EDU Research & ESG

วว.ร่วมกับพันธมิตรรัฐ-เอกชนสนับสนุน ชุดบ่มเลี้ยงหัวเชื้อจุลินทรีย์สลายซังข้าว



ปทุมธานี-วว. ร่วมกับพันธมิตรรัฐ-เอกชน สนับสนุนโครงการชุดบ่มเลี้ยงหัวเชื้อกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพย่อยสลายตอซังข้าว จังหวัดปทุมธานี

วันนี้(27 พ.ย. 2567) ณ ห้องประชุมสงค์ธนาพิทักษ์ อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานีดร.จิตรา ชัยวิมลรองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดตัวผู้ให้การสนับสนุนโครงการชุดบ่มเลี้ยงหัวเชื้อกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพย่อยสลายตอซังข้าวจัดโดย บริษัท อาปิโก ฟอร์จจิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นพันธมิตรเครือข่ายของ วว. ภายใต้โครงการบริการวิจัยชุดบ่มเลี้ยงหัวเชื้อกลุ่มจุลินทรีย์ฯ ในพื้นที่ 7 อำเภอของจังหวัดปทุมธานี ทดแทนการเผาเพื่อลดฝุ่น PM2.5 โอกาสนี้ ดร.ดวงพร อุนพานิช  ผอ.ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ  วว. ดร.อัญชนา  พัฒนสุพงษ์  ผอ.ห้องปฺฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพ  (BioD) วว.และคณะวิจัย ผู้แทนสำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี  และผู้แทนเกษตรกรต้นแบบในพื้นที่ เข้าร่วมงานด้วย

รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม วว. กล่าวว่า บทบาทภารกิจสำคัญประการหนึ่งของ วว.คือการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม เข้าไปช่วยส่งเสริมแก้ไขปัญหาขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยปัจจุบันปัญหาสำคัญหนึ่งของการทำเกษตรกรรม คือ การกำจัดตอซังและเศษวัสดุทางการเกษตรหลังฤดูเก็บเกี่ยวโดยวิธีการเผาส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกเสื่อมโทรม เนื่องจากเป็นการทําลายอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารในดิน รวมถึงส่งผลกระทบเชิงลบต่อโครงสร้างดิน และยังก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ ส่งผลต่อสุขภาพของเกษตรกรและชุมชนโดยรอบ

“...แนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหานี้  วว.โดย ห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ  ประสบผลสำเร็จในการพัฒนากลุ่มจุลินทรีย์  BioD I (ไบโอดีวัน) วว. ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายทำให้ตอซังข้าวนิ่มภายในระยะเวลา 5-10 วัน ไถกลบได้ง่าย เพิ่มธาตุอาหารในแปลงนา ส่งเสริมเจริญเติบโตของข้าว และที่สำคัญเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งนี้ วว. ได้ยื่นจดสิทธิบัตรการออกแบบชุดบ่มเลี้ยงหัวเชื้อ “BioD I วว.” ที่มีระบบให้อากาศและระบบควบคุมการทำงานแบบอัตโนมัติ สามารถผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ฯ “BioD I วว.” ได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยลดต้นทุนในการจัดการตอซังข้าว และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน...” ดร.จิตรา ชัยวิมล กล่าว

สำหรับการดำเนินงานของ  วว. ภายใต้ความร่วมมือฯรองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี   โดยได้ศึกษาและทดลองนำไปใช้จริงแล้วมากกว่า 10 พื้นที่ในจังหวัดปทุมธานี  จากนั้นจึงได้ต่อยอดความสำเร็จและนำไปสู่การขยายผลเป็นโครงการบริการวิจัยให้แก่บริษัท อาปิโกฯ ในการจัดสร้างชุดบ่มเลี้ยงหัวเชื้อกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพย่อยสลายตอซังข้าวจำนวน 15 ชุดเพื่อติดตั้งในพื้นที่ของวิสาหกิจชุมชนทั้ง 7 อำเภอของจังหวัดปทุมธานี สำหรับผลิตหัวเชื้อแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรนำไปขยายต่อเพื่อใช้จัดการตอซังข้าวหลังการเก็บเกี่ยวทดแทนการเผา ซึ่งคาดว่าเมื่อการดำเนินงานโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับพื้นที่การทำนาได้ไม่ต่ำกว่า 168,000 ไร่ต่อปี รวมถึงมีการจัดอบรมให้ความรู้และฝึกปฏิบัติวิธีการขยายหัวเชื้อ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้งานได้เองในพื้นที่  คาดว่าจะมีเกษตรกรที่ได้รับการอบรมไม่น้อยกว่า 840 คนโดยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชนในครั้งนี้ จะเป็นต้นแบบความสำเร็จในการช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคการเกษตรสามารถจัดการและแก้ไขปัญหาการเผาตอซังข้าวได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน