Biz news

บอร์ดคปภ.เคาะสั่งเคดับบลิวไอประกันภัย เพิ่มทุนชำระแล้ว/ห้ามรับประกันภัยใหม่



กรุงเทพฯ-บอร์ด คปภ. เห็นชอบให้นายทะเบียนสั่ง “เคดับบลิวไอ ประกันชีวิต” แก้ไขฐานะและการดำเนินการ โดยให้เพิ่มทุนจดทะเบียนชำระแล้ว และห้ามรับประกันภัยรายใหม่จนกว่าจะดำรงเงินกองทุนได้ตามที่กฎหมายกำหนด

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้ติดตามสถานะทางการเงินของบริษัท เคดับบลิวไอ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) อย่างใกล้ชิด พบว่า บริษัทมีเงินกองทุนต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งบริษัทได้ยื่นโครงการเพื่อแก้ไขฐานะเงินกองทุน (โครงการฯ) และนายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบโครงการฯ ตามที่บริษัทเสนอ โดยกำหนดเงื่อนไขและเงื่อนเวลาให้บริษัทต้องปฏิบัติ ต่อมาในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดที่บริษัทต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนชำระแล้ว จำนวน 35 ล้านบาท ปรากฏว่า บริษัท ไม่สามารถดำเนินการได้ตามโครงการฯ ประกอบกับปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานะและการดำเนินการของบริษัท ดังนี้

(1) บริษัทได้มีการจ่ายเงินล่วงหน้าให้กับบริษัทที่เกี่ยวข้องกันตามสัญญาค่าบริการ (Shared Services Agreement) ซึ่งมีการระบุเงื่อนไขการจ่ายเงินล่วงหน้าก่อนได้รับบริการ อันอาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 33 (7) แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 ประกอบกับบริษัทไม่สามารถแสดงที่มาของการจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวและหลักฐานการบริการได้

(2) บริษัทมีการลงทุนให้กู้ยืมเงินกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้กู้ยืมมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ นอกจากนี้บริษัทไม่สามารถแสดงหลักฐานการติดตามการใช้เงินตามวัตถุประสงค์การกู้ยืมบางราย รวมถึงไม่มีการรายงานความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมด้านสินเชื่อและผลการตรวจสอบการทำธุรกรรมด้านสินเชื่อต่อคณะกรรมการบริษัท จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามกรอบนโยบายการลงทุนและระเบียบวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการลงทุนของบริษัท ซึ่งกำหนดไว้ในข้อ 12 (3) (ก) ข้อ 12 (3) (ข) และข้อ 24 ของประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง การลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันชีวิต พ.ศ. 2556 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

(3) บริษัทได้มีการนำเงินไปวางมัดจำเพื่อจะซื้ออสังหาริมทรัพย์กับบริษัทที่เกี่ยวโยงกันซึ่งเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรรมการบริษัทตามประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง บุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรรมการของบริษัทประกันชีวิต พ.ศ. 2552 โดยมิได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการบริษัทและมิได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน อันอาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 33 (9) แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 ซึ่งกำหนดว่า บริษัทจะกระทำการซื้อหรือมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้ เว้นแต่เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับประกอบธุรกิจหรือสำหรับใช้เพื่อสวัสดิการของพนักงาน เพื่อใช้สำหรับการลงทุนประกอบธุรกิจอื่น ได้มาจากการชำระหนี้หรือมาจากการบังคับจำนอง โดยได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน และมาตรา 33 (16) 

ซึ่งกำหนดว่าห้ามมิให้บริษัทกระทำการซื้อทรัพย์สินจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรรมการบริษัทตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการบริษัทและได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน

(4) บริษัทมีการเบิกเงินสดล่วงหน้า โดยไม่ปรากฏเอกสารหลักฐานที่สามารถระบุรายละเอียดวันที่ผู้รับเงินได้รับเงิน รวมทั้งชื่อและข้อมูลการแสดงตนของผู้รับเงิน อันอาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนข้อ 14 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการรับเงิน การจ่ายเงิน การตรวจสอบ และการควบคุมภายในของบริษัทประกันชีวิต พ.ศ. 2557 

จากหลักฐานและข้อเท็จจริงที่ปรากฏดังกล่าวข้างต้น นายทะเบียนจึงเห็นว่า บริษัทไม่สามารถดำเนินการตามโครงการเพื่อแก้ไขฐานะเงินกองทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน ตามมาตรา 27/7 (2) และมีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน ดังนั้น เพื่อให้การกำกับดูแลและติดตามการแก้ไขปัญหาฐานะและการดำเนินการของบริษัทเป็นไปอย่างรอบด้าน ครอบคลุมทั้งการติดตามความมั่นคงทางการเงิน รวมถึงป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน ประกอบกับเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไป จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 53 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ประกอบมติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ในการประชุมครั้งที่ 11/2567 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย จึงมีคำสั่งให้บริษัทดำเนินการ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้บริษัทจดทะเบียนเพิ่มทุนชำระแล้ว พร้อมส่งเอกสารหลักฐานที่แสดงว่าบริษัทได้ชำระค่าหุ้นแล้วเสร็จ และหนังสือรับรองของบริษัทที่แสดงทุนชำระแล้ว ต่อนายทะเบียน หรือดำเนินการอื่นใด เพื่อให้บริษัทต้องดำรงไว้ซึ่งเงินกองทุนให้เป็นไปตามโครงการเพื่อแก้ไขฐานะเงินกองทุนของบริษัทที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน ซึ่งระบุไว้ในหนังสือที่ KWILC069/2024 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2567 ดังนี้

