาสตร์18กลยุทธ์96 กิจกรรม



กรุงเทพฯ-​คกก. นโยบายประมงแห่งชาติ เห็นชอบแผนบริหารจัดการการประมง พ.ศ. 2566 – 2570 ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ 18 กลยุทธ์ 96 กิจกรรมในการขับเคลื่อน “ทรัพยากรประมงสมดุล การประมงไทยเข้มแข็ง เศรษฐกิจประมงเติบโตอย่างยั่งยืน”

วันนี้  26 พ.ย. 67  เวลา 14.00 น.  ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล  นายพิชัย  ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2567  พร้อมด้วย ดร. ธนสาร ธรรมสอน ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์   นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง  และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1.เห็นชอบนโยบายและแผนบริหารจัดการการประมง ซึ่งประกอบด้วยนโยบาย 5 ด้าน ได้แก่  1) นโยบายการพัฒนาการประมงน้ำจืด 2) นโยบายการพัฒนาประมงในน่านน้ำไทย 3) นโยบายการส่งเสริม พัฒนา และแก้ไขปัญหาการประมงนอกน่านน้ำไทย 4) นโยบายการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และ 5) นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้านการประมง และในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายของนโยบายทั้ง 5 ด้าน ได้กำหนดแผนบริหารจัดการการประมง พ.ศ. 2566 – 2570  ดำเนินการขับเคลื่อนโดย 27 หน่วยงาน  อาทิ ภาครัฐ ภาคเอกชน  สถาบันการศึกษา และองค์กรปกครองท้องถิ่น ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ 18 กลยุทธ์ 96 กิจกรรม ในการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ “ทรัพยากรประมงสมดุล การประมงไทยเข้มแข็ง เศรษฐกิจประมงเติบโตอย่างยั่งยืน” นโยบายและแผนฉบับนี้ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาการประมงในทุกมิติ รวมทั้ง ให้กรมประมง นำเสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

2.เห็นชอบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการนำเรือออกนอกระบบ เพื่อการจัดการทรัพยากรประมงที่ยั่งยืน โดยคณะอนุกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่ในการเสนอแนะนโยบาย มาตรการ หลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีดำเนินโครงการตามมาตรการลดจำนวนเรือประมงต่อคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ 

3. เห็นชอบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิทยาศาสตร์ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเล เพื่อตรวจสอบ และพัฒนาวิธีการรวบรวมและการวิเคราะห์ข้อมูลที่ใช้สำหรับการวิเคราะห์จุดอ้างอิงผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน (Maximum Sustainable Yield : MSY) ให้มีจุดอ้างอิงสภาวะทรัพยากรที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เชื่อถือได้ และเหมาะสมกับสภาวะทรัพยากรและการประมงของประเทศไทยเพื่อนำไปใช้ในการบริหารจัดการการประมงให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบโครงการศึกษาการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล (ปะการังเทียม) เพื่อการประมงจากขาแท่นหลุ่มผลิตปิโตรเลียมนอกชายฝั่งทะเลอ่าวไทย โดยกรมประมงร่วมกับบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) ร่วมมือเพื่อศึกษาวิจัยการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลเพื่อการประมงจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมนอกชายฝั่งทะเลอ่าวไทย   ซึ่งความก้าวหน้าในการดำเนินการอยู่ในระยะการดำเนินการขั้นที่ 1 (Phase 1) ในกิจกรรมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยได้ดำเนินการในระหว่าง เดือนมกราคม -สิงหาคม 2567 เสร็จสิ้นแล้ว รวม  24 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 818 คน ครอบคลุมพื้นพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส