EDU Research & ESG
วว.ร่วมเผยความสำเร็จผลงานรมว.อว. เสนอ3ผลงานเด่นเชื่อมต่ออนาคตไทย
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงผลงานที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ในวันที่ 2 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค โดยนำเสนอผลงานในรูปแบบ "นวัตกรรมแห่งการนำเสนอ" ถ่ายทอดความสำเร็จผ่านละครเวทีสร้างสรรค์ ภายใต้ธีม "เชื่อมต่ออนาคตไทย สู่ปีแห่งความสำเร็จกับกระทรวง อว." ในการนำผลงานของกระทรวง อว. ไปใช้ประโยชน์ที่สามารถเข้าถึงประชาชน สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอกย้ำวิสัยทัศน์ “เรียนดี มีความสุข มีรายได้” พร้อมชูนโยบาย “วิจัย นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” พร้อมริเริ่ม 12 แนวทาง ขับเคลื่อน อว. สู่กระทรวงเศรษฐกิจ ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี โอกาสนี้ รมว.อว. ได้สรุปส่งท้ายการแถลงข่าวว่า “ความโปร่งใสในการทำงาน และการให้ข้อมูลที่ครบถ้วน จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และสร้างพลังในการพัฒนาประเทศร่วมกัน"
ในการนี้ ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และคณะ ได้ร่วมนำเสนอการดำเนินงานสนองนโยบายกระทรวง อว. ผ่าน 3 ผลงานเด่นเป็นรูปธรรม ได้แก่
1) การผลักดันให้ พ.ร.บ. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ผ่านที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรฯและวุฒิสภา โดยการปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.วว. ถือเป็นอีกหนึ่งการพลิกโฉมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านการพัฒนางานวิจัยของประเทศ เป็นการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย หน่วยงานสามารถนำทรัพย์สิน เครื่องมือ เครื่องจักร ที่ใช้กับกลุ่มชุมชน ไปจนถึงเทคโนโลยีขั้นสูงของประเทศที่รัฐได้ลงทุนจากงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างต่อเนื่องหลังจากโครงการวิจัยแล้วเสร็จ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกกลุ่มที่รับเทคโนโลยีจาก วว. อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดการพึ่งพางบประมาณภาครัฐ ตลอดจนนำรายได้ที่ได้จากการร่วมทุนไปลงทุนทำงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและชุมชนได้อย่างทันการรณ์ ตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและบริบททางสังคมในขณะนั้น โดยไม่ต้องรองบประมาณแผ่นดิน รวมถึงประชาชนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงได้มากขึ้น โดยมีหน่วยงานของรัฐเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดทิศทางของราคาที่เหมาะสม นับเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน
2) การสนับสนุนให้ วว. เป็นหน่วยงานวิจัยชั้นแนวหน้า ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพรองรับสังคมผู้สูงอายุและทางการแพทย์ โดยโครงการเริ่มต้น คือ การพัฒนาสถานที่และกระบวนการผลิต Allogeneic umbilical cord-derived mesenchymal stem cell ตามมาตรฐาน GMP สำหรับการรักษาด้วยเซลล์บำบัด โดยความร่วมมือของ Department of Biochemistry National University of Singapore (NUS) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และบริษัทวีก้า เวลเนส จำกัด ร่วมกับหน่วยสนับสนุนอื่นๆ ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยมีเป้าหมาย คือ การพัฒนาสถานที่ผลิต ระบบการผลิตสเต็มเซลล์ ระบบควบคุมคุณภาพ ระบบควบคุมความเสี่ยง ให้เป็นไปตามมาตรฐาน PIC/S GMP ทดสอบฤทธิ์ของผลิตภัณฑ์ต้นแบบในระดับสัตว์ทดลอง ตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ต้นแบบในระดับหลอดทดลองที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเพื่อให้ได้มาซึ่ง allogeneic stem cells สำหรับใช้ในการบำบัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม ที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุด เพื่อเตรียมพร้อมสู่การนำไปใช้ยืนยันความปลอดภัยในเชิงคลินิกในอาสาสมัคร (phase I/II clinical trials) ในโครงการระยะถัดไป ตามแผนการดำเนินงานคาดว่าจะสามารถขึ้นทะเบียนสถานที่ผลิต Allogeneic stem cell ซึ่งจัดเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เสริมความพร้อมในการขยายผลทางคลินิกสู่การแพทย์ในเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2568
3) โครงการการประเมินและพัฒนาศักยภาพผลผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมในพื้นที่นำร่องจังหวัดยากจน โดย วว. ร่วมกับมหาวิทยาลัย หน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่ ขับเคลื่อนการพัฒนาและออกแบบโมเดลโครงการแก้จน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส” ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ทั้งนี้ วว. ดำเนินงานดังกล่าว เพื่อต่อยอดการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมกับมหาวิทยาลัย เครือข่ายในพื้นที่ ด้านการถ่ายทอดความรู้สู่ trainer นักวิจัยของมหาวิทยาลัยในพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย พัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate technology) กับบริบทในพื้นที่ รวมทั้งยกระดับมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์ สถานที่ผลิต เพื่อให้เข้าสู่มาตรฐานระดับสากล พร้อมเข้าสู่ตลาดอย่างยั่งยืน ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ผลการดำเนินงาน ประกอบด้วย 1) จังหวัดปัตตานี ได้แก่ การเลี้ยงแพะแบบครบวงจร การพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องแกงสมุนไพรแกงกูตุ๊ 2) จังหวัดยะลา ได้แก่ การพัฒนาปัจจัยการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีเพื่อการปลูกข้าวโพดหวาน การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าวโพดเสริมคุณค่าทางโภชนาการสำหรับนักเรียน และการปรับปรุงโรงเรือนการผลิตน้ำนมข้าวโพดพาสเจอไรซ์ ส่งเสริมการปลูกผักน้ำเบตง และการพัฒนาสายพันธุ์เบญจมาศ 3) จังหวัดนราธิวาส ได้แก่ การปรับปรุงกระบวนการผลิตปลาส้มอย่างมีมาตรฐาน การพัฒนาโรงเรือนเพื่อให้ได้มาตรฐานการผลิตอาหาร และการพัฒนากระบวนการทดสอบฤทธิ์ที่ดีต่อสุขภาพของน้ำผึ้งชันโรง