(1) เพิ่มทุนจดทะเบียนชำระแล้ว และดำเนินการอื่นใดเพื่อให้บริษัทได้รับเงิน ไม่น้อยกว่า จำนวน 95 ล้านบาท โดยให้บริษัทดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 20 ธันวาคม 2567

(2) เพิ่มทุนจดทะเบียนชำระแล้ว หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อให้บริษัทได้รับเงิน ไม่น้อยกว่า จำนวน 20 ล้านบาท โดยให้บริษัทดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568

(3) เพิ่มทุนจดทะเบียนชำระแล้ว หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อให้บริษัทได้รับเงิน ไม่น้อยกว่า จำนวน 10 ล้านบาท โดยให้บริษัทดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2568

(4) เพิ่มทุนจดทะเบียนชำระแล้ว หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อให้บริษัทได้รับเงิน ไม่น้อยกว่า จำนวน 15 ล้านบาท โดยให้บริษัทดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2568

(5) เพิ่มทุนจดทะเบียนชำระแล้ว หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อให้บริษัทได้รับเงิน ไม่น้อยกว่า จำนวน 15 ล้านบาท โดยให้บริษัทดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2568

ข้อ 2 ห้ามบริษัทดำเนินการ ดังต่อไปนี้ จนกว่าจะดำรงเงินกองทุนได้ตามที่กฎหมายกำหนด

(1) การรับประกันภัยรายใหม่ หรือการขยายวงเงินการรับประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยที่มีอยู่

(2) การเพิ่มความเสี่ยงในการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัท

(3) การก่อภาระผูกพันเพิ่มเติม เว้นแต่เป็นการดำเนินการตามภาระผูกพันที่มีอยู่ 

   การทำสัญญากับบุคคลใด อันส่งผลให้บริษัทมีภาระผูกพันต้องจ่ายเงิน หรือทรัพย์สินอื่นใดให้แก่บุคคลใด เป็นการก่อภาระผูกพันเพิ่มเติมของบริษัทประกันชีวิต เว้นแต่เป็นสัญญาที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายประจำเพื่อดำเนินธุรกิจตามปกติ โดยมีค่าจ้าง ค่าตอบแทน และผลประโยชน์ที่เหมาะสมตามสภาวะตลาดและเป็นปกติทางการค้า หรือสัญญาอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน ทั้งนี้ หากสัญญาเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายประจำเพื่อดำเนินธุรกิจตามปกติซึ่งได้ทำกับกรรมการของบริษัทหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรรมการของบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต ให้บริษัทขอรับความเห็นชอบจากนายทะเบียนก่อนทำสัญญากับบุคคลดังกล่าว โดยต้องแสดงรายละเอียดอย่างน้อยเกี่ยวกับขอบเขตงานจ้างและค่าจ้างเพื่อประกอบการพิจารณา

(4) การทำสัญญาแต่งตั้งตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิตเพิ่มเติม

(5) การรับโอนกิจการของบริษัท

ข้อ 3 ห้ามบริษัทซื้อหรือมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เว้นแต่เพื่อให้เป็นสถานที่สำหรับประกอบธุรกิจหรือสำหรับใช้เพื่อสวัสดิการของพนักงาน เพื่อใช้สำหรับการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นได้มาเพื่อการชำระหนี้หรือมาจากการบังคับจำนอง โดยได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน และห้ามบริษัทขายหรือให้อสังหาริมทรัพย์กับบุคคลใด โดยไม่ได้แจ้งต่อนายทะเบียนล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบวันก่อนวันที่บริษัทขายหรือให้อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นการขายหรือให้อสังหาริมทรัพย์หรือซื้อทรัพย์สินจากกรรมการหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรรมการบริษัท ต้องได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการบริษัท และได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต

ข้อ 4 ในกรณีที่บริษัทประสงค์จะจำหน่าย จ่าย หรือโอนสินทรัพย์ลงทุน ให้บริษัทแจ้งต่อนายทะเบียนล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบวัน ก่อนวันที่บริษัทจะมีการจำหน่ายจ่ายโอน

ข้อ 5 ให้บริษัทจัดให้มีหน่วยงานดูแลการปฏิบัติตามกฎหมายเข้าร่วมและแสดงความเห็นต่อที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัท และจัดทำบันทึกการประชุมคณะกรรมการของบริษัทซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า หน่วยงานดูแลการปฏิบัติตามกฎหมายพิจารณาแล้วเห็นว่าการดำเนินการของบริษัทเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต ข้อกำหนดของสำนักงานและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท 

ข้อ 6 ให้บริษัทจัดทำรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามคำสั่งนี้ และนำส่งต่อนายทะเบียน ทุกเจ็ดวัน จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

สำนักงาน คปภ. จะติดตามสถานะทางการเงินและการดำเนินการของบริษัทอย่างใกล้ชิด เพื่อให้บริษัทสามารถแก้ไขปัญหาฐานะและการดำเนินการได้ โดยยังคงควบคุมให้บริษัทดำเนินการเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน หากพบว่า บริษัทไม่ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน จะดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายในระดับที่เข้มข้นยิ่งขึ้นต่อไป สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท สำนักงาน คปภ. จะตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ หากพบว่ามีการกระทำความผิดจะดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ การออกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวจะไม่กระทบในส่วนของความคุ้มครองและการได้รับชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนของผู้เอาประกันภัย ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่มีต่อบริษัท โดยบริษัทยังมีหน้าที่ดูแลผู้เอาประกันภัย/ประชาชนให้เป็นไปตามข้อกำหนดแห่งสัญญาประกันภัยทุกประการ หากผู้เอาประกันภัย/ประชาชนมีข้อสงสัยหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ติดต่อได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ www.oic.or.th