Health & Beauty
'โรคพาร์กินสัน'เรียนรู้-เข้าใจอาการเตือน ที่ถูกมองข้ามเพียงภัยเงียบการเกิดโรค
กรุงเทพฯ-พาร์กินสัน หนึ่งในโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาท แม้ว่าจะยังไม่มีการศึกษาได้อย่างชัดเจนถึงสาเหตุของการเกิดโรคนี้ แต่ก็มีหลายปัจจัยเสี่ยงที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุของการเป็นโรคนี้ นอกจากกรรมพันธุ์และอาการเสื่อมของระบบประสาทที่เป็นไปตามอายุที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อีก อาทิ การมีประวัติการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นเวลานาน หรือมีประวัติการได้รับการบาดเจ็บของสมองซ้ำๆ รวมถึงการเป็นโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดสมองและหัวใจ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ความผิดปกติของน้ำหนัก ฯลฯ
แต่ไม่ว่าสาเหตุของการเป็นโรคพาร์กินสันจะเกิดจากอะไรก็ตาม การรับรู้และภาพจำเกี่ยวกับโรคพาร์กินสันของคนทั่วไปคือ พาร์กินสันเป็นโรคที่เกิดในคนอายุมากกว่า 60 ปี และมีอาการสั่น
แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาการของโรคพาร์กินสัน ยังมีอาการเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกายและอาการเกี่ยวกับทางระบบประสาทด้วย แต่การที่ความเข้าใจของคนส่วนใหญ่รู้จัก “อาการสั่น” ก็เพราะอาการสั่นจะเป็นอาการที่มองเห็นได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า และมักเป็นอาการที่ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยตัดสินใจพาผู้ป่วยเข้ามาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษา
โรคพาร์กินสันมีระยะการดำเนินโรค รวมระยะที่มีอาการเตือนก่อนการดำเนินโรคเฉลี่ยนานมากกว่า 10-20 ปี ในผู้ป่วยพาร์กินสันจะมีอาการผิดปกติหลายระบบในร่างกายไม่แต่เฉพาะการเคลื่อนไหวผิดปกติ แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มอาการที่นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวผิดปกติอีกหลายอาการ เช่น อาการเดินเกร็ง แขนขาเกร็ง เคลื่อนไหวผิดปกติ ทรงตัวผิดปกติ ปัญหาการนอนละเมอ ออกท่าทาง หรือออกเสียง ที่มักสัมพันธ์กับเนื้อหาความฝัน ปัญหาระบบประสาทอัตโนมัติ ปัญหาทางพุทธิปัญญา อาการท้องผูกเรื้อรัง รับกลิ่นได้ลดลง อาการซึมเศร้า รวมถึงอาการง่วงนอนผิดปกติในช่วงเวลากลางวัน ฯลฯ โดยมีลักษณะการดำเนินโรคในลักษณะเรื้อรัง และอาการจะรุนแรงมากขึ้นเมื่อมีการดำเนินโรคมากขึ้น
การรักษาโรคพาร์กินสันในอดีต จะเป็นในลักษณะของการตั้งรับ คือรอให้ผู้ป่วยมีอาการที่ชัดเจนก่อนจึงมาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยว่าเป็นพาร์กินสัน ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการรักษา ที่มีทั้งการใช้ยารูปแบบต่างๆ ไปจนถึงการผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยที่มาพบแพทย์นั้นส่วนใหญ่จะมีอาการที่ค่อนข้างรุนแรงแล้ว ทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างสูง แต่ปัจจุบัน มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถวินิจฉัยโรคได้ละเอียด แม่นยำ และรวดเร็วมากขึ้น แต่กว่าที่ผู้ป่วยจะตัดสินใจมาพบแพทย์ ก็มักจะมีอาการไปแล้วระดับหนึ่ง ทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษายังคงสูงอยู่
แม้ว่าโรคพาร์กินสันจะยังไม่มีวิธีป้องกัน รักษา หรือวัคซีนที่จะช่วยป้องกันได้ อีกทั้งการรักษาก็ยังไม่สามารถทำให้หายขาดจากโรคได้ เป็นได้แต่เพียงชะลอการดำเนินของโรคหรือลดอาการไม่ให้รุนแรงมากขึ้นจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ วงการแพทย์ยังพบว่า การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การบริโภคอาหารที่ดี และการนอนที่มีคุณภาพจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคพาร์กินสันได้ในคนที่ยังไม่ได้เป็นโรคนี้ ส่วนคนที่เป็นโรคนี้ การปรับพฤติกรรมในเรื่องดังกล่าวจะช่วยชะลอระยะเวลาการดำเนินของโรคให้ยาวขึ้นได้
ปัจจุบันพบว่า ผู้ป่วยพาร์กินสันไม่ได้มีแต่เพียงกลุ่มคนที่อายุมากกว่า 60 ปีเท่านั้น แต่พบผู้ป่วยพาร์กินสันที่อายุน้อยกว่า 40 ปีแล้ว ทำให้วงการแพทย์ได้ศึกษาเกี่ยวกับโรคพาร์กินสันมากขึ้น และพบว่า โรคพาร์กินสัน จะมีสัญญาณเตือนก่อนการดำเนินโรคที่ค่อนข้างใช้เวลานานเป็นสิบปี ดังนั้น ผู้ที่มีอาการผิดปกติเรื้อรัง เช่น อาการท้องผูกเรื้อรัง การรับกลิ่นลดลง การนอนละเมอ รวมถึงอาการง่วงนอนผิดปกติในช่วงเวลากลางวันโดยที่ไม่ได้มีการอดนอนหรือพักผ่อนไม่เพียงพอแต่อย่างใด ถือเป็นสัญญาณเตือนภัยของความเสี่ยงที่จะเป็นโรคพาร์กินสันได้
คนวัยหนุ่มสาวจึงไม่ควรชะล่าใจ และมองว่าอาการผิดปกติเรื้อรังดังที่กล่าวมาเป็นเรื่องปกติ แต่ควรเข้าพบแพทย์เพื่อขอรับคำปรึกษา และตรวจวินิจฉัย ว่าอาการดังกล่าว จะใช่สัญญาณเตือนของการเป็นโรคพาร์กินสันหรือไม่
เพราะพาร์กินสัน ไม่ได้เป็นโรคที่เกิดแต่กับผู้สูงวัยเท่านั้น และยังเป็นโรคที่ส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้าเป็นสิบปี ดังนั้น จึงเป็นการดีที่หากพบสัญญาณเหล่านี้ล่วงหน้า แล้วรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไปในขณะที่อาการยังไม่รุนแรงมากนัก
พาร์กินสัน แม้จะเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่เป็นโรคที่ป้องกัน และรักษาเพื่อชะลออาการรุนแรงของโรคได้ หากตรวจพบได้เร็ว